ความเป็นมาของเว็บไซต์บ้านธัมมะ

 
มศพ.
วันที่  9 ส.ค. 2558
หมายเลข  26897
อ่าน  2,138

ความเป็นมาของเว็บไซต์บ้านธัมมะ
www.dhammahome.com


จุดเริ่มต้น

เมื่ออาจารย์ฉัตรชัย กิติพรชัย ได้เริ่มฟังธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งถ่ายทอดโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และเริ่มเข้าใจความจริง เห็นประโยชน์และคุณค่าของพระธรรมที่ควรจะเผยแพร่ให้กว้างขวางออกไป ประกอบกับได้เล็งเห็นประโยชน์ของการจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ซึ่งเป็นการสื่อสารที่เข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมงจากทุกพื้นที่ทั่วโลก และด้วยเหตุที่เว็บไซต์ต่างๆ นั้นเป็นแหล่งค้นหาข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในแต่ละวันมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดเวลา หากมีเว็บไซต์สำหรับเผยแพร่ความเห็นถูกแล้วย่อมทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้เข้าชม หลังจากที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.) แล้ว จึงได้เริ่มเผยแพร่พระธรรมทางเว็บไซต์ภายใต้ชื่อ www.dhammahome.com ตั้งแต่ วันที่ 9 มีนาคม 2547 เป็นต้นมา

ในระยะแรกเครื่อง server ที่ใช้สำหรับการเผยแพร่เว็บไซต์ตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เว็บไซต์ที่เผยแพร่ในครั้งแรกมีลักษณะเรียบง่าย ประกอบด้วยเมนูประชาสัมพันธ์ ฟังธรรม หนังสือ ซีดี-เทปธัมมะ และข้อมูลเกี่ยวกับ มศพ.

เว็บไซต์มีระบบจัดการให้เข้าไปเพิ่ม-แก้ไขข้อมูลได้ง่าย โดยผู้ดูแลไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญด้านเว็บไซต์ แต่เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด จึงทำให้บรรจุไฟล์ฟังธรรมได้ประมาณ 20 ไฟล์เท่านั้น เป็นไฟล์ชนิด wma 8kbps โดยหมุนเวียนลบไฟล์เก่าออก แล้วเพิ่มไฟล์ใหม่เข้าไป ซึ่งไม่สะดวกและก่อให้เกิดปัญหาเมื่อต้องการติดตามฟังไฟล์แรกๆ จึงได้ยกเลิกการลบไฟล์ออกจากเว็บไซต์และเพิ่มพื้นที่ขึ้นเป็น 100, 200, 500 เม็กกะไบต์ และ 1 กิกกะไบต์ตามลำดับ เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงมีการประชาสัมพันธ์โดยนำชื่อเว็บไซต์ไปฝากยังเว็บไซต์ชื่อดังต่างๆ ในปีแรกนี้มีผู้เข้าชมประมาณ 10 คนต่อวัน

ปี พ.ศ. 2548

ปีต่อมาเว็บไซต์เริ่มมีข้อมูลมากขึ้น จึงได้ขยายพื้นที่เป็นการใช้เครื่อง server ทั้งเครื่องเพื่อเก็บข้อมูลโดยการสนับสนุนจาก มศพ. และคณะผู้ศึกษาพระธรรมในประเทศอเมริกา

เว็บไซต์มีการพัฒนาไปตามความต้องการของผู้เข้าชม ได้เริ่มมีทีมงานเพื่อการพัฒนาเว็บไซต์ขึ้น หน้าที่ส่วนใหญ่ของทีมงานในระยะแรกเป็นการปรับปรุงคุณภาพเสียงไฟล์ฟังธรรม เมื่อมีทีมงานจึงมีไฟล์ฟังธรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่า 2,000 ไฟล์ มีการจัดแบ่งไฟล์ฟังธรรมเป็นกลุ่มย่อย 16 กลุ่ม ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเริ่มให้มีการดาวน์โหลดไฟล์ pdf ของหนังสือธัมมะ

เริ่มมีระบบสมาชิกและเปิดให้บริการกระดานสนทนา ซึ่งในยุคแรกจะเป็นการส่งคำถาม-คำตอบโดยตรงระหว่างสมาชิกเว็บไซต์ และ วิทยากรของ มศพ. เท่านั้น เมื่อมีกระดานสนทนาทำให้เว็บไซต์เริ่มเข้าสู่หลักการของเว็บ 2.0 ที่ผู้เข้าชมสามารถสร้างเนื้อหาขึ้นเองได้ ทำให้ข้อมูลมีความหลากหลายมากขึ้น ต่างจากเว็บ 1.0 ที่ผู้เข้าชมทำได้เพียงเปิดดูข้อมูลเท่านั้น

