ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๐๕
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๐๕
≠ การที่จะฟังพระธรรมก็ต้องเป็นคนขยัน ถ้าเป็นคนที่เกียจคร้าน ก็จะมีข้ออ้างหลายอย่างทีเดียว ที่จะทำให้ไม่ฟังพระธรรม
≠ อาศัยการฟังพระธรรมมากๆ เป็นพหูสูต ก็จะทำให้ปัญญาที่เข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้นนั้นน้อมไปสู่การที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะขณะที่กำลังฟังหรือว่าในขณะอื่น จนกว่าจะถึงกาลที่ปัญญาที่ได้ฟังมามากนั้นจะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ซึ่งถ้าไม่ฟังพระธรรมเลยก็ไม่สามารถจะมีเครื่องลับปัญญาให้คมกล้า เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังที่ให้พิจารณาอย่างละเอียดนั้น เปรียบเสมือนเครื่องลับปัญญาให้คมกล้า ซึ่งถ้าไม่มีเครื่องลับปัญญาก็จะคมไม่ได้เลย ไม่สามารถจะเข้าใจความละเอียดของลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตั้งแต่เกิดจนตาย
≠ พูดถึงเรื่องการปฏิบัติธรรม ก็ไม่ทราบว่ามีความเข้าใจธรรมขั้นไหนหรือแค่ไหนแล้วหรือยังที่จะปฏิบัติ เพราะเหตุว่าส่วนมากพอพูดถึงพระพุทธศาสนาหรือพระธรรม ก็ดูเสมือนว่าเข้าใจแล้ว แต่ถ้าถามจริงๆ แม้แต่ละคำว่า เข้าใจคำนั้นว่าอย่างไร ก็จะเป็นความคิดความเข้าใจเองซึ่งอาจจะไม่ตรงกับพระไตรปิฎกหรือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว
≠ ทุกวันๆ ก็คือธรรม เพราะฉะนั้นธรรมที่จะปฏิบัติก็มีหลายขั้น ตั้งแต่ผู้ที่เป็นบุตรธิดาก็มีธรรมที่จะต้องประพฤติต่อมารดาบิดา ไม่ใช่ว่าข้ามการที่จะประพฤติต่อมารดาบิดา แล้วก็จะไปประพฤติต่อส่วนรวม สังคม ประเทศชาติ โดยที่ละเลยการประพฤติปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ในฐานะของบุตรธิดาก็มีหน้าที่ที่จะปฏิบัติธรรมต่อมารดาบิดา ผู้ที่เป็นมารดาบิดาก็มีหน้าที่ คือ การที่จะปฏิบัติธรรมต่อบุตร เพราะฉะนั้นทุกคนไม่ว่าจะเป็นมิตรสหาย ไม่ว่าจะเป็นครูอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมประเทศ ก็ต้องมีธรรมที่จะพึงปฏิบัติต่อกัน
≠ ให้ทราบว่า สิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้สามารถจะแบ่งออกได้เป็นลักษณะที่ต่างกัน ๒ อย่าง ประเภทใหญ่ๆ คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร และไม่ใช่สภาพรู้อะไรเลย อย่างหนึ่ง เรียกว่า “รูปธรรม” และสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพรู้ เป็น “นามธรรม”
≠ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือไม่ใช่เป็นเพียงพระอรหันตสาวก แต่ว่าเป็นพระบรมศาสดา เป็นสัมมาสัมพุทโธ เป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญพระบารมีที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมพร้อมด้วยทศพลญาณที่สามารถที่จะแสดงธรรมอนุเคราะห์โปรดสัตว์โลกให้สามารถอบรมเจริญปัญญา ดับกิเลสได้ด้วย เพราะฉะนั้นก็ไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากหนทางของพระองค์
≠ เรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มีข้อที่น่าคิดอย่างหนึ่งว่า ท่านที่ทำความดี ท่านทำเพราะอยากจะได้ผลดี หรือว่าท่านทำดีเพื่ออะไร หรือเพราะอะไร นี่เป็นสิ่งที่น่าคิด ถ้าทุกคนในโลกนี้จะทำดีเพื่อหวังผล คือหวังที่จะได้สิ่งตอบแทนที่ดี ในขณะที่หวังจะได้สิ่งตอบแทนที่ดี ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิตแน่ เพราะเหตุว่ายังเต็มไปด้วยความหวัง ความติด ความต้องการ
