สติ-สัมมาสติ

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  10 ส.ค. 2558
หมายเลข  26906
อ่าน  2,090

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขอเรียนถามค่ะ เกี่ยวกับ “สติ-สัมมาสติ” ต่างกันอย่างไรคะ คิดว่า สัมมาเป็นเพียงคำขยาย เพราะ สติ ต้องเป็น สัมมา เท่านั้น ด้วยเพราะเป็น โสภณเจตสิก มิจฉาสติ-คงไม่มี-ใช่ไหมค่ะ คือ ที่ไม่ใช่ สัมมาสติ ก็เป็น มิจฉาสติ ไม่น่า จะมีคำ ”มิจฉา” เพราะสติ ที่เป็นมิจฉา ไม่มี หรือ ใน “มิจฉัตตะ” มี กล่าวถึง มิจฉาสติ อย่างไร “ระลึกชอบ” มี-สภาพ-ลักษณะ-อาการ-อย่างไรคะ

ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 ส.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 366

[๓๘] สัมมาสติ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน สติ ความตามระลึก ความหวนระลึก สติ กิริยาที่ระลึกความทรงจำความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืมสติ สตินทรีย์ สติพละ ความระลึกชอบ ในสมัยนั้นอันใดนี้ชื่อว่า สัมมาสติ มีในสมัยนั้น.

สติ ตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นเจตสิก สติเป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเกิดกับจิตที่ดีงาม ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย สติ ทำหน้าที่ระลึกเป็นไปในทางที่ดี และ สติเป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้นกระแสกิเลส

สติ มีหลายอย่าง หลายชนิด แต่ สติ ก็ต้องกลับมาที่ สติเป็น สภาพธรรมฝ่ายดี ครับ สติ แบ่งตามระดับของกุศลจิต เพราะเมื่อใด กุศลจิตเกิด สติจะต้องเกิดร่วมด้วย กุศลจิต มี 4 ขั้น คือ ขั้นทาน ศีล สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

สติจึงมี 4 ขั้น คือ สติที่ระลึกเป็นไปในทาน สติที่ระลึกไปในศีล สติที่ระลึกเป็นไปในสมถภาวนา และ สติที่ระลึกเป็นไปในวิปัสสนาภาวนา

สติขั้นทาน คือ เมื่อสติเกิดย่อมระลึกที่จะให้

สติขั้นศีล คือ ระลึกที่จะไม่ทำบาป งดเว้นจากการฆ่าสัตว์

สติขั้นสมถภาวนา เช่น ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า

สติขั้นวิปัสสนา คือ สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ เกิดพร้อมปัญญารู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ดังนั้น สติ จึงเป็นสภาพธรรม ที่ระลึกเป็นไปในกุศลทั้งหลาย และ ขณะใดที่สติเกิดขณะนั้น อกุศลไม่เกิด เพราะ กั้นกระแสกิเลสในขณะนั้น

ขอเพิ่มเติมความละเอียดของสติดังนี้ ครับ

โดยมาก คนไทย นำภาษาบาลีมาใช้ โดยไม่ตรงกับความหมายของภาษาบาลี และไม่ตรงกับความหมายของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ อย่างเช่น คำว่า สติ

สติในภาษาไทย ก็เข้าใจกันว่า ทำอะไร ก็รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ เดินก็รู้ว่าเดินอยู่ ซื้อของก็ให้มีสติ น้ำท่วมก็ให้มีสติ สรปุว่า คนไทยที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เข้าใจว่า สติคือรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ชื่อว่า มี สติ ความหมายสตินี้ไม่ตรงตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ

สติ ที่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ สติ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นเจตสิกเกิดกับจิตที่ดีเท่านั้น ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ดังนั้นขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่มีสติ ขณะใดที่เป็นกุศล ไม่ว่าระดับใด ขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยครับ สติทำหน้าที่ระลึก และกั้นกระแสกิเลสที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้นในขณะที่สติเกิดครับ

ดังนั้น ต้องเป็นกุศล จึงจะมีสติ และขณะที่รู้ว่าจะต้องทำอะไรในขณะนั้น รู้ว่าเดินอยู่นั่งอยู่ แต่จิตไม่ได้เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ไม่เป็นกุศล หรือ เพียงรู้ว่าจะต้องทำอะไร ไม่ใช่สติ ครับ