มีการเพิ่มเมนูปัญหาธัมมะ ปกิณณกธรรม และเมนูธรรมเตือนใจ เป็นบทความและไฟล์ฟังธรรมสั้นๆ ที่น่าสนใจ แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกทั้ง 3 เมนูนี้แล้ว นำข้อความไปรวมกับกระดานสนทนา และนำไฟล์เสียงไปไว้ในเมนูฟังธรรมเพื่อความสะดวกในการค้นหาข้อมูล ในช่วงแรกของการเปิดเว็บไซต์มีการส่งแผ่นซีดีสำหรับทดลองฟังให้กับผู้เข้าชมด้วย

ปี พ.ศ. 2549

มีการย้ายข้อมูลใน server จากประเทศสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทย ช่วยให้ผู้ชมส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ภายในประเทศเข้าถึงเว็บไซต์ได้เร็วขึ้น รองรับภาษาไทยได้ดีขึ้น มีช่างเทคนิคให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาต่างๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ทำได้สะดวกยิ่งขึ้น

เริ่มเผยแพร่พระไตรปิฎกและอรรธกถาไทยฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย 91 เล่ม ผ่านเว็บไซต์ โดยคัดลอกต้นฉบับมาจาก CD พระไตรปิฎกและอรรธกถาไทยฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย นำเสนอในรูปไฟล์ pdf เพื่อมิให้เกิดการตัดคำ การขึ้นบรรทัดใหม่ หรือการเว้นวรรคที่คลาดเคลื่อนไปจากต้นฉบับ อันจะนำมาซึ่งความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนาของผู้ศึกษาพระธรรม ตรงตามหลักฐานที่ปรากฏในพระไตรปิฎก และที่พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้

เริ่มมีกระดานสนทนาที่ตอบโต้ได้ทำให้มีผู้ส่งคำถามเข้ามาเป็นประจำทุกวัน แม้ว่าเมนูกระดานสนทนาจะเริ่มเป็นที่นิยมแต่เมนูฟังธรรมก็ยังมีผู้เข้าชมสูงที่สุด ในปีนี้เริ่มมีการเพิ่มคุณภาพไฟล์เป็น wma 20 Kbps ตัดเสียงรบกวนเพิ่มความคมชัดยิ่งขึ้น เพื่อให้ใช้กับเครื่องเล่นไฟล์เสียงแบบพกพาได้

ปี พ.ศ. 2550

ต่อมาเมื่อมีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลมากขึ้น เว็บไซต์จึงได้เพิ่มไฟล์รายละเอียดซีดีธัมมะแต่ละแผ่น ทำให้ฟังซีดีผ่านหน้าเว็บไซต์ได้ทั้งแผ่น มีการจัดทำบัญชีเรื่องพระไตรปิฎกเพิ่มเติมเพื่อให้ในเว็บไซต์มีข้อมูลลักษณะเดียวกับพระไตรปิฎกที่เป็นรูปเล่ม มีดัชนีคำค้น และระบบค้นหาข้อมูลจากบัญชีเรื่องพระไตรปิฎก ช่วยค้นคำหรือข้อความจากพระไตรปิฎก แสดงผลเป็นเล่มและหน้าที่พบข้อมูล

มีการเพิ่มส่วนคลังรูปภาพ ซึ่งจะใช้เก็บภาพกิจกรรมต่างๆ ของ มศพ. ภาพสังเวชณียสถาน มีการเปลี่ยนภาพประกอบที่หน้าแรกของเว็บไซต์ตามวันสำคัญต่างๆ กระดานสนทนาสามารถใส่ภาพเพื่อประกอบการบรรยายต่างๆ ได้และมีการโต้ตอบที่รวดเร็วยิ่งขึ้น

กระดานสนทนามีข้อมูลเพิ่มขึ้นมากจึงได้แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยตามลักษณะเนื้อหา และด้วยเหตุที่มีข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็นประจำนี้เอง ทำให้ได้รับความนิยมจนเป็นเมนูที่มีจำนวนผู้เข้าชมมากที่สุดแทนที่เมนูฟังธรรม