≠ เรื่องของการคบหาสมาคมเป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นเรื่องที่ต้องระวัง โดยเฉพาะในเรื่องของความเห็น เพราะเหตุว่าบางท่านยังไม่ได้ศึกษาพระธรรม แต่ก็ถูกชักชวนให้ไปปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่เข้าใจเรื่องของสติปัฏฐาน ไม่เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่เข้าใจว่าปัญญาจะต้องเจริญขึ้น เพราะเหตุว่าภาวนาคือการอบรมเจริญความเข้าใจขึ้น ความที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น พิจารณาถูกต้องขึ้นเพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความเข้าใจในพระธรรม และคบหาสมาคมกับความเห็นผิด ก็ย่อมจะต้องเห็นผิดตามไปด้วย
≠ เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ยังมีอกุศลอยู่ ก็เป็นของธรรมดาที่ชีวิตแต่ละชีวิตก็ยังมีอกุศลเจตสิกซึ่งจะดับได้ด้วยโลกุตตรมรรคเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใดก็ตามที่ไม่ใช่โลกุตตรมรรคแล้ว ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้
≠ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้เจริญกุศลทุกประการ จนกว่าจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
≠ การที่จะเป็นคนดีได้จริงๆ ก็คือต้องดีถึงกับหมดกิเลส แต่ว่าเมื่อไม่สามารถจะดับกิเลสหรือหมดกิเลสได้ ก็จะต้องอบรมเจริญเหตุ คือ ความดีที่จะให้หมดกิเลสไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะดับกิเลสได้ เพราะเหตุว่าการจะเป็นคนดีจริงๆ ก็คือต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาและก็ดับกิเลส มิฉะนั้นก็จะชื่อว่า ดีจริงๆ ไม่ได้
≠ วันหนึ่งๆ อยู่ไปอย่างไรก่อนที่จะตายจากโลกนี้ คือ ทุกคนเกิดมาแล้วตายไม่ได้ ถ้ายังไม่ถึงเวลาที่จะตาย ใครจะทำให้ตายก็ตายไม่ได้ เพราะเหตุว่าจุติจิตเป็นผลของกรรม จุติจิตเป็นวิบากจิต เพราะฉะนั้นคนที่เกิดมาแล้วก็ต้องอยู่ไป แต่ว่าการอยู่ไปแต่ละวันๆ จะอยู่ไปอย่างไรก่อนที่จะตายจากโลกนี้
≠ เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมในชีวิตประจำวันทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าขณะไหน ขณะที่เห็นผิดก็เป็นอกุศลธรรม ขณะที่เห็นถูก ก็เป็นกุศลธรรม ขณะที่ปฏิบัติผิดก็เป็นอกุศล ขณะที่ปฏิบัติถูกก็เป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นขณะไหนทั้งหมด ก็คือนามธรรมและรูปธรรมซึ่งไม่มีตัวเราเลย
≠ โลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง แล้วฉันทะเป็นสภาพที่พอใจที่จะกระทำ เพราะฉะนั้นฉันทเจตสิกเกิดกับโลภเจตสิกได้ ฉันทเจตสิกเป็นปกิณณกเจตสิก เกิดกับกุศลก็ได้ เกิดกับอกุศลก็ได้ แต่ว่าโลภเจตสิกเป็นอกุศล เกิดกับกุศลไม่ได้เลย
≠ การปฏิบัติธรรมก็คือ การอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะให้เข้าใจซึมซาบลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่เพียงขั้นเข้าใจ แต่ให้คิดถึงว่าต้องซึมซาบในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งหมด แล้วนอกจากนั้นยังต้องให้เข้าใจซึมซาบในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมนั้นที่เกิดเพราะปัจจัย
≠ ชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกคนไม่พ้นจากโลภะ แต่สามารถจะเข้าใจโลภะขึ้นว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่คือปัญญา ปัญญาไม่ใช่รู้อย่างอื่น แต่ปัญญาจะต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง โลภะคืออะไร โลภะก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวตน สัพเพ ธัมมา อนัตตา (ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา) ลืมไม่ได้อีกเหมือนกัน
