บ่นเพ้อธรรมะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. บ่นเพ้อ คืออะไร โดยบัญญัติ และ โดยสภาพธรรม
๒. ยกหลายๆ ตัวอย่าง ของ ลักษณะอาการ บ่นเพ้อ ให้ด้วยค่ะ
๓. การบ่นเพ้อธรรมะ มีโทษอย่างไรบ้าง
๔. หากมีข้อความในพระไตรปิฎกอย่างไร ช่วยแสดงให้ด้วยค่ะ
ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การพูดในเรื่องราวของธรรม แต่ไม่เข้าใจพระธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ หรือ เข้าใจธรรมที่ไม่ถูกต้อง ก็เรียกว่าเป็นผู้บ่นเพ้อในธรรม เพราะ บ่นเพ้อในสิ่งที่ไม่รู้จริง เพราะ ความจริงคือ สภาพธรรมในขณะนี้ หากไม่มีสภาพธรรมในขณะนี้ ที่เป็น จิต เจตสิกและรูป ก็จะไม่มีเรื่องราวไม่มีสัตว์ บุคคล สิ่งต่างๆ เลย ดังนั้น อาศัย ชื่อ เพื่อเข้าใจตัวจริง คือ ศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้าที่เป็นชื่อเรื่องราวที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ ด้วยจุดประสงค์เพื่อเข้าใจตัวจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้เป็นสำคัญครับ เมื่อพูดธรรม ไม่ว่าเรื่องใด ก็ไม่พ้นจากความจริงที่ปรากฏในขณะนี้นั่นเองครับ ศึกษาเพื่อเข้าใจตัวจริงขณะนี้ สำคัญที่สุดซึ่งการกล่าวธรรมที่ถูกต้องและตรงตามสภาพธรรมที่มีจริง หรือ ขณะที่สติเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ชื่อว่า เป็นผู้ไม่บ่นเพ้อธรรม
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่มที่ ๔๗ - หน้าที่ ๒๗๐
บุคคล ไม่ทำให้แจ้งซึ่งธรรมแม้ ๒ อย่าง ด้วยปัญญาของตนแล้วและไม่ใคร่ครวญเนื้อความแม้สักว่า คำว่า อนิจจัง คำว่า ทุกขัง และคำว่า อนัตตา ในสำนักของบุคคลผู้เป็นพหูสูตทั้งหลาย ไม่รู้อยู่เพราะความที่ตนไม่รู้ได้ด้วยตนเอง และชื่อว่ายังข้ามความสงสัยไม่ได้ เพราะตนยังไม่ได้พิจารณาใคร่ครวญ แล้วอาจเพื่อจะทำบุคคลอื่นให้เพ่งเล็ง คือ ให้เพ่งพินิจได้อย่างไรดังนี้ ในข้อนี้ผู้ศึกษาพึงระลึกถึงสุตตบท มีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนจุนทะผู้นั้นแล ชื่อว่า บ่นเพ้ออยู่ด้วยตนเอง ดังนี้.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในประเด็นบ่นเพ้อธรรม เป็นประโยชน์มาก ดังนี้
"ขอกล่าวถึงคำว่า บ่นเพ้อ ก่อน ก่อนที่จะถึงธรรม เพราะเราก็ทราบอยู่แล้วว่าธรรมก็คือสิ่งที่มีจริงๆ ธรรมดาบ่นกันบ้างหรือเปล่า เรื่องนิดเดียว บ่นยาว บางคนครึ่งวันยังไม่จบ บางคนต่ออีกวันรุ่งขึ้น ซ้ำซากคนฟังเรื่องเดียวกันนั่นแหละ พูดทำไม บ่นทำไม มีประโยชน์หรือเปล่า นี้คือ บ่น แล้วก็เพ้อ อย่างคนที่ไม่รู้สึกตัว ป่วยหนัก เราเข้าใจคำนี้เลย เพ้อแล้วพูดอะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น แต่ละคนพูด รู้ตัวหรือเปล่า ว่ากำลังพูดอะไร
จิต ละเอียดมาก มีทั้งกุศลจิต และ อกุศลจิต วาจาเกิดจากจิต ถ้าไม่มีจิต พูดไม่ได้ และขณะนี้เหมือนกับว่าไม่ได้มีความคิดใดๆ เลย แต่สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เสียงที่ได้ยินต้องมาจากจิตที่คิด แล้วแต่ว่าจิตนั้นคิดอะไรก็พูดเนื้อความของเสียงตรงกับความคิด เพราะฉะนั้นขณะนี้มีรูปที่ทำให้เกิดเสียง เพราะจิตเกิดขึ้นก็ไม่รู้ และเสียงขณะนี้บางเสียงเกิดขึ้นเพราะจิต บางเสียงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะจิต อย่างเสียงภายนอกไม่ได้เกิดขึ้นเพราะจิต ถึงแม้ในร่างกาย เสียงที่เกิดเพราะจิต คือขณะที่กำลังพูดก็มี เสียงที่ไม่ได้เกิดจากจิตก็มี เพราะฉะนั้น แม้แต่แต่ละคำพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงความจริงไว้ ละเอียดยิ่งเพื่อให้เห็นว่าเป็นธรรมจริงๆ แต่ละหนึ่ง