ปี พ.ศ. 2551

หน้าจอคอมพิวเตอร์ที่เป็นที่นิยมในขณะนั้นมีความละเอียดเพิ่มขึ้น จึงมีการเพิ่มพื้นที่แสดงผลในหน้าเว็บไซต์ตามไปด้วย ทำให้รองรับเนื้อหาต่างๆ ได้มากขึ้น เว็บไซต์รองรับการเข้าดูจากหลาย web browser มีการเปลี่ยนตัวอักษรพื้นฐาน มีการจัดรูปแบบข้อความต่างๆ ให้สวยงามอ่านง่ายโดยทีมงาน

เมื่อเว็บไซต์มีข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับการค้นหาข้อมูล มีระบบค้นหาข้อมูลให้เลือกใช้ได้หลายแบบ เช่น การค้นจากชื่อเรื่อง ค้นจากชื่อผู้เขียน การค้นจาก keyword ซึ่งเป็นคำสั้นๆ ที่แสดงถึงเนื้อหาหลัก ใจความสำคัญ หรือบทสรุปของแต่ละหัวข้อ การค้นโดยใช้เครื่องมือของ Google ซึ่งสามารถค้นได้แบบละเอียดเข้าไปถึงข้อความต่างๆ ในแต่ละหัวข้อ

มีการประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ด้วยการทำสติกเกอร์ติดด้านหลังรถยนต์ และมีสมาชิกเว็บไซต์หลายท่านได้แนะนำเว็บไซต์บ้านธัมมะผ่านเว็บไซต์ของตนเอง และในปลายปีนี้เองที่ได้เริ่มมีการออกอากาศรายการบ้านธัมมะทางสถานีโทรทัศน์ สทท. ออกอากาศครั้งแรก วันที่ 3 ธันวาคม 2551

ปี พ.ศ. 2552

เริ่มเผยแพร่รายการบ้านธัมมะย้อนหลังในเมนูวีดีโอ ในระยะแรกจัดทำเป็นไฟล์วีดีโอที่มีความละเอียดไม่มากนัก โดยตัดแบ่งเป็นตอนย่อยๆ ตอนละไม่เกิน 10 นาที เนื่องจากความเร็วอินเตอร์เน็ตในขณะนั้นยังไม่มากพอที่จะนำเสนอเต็มความยาวของรายการ

เมนูฟังธรรมก็มีไฟล์เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน มีการเปลี่ยนรูปแบบไปเป็น mp3 32kbps มีคุณภาพเสียงดีขึ้นนำไปใช้กับเครื่องเล่นได้หลากหลาย และเพื่อให้การเข้าฟังไฟล์ต่างๆ แบบต่อเนื่องสะดวกขึ้น จึงเปิดให้บริการ Playlist สำหรับสมาชิกแต่ละคน สมาชิกสามารถจัดการข้อมูลภายใน Playlist ของตนเอง เพิ่มและลบไฟล์ต่างๆ ได้ตามต้องการ และยังมี Playlist ซีดีธัมมะให้ฟังต่อเนื่องได้จากซีดีทั้งแผ่นด้วย

เว็บไซต์มีทีมงานอาสาสมัครเข้ามาช่วยปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น แบ่งหน้าที่กันออกไปหลายส่วน เช่น ทีมงานปรับแต่งไฟล์เสียง-ไฟล์วีดีโอ ทีมงานวิทยากรตอบคำถามในกระดานสนทนา ทีมงานพิสูจน์อักษร ทีมงานถอดเทปบรรยายธรรม เป็นต้น

มีการเปิดให้บริการวิทยุออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ด้วย โดยติดตั้งเครื่องถ่ายทอดไว้ที่ มศพ. มีการถ่ายทอดตลอด 24 ชั่วโมง เป็นรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา และพื้นฐานพระอภิธรรม ซึ่งก็มีผู้เข้าฟังอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นกัน

ปี พ.ศ. 2553

ในปีนี้เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) กำลังเป็นที่นิยมและมีผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ เว็บไซต์จึงเพิ่มบริการส่งข้อมูลไปยัง Facebook และ Twitter ซึ่งเป็นเครื่อข่ายสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด เป็นการแนะนำเว็บไซต์และเผยแพร่ข้อมูลให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