≠ ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง แม้ว่าจะไม่ใช้ชื่อใดๆ เรียกเลยก็ตาม เช่น เห็น ไม่ต้องเรียกชื่อ ไม่ต้องบอกว่านี่คือเห็น แต่ก็กำลังเห็นในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น ขณะที่ได้ยินเสียง ไม่ต้องเรียกอะไรทั้งหมด ปรมัตถธรรมคือสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนั้น โดยไม่ต้องใช้ชื่อใดๆ
≠ ชีวิตของชาติหนึ่งซึ่งปัญญาจะเจริญขึ้น ที่จะอบรมเจริญความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมจะมากหรือจะน้อย เพราะว่าบางชีวิตก็สั้นมาก บางชีวิตก็อาจจะยืนยาวพอสมควร แต่ก็เป็นชีวิตที่ไร้สาระ เพราะเหตุว่าไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะต้องจากโลกนี้ไป หมดสภาพความเป็นบุคคลนี้ แล้วก็สะสมกุศลบ้าง อกุศลบ้าง มากน้อยต่างๆ กันไป แต่ว่าสิ่งที่แน่นอนที่สุด ก็คือต้องจากเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ของโลกนี้โดยสิ้นเชิงในวันหนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรจะติดตัวไป ก็ควรจะเป็นการเจริญกุศล และการเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้น
≠ ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ว่า เมตตาเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะ ก็จะไม่คิดที่จะเจริญเมตตา เพราะเหตุว่าเมตตาก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดง่าย แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของกุศลธรรมและเห็นโทษของอกุศลธรรมจริงๆ แล้วก็จะรู้ได้ว่า ถ้ายังคงมีอกุศลมากมาย การที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทนี่ก็ยากแสนยากที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นในเรื่องของการฟังพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ที่จะต้องฟังแล้วพิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองเพื่อประโยชน์อันแท้จริง
≠ ทุกท่านกำลังฟังพระสัทธรรม แล้วก็ฟังมาแล้วหลายชาติ ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว แต่ขอให้คิดถึงความละเอียดว่า ท่านฟังพระธรรมเพื่ออะไร ถ้าฟังเพื่อจะขัดเกลากิเลส ถูก แต่ถ้าฟังเพื่ออย่างอื่น เพราะเหตุว่าบางท่านฟังพระธรรมแบบร้อนๆ ก็มี คือ กังวล ห่วง เรื่องนี้ก็ไม่เข้าใจ จะต้องรู้ ถ้าไม่รู้จะไม่เก่ง ก็ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าแท้ที่จริงแล้วจุดประสงค์ของการฟังพระธรรมคือกุศลจิตเกิดขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่มีการเร่าร้อน ไม่มีการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย สิ่งใดที่ยังไม่เข้าใจก็ค่อยๆ พิจารณาในเหตุผลทีละเล็กทีละน้อย
≠ พระธรรมแต่ละคำที่เป็นวาจาสัจจะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนุเคราะห์ให้พ้นจากบ่วงของกิเลส
≠ ถ้าไม่มีปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก แล้วจะให้ไม่มีอกุศล จะเป็นไปได้อย่างไร
≠ ศีลจะเจริญมั่นคงได้อย่างไร ถ้าไม่มีปัญญา
≠ เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ผิด จะทิ้งสิ่งนั้นหรือจะเก็บไว้?
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๐๔
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณ
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพยิ่ง
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านวิทยากรและท่านผู้เกี่ยวข้องค่ะ
กราบบูชาพระคุณท่านอ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพ เป็นอย่างสูง
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณ อ.คำปั่น อักษรวิลัย
และคณะวิทยากร มศพ.ทุกท่าน