ขอความเข้าใจสังขารนิมิตด้วยค่ะ
เมื่อวันอาทิตย์ได้ไปศึกษาพระธรรม ท่านอาจารย์ได้อธิบายคำว่า สังขารนิมิต ดิฉันยังไม่เข้าใจค่ะ ช่วยอธิบายขยายความให้ด้วยนะค่ะ
ขอขอบพระคุณค่ะ
คำว่า สังขารนิมิต มีความหมายหลายนัย คือ โดยนัยที่เป็นสภาพที่เป็นสังขารธรรมกับวิสังขารธรรม พระนิพพานเป็นวิสังขารธรรม ออกจากสังขารธรรม หรือออกจากสังขารนิมิต ผู้ที่เจริญวิปัสสนาจนปัญญาแก่กล้า มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ (โคตรภูญาณ) ขณะนั้นออกจากสังขารนิมิต
อีกอย่างหนึ่ง ในชีวิตประจำวันของเราเราอยู่กับสังขารธรรมที่เรียกว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ที่เกิดดับ แต่เราไม่ประจักษ์แจ้งความเกิดดับของสังขารธรรมเหมือนกับว่าต่อเนื่องกันตลอด เป็นสังขารนิมิต คือ นิมิตของสังขาร ไม่ใช่ลักษณะของสังขารจริงๆ บางนัยท่านกล่าวถึงนิมิตของขันธ์ทั้งห้า คือ รูปนิมิต เวทนานิมิต สัญญานิมิต สังขารนิมิต วิญญาณนิมิต ซึ่งหมายถึง ขันธ์ห้า
ขออนุโมทนาที่โพสท์กระทู้นี้ค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะที่ มศพ ช่วยอธิบาย ดิฉันเพิ่งเคยได้ยินคำว่า สังขารนิมิต ค่ะ
สังขารนิมิต อีกนัยหนึ่ง หมายถึง นิมิตสังขารที่ไม่ใช่เรื่องราว แต่เป็นเครื่องหมายของสภาพธรรมะที่พึงรู้ได้ เช่น รู้สีเกิดดับสืบต่อ ไม่สามารถแยกตัวจริงๆ ได้ แต่รู้เพียงนิมิต นามธรรม รูปธรรม รู้ว่ามีจริงๆ
จากความเห็นที่ ๑
แต่เราไม่ประจักษ์แจ้งความเกิดดับของสังขารธรรม เหมือนกับว่าต่อเนื่องกันตลอด เป็นสังขารนิมิต คือ นิมิตของสังขาร ไม่ใช่ลักษณะของสังขารจริงๆ ขอเรียนถามว่า...ที่กล่าวถึงนี้ ประกอบด้วย"ความเห็นผิด" แล้ว ใช่หรือไม่คะ
เรียน ความเห็นที่ 8
ทั่วไปแล้วสังขารนิมิตจะหมายถึงสังขารธรรมคือสภาพธรรมที่มีจริง แต่โดยนัยนี้อธิบาย ที่ว่าเป็นนิมิตของสังขาร คือเพราะมีสภาพธรรมจึงปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐาน เป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ เป็นบัญญัติ เรื่องราว ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของสังขารธรรมจริงๆ (ตัวปรมัตถ์) แต่เป็นบัญญัติ เรื่องราว ก็กลับมาที่ประเด็นเดิมว่า แม้ขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เห็นเป็นสัตว์ บุคคลก็ไมจำเป็นว่าจะต้องมีความเห็นผิด แม้จะขณะนั้นจะไมได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมและไม่ประจักษ์ความเกิดดับ แม้อย่างนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเห็นผิดนะครับ เช่น ขณะที่เห็นขอทาน แล้วให้เงินขอทาน ขณะนั้นมีเรื่องราว บัญญัติ เป็นอารมณ์ และขณะนั้นก็ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับและไม่รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราด้วย แต่ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาแต่จะกล่าวว่ามีความเห็นผิดไมได้ เพราะทิฏฐิเจตสิก เป็นอกุศลเจตสิก จะไม่เกิดกับกุศลจิตเลยครับ
ขออนุโมทนา