เว็บไซต์เริ่มมีขนาดใหญ่และเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในแต่ละวันมีผู้เข้าชมไม่ต่ำกว่า 1,000 คน จากหลายประเทศทั่วโลก มีผู้เขียนข้อความเข้ามาในกระดานสนทนาเป็นประจำทุกวัน เมื่อมีข้อมูลอยู่ในระบบเป็นจำนวนมากจึงมีการพัฒนาระบบการจัดเก็บที่ดีขึ้น จัดโครงสร้างให้เป็นระเบียบ มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี และมีการสำรองข้อมูลแบบ offline เก็บไว้ที่ มศพ. เป็นประจำทุกเดือน

เว็บไซต์มีลักษณะเป็นคลังข้อมูลที่มีทั้งข้อความ เสียง วีดีโอ และภาพที่เกี่ยวข้องกับ มศพ. โดยมีการนำเสนอที่เน้นความถูกต้องของข้อมูล และความสะดวกในการเข้าถึง โดยใช้ keyword เป็นตัวเชื่อมข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน

ปี พ.ศ. 2554

มีการเปลี่ยนเครื่อง server ใหม่ เนื่องจากเครื่องเดิมนั้นหมดอายุการใช้งาน เริ่มมีการปรับโครงสร้างการแสดงผลตามมาตรฐานเว็บไซต์สมัยใหม่ของ World Wide Web Consortium (W3C) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการปรับปรุงเว็บไซต์เพื่อให้แสดงผลได้ในหลายอุปกรณ์

เว็บไซต์มีการพัฒนาไปในแนวทาง Search Engine Optimization (SEO) ซึ่งเป็นการออกแบบการแสดงผลเนื้อหาต่างๆ ให้สอดคล้องกับการทำงานของ Search Engine เช่น Google, Yahoo, Bing เป็นต้น เป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จัก และสนใจการศึกษาพระธรรมตามแนวพระไตรปิฎกอย่างกว้างขวาง เมื่อค้นเจอเว็บไซต์จาก Search Engine ได้ง่าย ก็ทำให้มีคนรู้จักและมีผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

มีการเปลี่ยนโทนสีของเว็บไซต์จากโทนสีเหลืองทองเป็นโทนสีเขียวเทา ยกเลิกสีที่จัดจ้านและกราฟิกที่ไม่จำเป็น ให้หน้าเว็บไซต์ดูเรียบง่ายสบายตามากขึ้น

ในปีนี้ได้มีการก่อตั้งชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ขึ้น มีการรับสมัครสมาชิกชมรม และส่งบาลีวันละคำ คติธรรมประจำสัปดาห์ทางอีเมล์ ผู้ชมสามารถเข้าดูรายละเอียดต่างๆ และดาวน์โหลดไฟล์ย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์ www.dhammahomefellowship.com

ปี พ.ศ. 2555

คณะกรรมการ มศพ. มีมติให้ขยายการเผยแพร่พระธรรมผ่านเว็บไซต์ให้กว้างขวางไปยังชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้นโดยให้มีเว็บไซต์ภาษาต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก 3 เว็บไซต์ ได้แก่ ภาษาจีน cn.dhammahome.com ภาษาญี่ปุ่น jp.dhammahome.com และภาษาเวียดนาม vn.dhammahome.com มีการเพิ่มข้อมูลเข้าสู่เว็บไซต์ทั้ง 3 เป็นระยะๆ มีผู้ชมชาวต่างประเทศเข้ามาอ่านข้อความเป็นประจำ โดยเว็บไซต์ภาษาเวียดนามเป็นเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมสูงที่สุด

เริ่มใช้ระบบของ YouTube เผยแพร่รายการบ้านธัมมะ โดยเชื่อมโยงการแสดงผลวีดีโอในเว็บไซต์เข้ากับ YouTube ทำให้แสดงผลได้รวดเร็วมีความคมชัดสูงทั้งภาพและเสียง แสดงรายการบ้านธัมมะตอนล่าสุดไว้ที่หน้าแรกของเว็บไซต์เปิดชมได้ทันที

มีการพัฒนาระบบค้นหาข้อมูลจากพระไตรปิฎกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถค้นได้จากทุกหัวข้อในพระไตรปิฎก ระบบนี้มีความสามารถเทียบเท่ากับระบบค้นหาข้อมูลที่อยู่ในแผ่นซีดีพระไตรปิฎกของมหามกุฎราชวิทยาลัย

ปี พ.ศ. 2556

ได้เพิ่มเครื่อง server อีก 1 เครื่องสำหรับสำรองข้อมูล เริ่มมีการการถอดคำบรรยายไฟล์ฟังธรรมต่างๆ ออกมาเป็นตัวอักษร เพื่อให้ผู้ชมสามารถอ่านและฟังไปพร้อมๆ กัน มีการจัดทำ E-book แนวทางการเจริญวิปัสสนาเผยแพร่ในเว็บไซต์ เนื้อหาที่อยู่ใน E-book นั้นจะเป็นการถอดคำบรรยายจากซีดีชุดต่างๆ ให้เปิดอ่านผ่านหน้าเว็บไซต์ทันที หรือดาวน์โหลดเก็บไว้อ่านภายหลังได้ตามต้องการ

เปิดให้บริการฟังธรรมออนไลน์ โดยนำมาใช้แทนวิทยุออนไลน์ซึ่งพบปัญหา server ผู้ให้บริการขัดข้องบ่อยครั้ง ฟังธรรมออนไลน์นี้คงข้อดีของวิทยุออนไลน์ไว้ คือ ใช้งานง่าย ฟังต่อเนื่องได้โดยไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิกเว็บไซต์ ไม่ต้องคลิกซ้ำบ่อยๆ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการฟังไปเรื่อยๆ แบบไม่ระบุหัวข้อ ในแต่ละช่วงเวลาจะมีการเปิดไฟล์ที่ไม่ซ้ำกัน และจะมีการเปลี่ยนแผ่นทุกวันอัตโนมัติ

เริ่มมีการถ่ายทอดสดสนทนาธรรมจาก มศพ. ด้วยการใช้ระบบของ YouTube Chanel แล้วนำสัญญาณภาพและเสียงเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ เมื่อถ่ายทอดสดจบแล้วจะมีการบันทึกเก็บไว้สำหรับดูย้อนหลังได้ทันที และยังมีการถ่ายทอดสดเฉพาะเสียงผ่านโปรแกรม Sam Broadcaster อีกด้วยให้เลือกรับฟังตามความต้องการ

ปี พ.ศ. 2557

เริ่มปรับโครงสร้างพื้นฐานของเว็บไซต์ให้เข้ากับหลักการ Model-View-Controller วิธีการนี้เป็นแนวทางการพัฒนาเว็บไซต์สมัยใหม่ที่นิยมใช้ เป็นไปเพื่อการพัฒนาเว็บไซต์ในระยะยาว ให้มีระบบที่เป็นมาตรฐาน ทันสมัย มีความปลอดภัยสูง สนับสนุนการทำงานเป็นทีม ไม่ผูกติดกับนักพัฒนา และพัฒนาต่อยอดได้ต่อเนื่อง

มีการปรับลดข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกจากระบบเพื่อให้ง่ายในการสำรองข้อมูล มีการทำงานที่กระชับลดความซ้ำซ้อนของขั้นตอนต่างๆ ปรับแต่งได้ง่าย การเพิ่ม การแก้ไข การจัดเรียง การค้นหา และการลบข้อมูล ก็ทำได้สะดวกขึ้นเช่นเดียวกัน

การปรับปรุงนี้เสมือนกับเป็นการทำระบบเว็บไซต์ใหม่ ด้วยการทยอยปรับปรุงไปทีละส่วนเริ่มที่กระดานสนทนาซึ่งเป็นส่วนที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดก่อน เว็บไซต์จึงมีการทำงานแบบคู่ขนาน คือมีทั้งรูปแบบเก่าและใหม่อยู่ด้วยกัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับความเคยชินของผู้ชม

ปัจจุบัน

เว็บไซต์บ้านธัมมะใช้การพัฒนาด้วย Framework ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับเว็บไซต์สมัยใหม่ มีโครงสร้างการพัฒนาที่ต่อยอดได้ในระยะยาว ทั้งในส่วนระบบจัดการข้อมูลเบื้องหลัง และการแสดงผลสำหรับผู้เข้าชม รองรับการจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลจำนวนมาก เว็บไซต์มีระบบบริหารจัดการข้อมูลที่ใช้ง่าย มีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ดี ตลอดจนมีการปรับปรุงส่วนต่างๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ

แนวโน้มของการใช้มือถือ-แท็บเล็ตเปิดชมเว็บไซต์มีสูงขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าจะสูงกว่าการใช้คอมพิวเตอร์ในอนาคต เว็บไซต์จึงพัฒนาให้มีคุณสมบัติ Responsive รองรับการเข้าชมจากหลายอุปกรณ์ในทุกขนาดหน้าจอ ทำงานร่วมกับ Search engine ได้ดี และมีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้กว้างขวาง

เว็บไซต์เปิดรับข้อเสนอแนะต่างๆ จากผู้เข้าชม มีการนำเสนอที่เน้นที่ความถูกต้องของข้อมูล และความง่ายในการใช้งาน มีการพัฒนาเพิ่มเติมบริการต่างๆ อยู่เสมอ ตามความต้องการของผู้ใช้ ปัจจุบันเว็บไซต์บ้านธัมมะมีผู้เข้าชมมากกว่า 3,800 คนต่อวัน มีข้อมูลในเว็บไซต์ 35,000 รายการ มีผู้เข้าชมและดาวน์โหลดข้อมูลเหล่านี้ไปแล้วมากกว่า 34,000,000 ครั้ง

เว็บไซต์บ้านธัมมะมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยความร่วมมือของทีมงานที่มีจิตศรัทธาหลายท่าน โดยเฉพาะอาจารย์ฉัตรชัย กิติพรชัย และคุณโสภณ สิงห์แก้ว ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจร่วมกันปรับปรุงและพัฒนามาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน

ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ผู้เป็นตัวอย่างในการอุทิศตนเพื่อศึกษาและเผยแพร่ความเห็นถูก และคณะกรรมการ มศพ. ที่ได้อนุญาตและให้ความอนุเคราะห์ในการจัดทำเว็บไซต์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของ มศพ. ที่ได้ให้ความช่วยเหลือตลอดมา เว็บไซต์บ้านธัมมะจะพัฒนาในทุกๆ ด้าน เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อหนึ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สนใจศึกษาพระธรรมตามแนวพระไตรปิฎกต่อไป

" พระธรรม ยิ่งเผยแพร่ ยิ่งรุ่งเรือง "
ทีมงานเว็บไซต์บ้านธัมมะ
www.dhammahome.com

สิงหาคม 2558


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
thilda
วันที่ 13 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nvrath
วันที่ 16 ส.ค. 2558

เป็น historical background ที่ดีมากๆ ค่ะ

ขอบพระคุณผู้จัดทำ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
natural
วันที่ 21 ส.ค. 2558

ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ และทุกๆ ท่านในความกรุณาอนุเคราะห์ให้ได้เข้าถึงการศึกษาพระธรรมที่มีค่าสูงยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 3 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pulit
วันที่ 6 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
captpok
วันที่ 8 ก.ย. 2558

ได้ประโยชน์มากๆ สามารถฟังธรรมะได้ตลอดเวลา

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
นิคม
วันที่ 7 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pattanee
วันที่ 21 ก.พ. 2559

ขอขอบคุณทีมงานผู้จัดทำ และปรับปรุง website ทุกท่านด้วยค่ะ ที่ช่วยให้คนพิการ (คนตาบอด อย่างดิฉันและเพื่อน) สามารถใช้งาน website ได้ง่ายขึ้นกว่าในปีก่อนๆ ค่ะ สามารถเปิดฟังธรรมะด้วยตัวเองได้แล้วค่ะ ไม่ต้องรบกวนใครให้เปิดให้

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
somjeat
วันที่ 19 ก.ย. 2559

โมทนาในบุญที่ท่านทั้งหลายได้ทำ หากมีโอกาสจะเอาแรงไปช่วยเหลือมูลนิธิฯ ผมอยู่ในวงการไอทีมากว่า 30 ปี ยินดีให้ความช่วยเหลือได้บ้างครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Triratna
วันที่ 1 มิ.ย. 2561

ขออนุโมทนาครับ . สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
bauloy
วันที่ 4 ก.ค. 2562

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ....

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 18 ส.ค. 2566

ยินดีอย่างยิ่งในกุศลของอาจารย์ฉัตรชัย กิติพรชัย คุณโสภณ สิงห์แก้ว ตลอดจนทีมงานทุกท่านทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
nattawan
วันที่ 18 ส.ค. 2566

ขอบพระคุณ และยินดียิ่งในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Jarunee.A
วันที่ 17 ก.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
nimit.chomnawang
วันที่ 9 ม.ค. 2567

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ฉัตรชัย และผู้ร่วมพัฒนาทุกท่าน ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