ก่อนฟังธรรมก็เพ้อกันไปด้วยการไม่รู้สึกตัวเลย เรื่องที่พูด ควรพูดไหม พูดแล้วมีประโยชน์ไหม แล้วพูดทำไม ขณะที่เป็นอกุศลจิตแล้วก็ไม่รู้สึกตัวแล้วแต่ว่าพูดเรื่องอะไร ถ้าพูดอย่างขาดสติกำลังป่วยหนัก นั่น เพ้อแน่ ทุกคนรู้ แต่ถึงไม่ป่วยหนักทางกาย ใจป่วยไหม เพราะว่ามีสองอย่าง กายป่วยกับใจป่วย กายป่วยรู้จักกันล่ะ เช่น ปวดหัวตัวร้อนเป็นไข้ต่างๆ นานา แต่ใจป่วยรู้หรือเปล่า เมื่อไหร่ กำลังป่วยก็ไม่รู้ ขณะใดก็ตามที่มีอกุศล ใจป่วยแล้ว บางคนเจ็บหนัก ใจหนักมาก เจ็บมาก เดือดร้อนมาก ป่วยก็ไม่รู้ ว่า ขณะนั้นโรคโทสะ หรือว่าโรคโลภะ และโรคโมหะนี้แน่ๆ อยู่แล้ว มีกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นชีวิตวันหนึ่งๆ ไม่รู้สึกตัวเลย ถ้าไม่ได้ฟังคำสอน ไม่รู้สภาพของจิตแต่ละขณะ แม้แต่แต่ละคำที่พูดก็ไม่รู้ว่าขณะนั้น อะไรเป็นปัจจัยให้พูดคำนั้นออกไป
ด้วยเหตุนี้ ถ้าคำนั้นเป็นคำที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลยทั้งสิ้น แล้วก็พูดมากๆ พร่ำเพ้อ เราก็บอกว่าคนนั้นเพ้อ พร่ำเพ้ออยู่ได้ ไม่ว่าจะด้วยโลภะ เพ้อได้ไหม พร่ำเพ้อออกมาอาจจะเป็นบทกลอน เป็นเพลง เป็นอะไรสารพัดที่จะเพ้อไป ก็ได้ ถ้าเป็นโทสะก็เพ้ออีกเหมือนกัน แรงด้วย มีแต่คำที่ไม่น่าฟัง ทั้งหมดก็มาจากอกุศลจิตซึ่งมีโมหเจตสิก สภาพที่ไม่สามารถเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ได้เลย ตรงกันข้ามกับปัญญาหรือวิชชา เพราะฉะนั้นสำหรับโมหะ ความไม่รู้ มีอีกคำหนึ่งคือ อวิชชา และสำหรับธรรมที่ตรงกันข้ามที่สามารถรู้และเข้าใจความจริงได้คือ วิชชา เพราะฉะนั้นเพียงเท่านี้ พอจะเห็นได้ไหมว่า คนพูดมาก พูดอะไร เพ้อหรือเปล่า? แต่ถ้ากล่าวธรรมมาก แล้วมีประโยชน์ เพ้อหรือเปล่า (ไม่เพ้อ) ตรงกันข้ามแล้ว แม้แต่คำว่าเพ้อ ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง สิ่งที่ไร้สาระไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะฉะนั้นเวลาเพ้อเรื่องอื่นมาหมดแล้ว
ตอนนี้ มาศึกษาธรรม เปลี่ยนเรื่องเพ้อแล้ว แต่ยังเพ้อได้เมื่อไม่ได้เข้าใจสิ่งที่พูด แต่ว่าก็พูดได้หมด มีผู้ศึกษาธรรมอย่างเป็นตำราเช่น พระอภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท หรือที่พม่าเองทราบว่า ท่องพระไตรปิฎกได้ น่าแปลกไหม ท่องได้ เราท่องได้ไหม (ไม่ได้) ไม่ได้ก็ไม่ต้องท่อง เข้าใจดีกว่า ท่องทำไมถ้าไม่เข้าใจ ใครก็ตามที่ไม่ได้เข้าใจ พูดไป เพ้อหรือเปล่า? เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจแล้ว ก็คงรู้ว่า วันหนึ่งๆ เพ้อธรรมหรือเข้าใจคำที่พูด?"
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
การศึกษาพระไตรปิฎกเป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ ว่า ศึกษาคืออย่างไร ศึกษาคือ เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงธรรมให้พุทธบริษัทเข้าใจถึงตัวธรรมจริงๆ ไม่ใช่ศึกษาแบบจำได้ ท่องได้ พูดธรรมได้ แต่ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเมื่อไม่เข้าใจธรรม ไม่เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ก็ได้แต่บ่นเพ้อธรรม ไม่สามารถจะขัดเกลากิเลสใดๆ ได้เลย เพราะยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อไม่มีความรู้ความเข้าใจว่าทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปแต่ละขณะเป็นแต่เพียงธรรม ก็ยังเป็นเราที่หาหนทางขัดเกลากิเลส เป็นเราที่จะมีสติระลึกรู้สภาพธรรม เป็นเราที่จะให้ทาน เป็นเราที่จะรักษาศีล ความเป็นเราไม่สามารถขัดเกลากิเลสได้ ความเป็นเราไม่สามารถมีสติระลึกรู้สภาพธรรมได้ แต่ต้องเป็นปัญญาความเห็นถูกเข้าใจถูกจึงจะค่อยๆ ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราก่อนที่กิเลสอื่นๆ จะค่อยๆ ละได้...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ...