ธรรมะกับวิทยาศาสตร์

 
apiwit
วันที่  29 ก.ค. 2558
หมายเลข  26853
อ่าน  3,454

มีหลายท่านคิดว่าวิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนาเป็นคนละเรื่องกัน แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าคิดว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันเพราะเหตุว่า ธรรมะเป็นการศึกษาความจริงของธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ก็เป็นการศึกษาความจริงของธรรมชาติเหมือนกัน เพียงแต่วิทยาศาสตร์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมะเท่านั้น หากเราจะพูดเรื่องนี้ในกรอบของเซต (set) แล้ว วิทยาศาสตร์เป็นเพียงเซตย่อย (subset) ของเซตใหญ่ นั่นก็คือธรรมะ

เมื่อพูดถึงธรรมะแล้ว ธรรมะก็คือสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ธรรมะเป็นสิ่งที่มีเหตุและผลเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ แต่ธรรมะเป็นวิทยาศาสตร์ที่ลึกซึ้งมากเพราะไม่เพียงศึกษาเรื่องรูปธรรมเท่านั้น แต่ยังศึกษาลึกลงไปถึงระดับนามธรรมอย่างจิต และ เจตสิกเลยทีเดียว

เมื่อก่อนนั้นตัวผมเคยเป็นคนที่ไม่สนใจธรรมะ เพราะตอนนั้นยังไม่เชื่อเรื่องจิตวิญญาณและการเกิดใหม่ ตอนนั้นยังไม่เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม แต่ผมชอบอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งวันหนึ่งผมได้ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า "ไอน์สไตน์พบพระพุทธเจ้าเห็น" ดูท่าทางน่าสนใจ คิดว่าคงจะเป็นหนังสือธรรมะแนววิทยาศาสตร์ ด้านหลังปกหนังสือเขียนว่า"นำเสนอสิ่งที่ไอน์สไตน์ค้นพบว่าเป็นเศษเสี้ยวของสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบมาก่อนเมื่อสองพันกว่าปี สิ่งที่เร็วกว่าความเร็วแสงมีอยู่ การมีหูทิพย์ ตาทิพย์ เหาะเหินเดินอากาศ ญาณระลึกชาติไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติ แต่เป็นธรรมชาติที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบและเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ หนังสือเล่มนี้จะช่วยเปิดมุมมองทางด้านพุทธศาสนาด้วยคำตอบทางวิทยาศาสตร์อย่างที่ตัวคุณเองก็คาดไม่ถึง" ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนชอบวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ก็จึงอดใจไม่ได้ที่จะซื้อมาอ่าน เมื่อได้เข้าไปอ่านดูก็พบว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้พูดยกย่องพุทธศาสนาบ่อยมาก (ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า) ถึงกับขนาดบอกว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งจักรวาลเลยทีเดียว
เขาชอบศาสนาพุทธมาก และบั้นปลายชีวิตเขา เขาได้มาศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง เขาพบความน่าอัศจรรย์หลังได้มาศึกษาพุทธศาสนา จู่ๆ เขาก็สามารถแยกรูปแยกนามได้โดยอัตโนมัติโดยที่ไม่ได้ไปเข้าสำนักปฏิบัติเลย แต่คงเป็นเพราะได้มีโอกาสศึกษาพุทธศาสนา เขายอมรับว่า "ตัวตนที่แท้จริงไม่มีและสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นเพียงภาพมายาที่หลงยึดติดว่าเป็นตัวตนมานาน" เขากล่าวต่อว่า "สิ่งที่เป็นรูปธรรมนั้นพิสูจน์ได้ง่ายเพียงใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ แต่จิตเป็นนามธรรม ต้องพิสูจน์ด้วยญาณปัญญาเท่านั้น" และได้มีการพูดถึงพุทธศาสนาด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ในหนังสือเล่มนี้อีกด้วยทำให้ดูน่าสนใจเพราะผมสนใจวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว และพบว่าศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์มากๆ เพราะเป็นศาสนาแห่งสัจธรรม
ปัจจุบันก็ยังมีนักฟิสิกควอนตัมมากมายที่สนใจจะศึกษาพุทธศาสนาเพื่อการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่น่าเสียดายที่นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้นำความรู้ทางพุทธศาสนาไปใช้ดับกิเลส แต่กลับไปใช้สนองตัณหาในทางโลกซึ่งไม่ใช่พุทธประสงค์ โชคดดีมากเลยครับ ที่ได้มีโอกาสพบพระพุทธศาสนา เพราะพระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสให้หมดสิ้น อีกทั้งยังประสบความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเห็นของบุคคลผู้ที่ได้ตรัสรู้ความจริง กับ บุคคลผู้ที่ไม่ได้ตรัสรู้ความจริง นั้นเทียบกันไม่ได้เลย ความเห็นของบุคคลผู้ที่ไม่ได้ตรัสรู้ความจริง นั้น ก็เป็นความคิดที่เป็นไปเรื่องราวต่างๆ ศาสตร์ต่างๆ ที่ไม่เป็นไปกับความความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แต่บุคคลผู้ที่ได้ตรัสรู้ความจริง คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้สิ่งที่มีอยู่จริงๆ (ที่คนอื่นไม่ตรัสรู้) จากที่เคยถูกปกปิดหุ้มห่อด้วยความไม่รู้มานานแสนนาน ก็สามารถที่จะดับความไม่รู้ได้จนหมดสิ้น เมื่อทรงตรัสรู้แล้วก็ทรงมีพระมหากรุณาที่จะอนุเคราะห์เกื้อกูลให้ผู้อื่นได้รู้ตาม ด้วยการแสดงธรรมแสดงความจริง ให้ผู้อื่นได้เข้าใจตามความเป็นจริง

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก และ การจะยอมรับพระพุทธศาสนา จะเป็นการยอมรับที่แท้จริงได้ จะต้องเป็นผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างละอียด และ ไม่เผิน และเกิดปัญญาความเข้าใจพระธรรมจริงๆ มี พระอริยสาวก ที่บรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็นต้น ชื่อว่ายอมรับ ศรัทธา พระพุทธศาสนา เพราะเกิดปัญญา ประจักษ์ความจริงตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดง เพราะฉะนั้น หากเป็นเพียงความเห็นของปุถุชน ที่ตั้งอยู่บนรากฐานที่ไม่ละเอียดรอบคอบในการศึกษาพระธรรม ก็ย่อมมองพระพุทธศาสนาว่าเป็นเรื่อง ธรรมชาติและจิตใจ แต่ในความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้จะมีไม่ได้เลย หากไม่มีความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ต้นเหตุ คือ กิเลส และ อวิชชา ความไม่รู้ เป็นสำคัญ ดังนั้น เมื่อยังไม่ทราบถึงเหตุ ก็ย่อมเข้าใจพระพุทธศานาอย่างผิวเผิน การยอมรับพระพุทธศาสนาด้วยความเข้าใจที่ผิวเผิน อันเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ย่อมไม่ใช่เครื่องตัดสิน และ เป็นเครื่องการันตีว่า ศาสนานี้ดี เพราะ ผู้ที่มีชื่อเสียงยอมรับ ครับ

ศาสนาพุทธ จึงไม่ใช่เป็นเครื่องรองรับวิทยาศาสตร์สมัยใดได้ แต่ศาสนาพุทธ เป็นศาสนา ที่ทำให้เข้าใจความจริง ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใหม่ สมัยเก่า สมัยไหน เพราะวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ก็ไม่พ้นจากความจริง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจที่มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ครับ ศาสนาพุทธ จึงไม่ใช่เครื่องตอบสนองความต้องการของคนที่เป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่เป็นศาสนา ที่ละความตอบสนองของคน ของจิตใจของมนุษย์ เป็นสำคัญ ครับ

พระพุทธศาสนา เป็นสัจจะ ความจริง ไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นคัมภีระ ลึกซึ้งสุดประมาณ ยากที่จะเข้าใจ ผู้ที่จะเป็นเครื่องตัดสิน และ ทำให้การยอมรับนั้น เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน นั่นคือ ผู้มีปัญญา มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น หากพระองค์ ยอมรับ ในสิ่งใด สิ่งนั้น จริงแท้ แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ ปุถุชน ผู้มีความไม่รู้มาก แม้จะมีชื่อเสียง เข้าใจทางโลกได้มาก แต่ก็เป็นเพียง วิตกที่ตรึกเป็นไปในทางโลภะ ไม่ใช่ปัญญา แม้จะยอมรับในสิ่งใด การยอมรับของปุถุชนนั้น จึงไม่เป็นประมาณเลย ครับ ปัญญานั้นเองเป็นเครื่องยอมรับที่แน่นอนที่สุด อันเกิดจากการประจักษ์ความจริงตามที่พระองค์ทรงแสดง นั่นคือ สภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา โดยถึงด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 1 ส.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเ้จ้าพระองค์นั้น

เมื่อได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง (ซึ่งเป็นพระพุทธศาสนา) ก็จะทำให้เข้าใจได้ว่า สิ่งที่พระองค์ทรงแสดงนั้น เป็นสิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น จากที่ไม่รู้ ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใดก็ไม่พ้นจากความเป็นจริงของธรรม จึงต้องค่อยๆ ฟังค่อยๆ ศึกษา ขอให้เป็นการตั้งต้นจริงๆ เหมือนกับว่าไม่เคยรู้อะไรมาก่อน แล้วรองรับพระธรรมจริงๆ ด้วยความตั้งใจ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
j.jim
วันที่ 1 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
thilda
วันที่ 1 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ อาจารย์ตอบได้ชัดเจนมากค่ะ ขออนุญาตแนะนำให้ปักหมุดค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ms.pimpaka
วันที่ 2 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 2 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 3 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jarunee.A
วันที่ 19 ก.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