ที่ใช้คำว่า มิจฉาสติ เพื่อที่จะแสดงมรรค ๘ ที่เป็นมิจฉามรรคให้บริบูรณ์ โดยปรมัตถธรรมมิจฉาสติไม่มี แต่อรรถกถาแก้ว่า หมายถึง อกุศลธรรมที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับสัมมาสติ

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒- หน้าที่ 8

อนึ่ง สติย่อมไม่มีในอกุศลจิตเพราะไม่เป็นที่ตั้งแห่งสติ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงไม่ถือเอา.

ถามว่า บุคคลผู้มีทิฏฐิทั้งหลายย่อมไม่ระลึกถึงการงานอันตนกระทำบ้างหรือ?

ตอบว่า ย่อมระลึก แต่การระลึกนั้นไม่ชื่อว่าเป็นสติ เพราะอาการระลึกนั้น เป็นความประพฤติของอกุศลจิตอย่างเดียว ฉะนั้น จึงไม่ทรงถือเอาสติ.

ถามว่า เมื่อความเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุไรในพระสูตรจึงตรัสว่า มิจฉาสติเป็นความระลึกเล่า

ตอบว่า เพื่อจะทรงยังมิจฉัตตะแห่งมิจฉามรรคให้บริบูรณ์ เพราะอกุศลขันธ์ทั้งหลาย เป็นสภาวะเว้นจากสติและเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ จึงทรงทำเทศนามิจฉาสติไว้ในพระสูตรนั้นโดยปริยาย แต่มิจฉาสตินั้นว่าโดยนิปปริยายย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น จึงไม่ทรงถือเอา

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
tanrat
วันที่ 11 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 11 ส.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้

สติ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่งาม เป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศลธรรม สติจะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต เลย กุศลกับอกุศล เป็นธรรมคนละประเภทกัน ไม่เกิดร่วมกันอย่างเด็ดขาด สติก็มีหลายระดับขั้น ถ้ากล่าวถึงสัมมาสติแล้ว ก็เป็น สติเจตสิก นั่นเอง ที่เกิดขึ้นเป็นไปในการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

โดยปกติของปุถุชนแล้ว เป็นผู้ตกไปในฝักฝ่ายของอกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ เป็นผู้มีโทษมาก เพราะกาย วาจา และใจ เป็นไปกับด้วยอกุศล เมื่อสะสมมากขึ้นๆ มีกำลังมากขึ้น ก็ทำให้ล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดำ เป็นธรรมที่ไม่ดี เช่น โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ตามควรแก่อกุศลจิตประเภทนั้น โดยที่ไม่มีสติเลย ในขณะที่จิตเป็นอกุศล เพราะสติ ไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล ไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิตและการอบรมเจริญปัญญาแล้ว เป็นอกุศลทั้งนั้น (เมื่อไม่กล่าวถึงขณะที่เป็นวิบาก และ กิริยา) มีเพียงกุศลเกิดแทรกสลับกับอกุศล เท่านั้นจริงๆ ซึ่งขณะที่จิตเป็นกุศล ประกอบด้วยโสภณเจตสิกฝ่ายดีประการต่างๆ มี ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ สติ เป็นต้น [และที่ขาดไม่ได้เลย คือ สติ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล] ย่อมเป็นการกั้นกระแสของอกุศล เนื่องจากว่าในขณะที่เป็นกุศล อกุศลก็เกิดไม่ได้ โดยไม่มีตัวตนที่ไปกั้น แต่เป็นธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ซึ่งจะต้องค่อยๆ เจริญกุศล เห็นประโยชน์ของความดีประการต่างๆ [ไม่เห็นว่า อกุศลดีกว่ากุศล] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อละคลายกิเลส จนกระทั่งสามารถดับได้ในที่สุด ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 11 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 4 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
j.jim
วันที่ 7 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
สิริพรรณ
วันที่ 6 มิ.ย. 2564

กราบขอบพระคุณและยินดีในกุศลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jarunee.A
วันที่ 14 ก.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