ความหมายของคำว่า บวช

 
natural
วันที่  6 ต.ค. 2558
หมายเลข  27062
อ่าน  27,683

ขอเรียนถามความหมายของคำว่า บวช ตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาค่ะ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ต.ค. 2558

คำว่า “บวช” เป็นคำที่คนไทยนิยมใช้ มาจากภาษาบาลี "ปพฺพชฺชา” ซึ่งหมายถึงบรรพชา มีรากศัพท์มาจาก ป (ปะ) แปลว่า ทั่ว และ วช (วะชะ) แปลว่า เว้น มาเป็นคำว่า “บรรพชา” แล้วกลายมาเป็นคำว่า “บวช” ในที่สุด

คำว่า “ปพฺพชฺชา” หรือ “บรรพชา” แปลว่า เว้นทั่ว หมายถึง การงดเว้นจากความชั่วทั้งปวง หรือ หมายถึง ออกไป คือ ออกไปจากธุระการงานทุกประเภทของคฤหัสถ์ ผู้ที่ถือบวชในพุทธศาสนา จะได้นามว่า พระบ้าง ภิกษุบ้าง บรรพชิตบ้าง

ในปัจจุบันคำว่า “การบวช” ที่เราพูดกันนั้น มิได้หมายเอาเฉพาะความหมายที่ตรงกับคำว่า “บรรพชา” เท่านั้น แต่หมายถึงคำว่า “อุปสมบท” ด้วย เพราะตามความหมายเดิม บรรพชา หมายถึง การบวชเป็นสามเณรเท่านั้น ดังนั้น คำว่า “บวช” จึงใช้เป็นคำกลางๆ หากต้องการจะสื่อสารให้รู้ว่าบวชเป็นอะไรก็เพิ่มคำใหม่ต่อท้าย เช่น บวชเณร บวชพระ เป็นต้น

บวช คือ การสละเพศคฤหัสถ์สู่ความเป็นเพศบรรพชิต บวชเพื่ออะไร การบวชเพราะบุคคลนั้นมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา และที่สำคัญ เป็นผู้เห็นโทษ ในการครองเรือนจริงๆ จึงเป็นผู้สละ อาคารบ้านเรือนทั้งหมด ไม่ว่าเงินและทอง ทุกๆ อย่างที่สมควรกับคฤหัสถ์ ดังนั้นการบวช จึงไม่ใช่เพื่อตอบแทนพระคุณมารดา บิดา ไม่ใช่เพื่อว่าบวชแล้วจะเป็นบุญ (บุญอยู่ที่จิตไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มที่ใส่) ถ้าบวชหนึ่งครั้งก็ถือว่าประเสริฐ ไม่ใช่เป็นเรื่องประเพณีดังเช่นปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นโทษของกามคุณ โทษของการครองเรือน และมีศรัทธาที่จะประพฤติตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ทั้งพระวินัยและการศึกษาธรรมอย่างแท้จริงเพื่อถึงการดับกิเลส นี่คือจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการบวชครับ ที่กล่าวมาจึงเป็นการแสดงถึงคำถามที่ว่า บวชเพื่ออะไร ทำไมต้องบวชครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 6 ต.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การบวช เป็นเรื่องที่ยากมาก และการยินดีในการบวชก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน เป็นอันตรายมากทีเดียว ถ้าหากล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ไม่ประพฤติตามพระวินัย เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่รักษาพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ขาดความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัย ย่อมเป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้าเท่านั้น เมื่อต้องอาบัติแล้ว ไม่กระทำคืนตามพระวินัย ก็เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพาน กั้นการไปสู่สุคติด้วย แทนที่จะได้กระทำกิจที่ควรทำที่จะเป็นที่พึ่งสำหรับตนเอง แต่กลับไปเพิ่มอกุศล เพิ่มความไม่รู้ เพิ่มเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเองที่จะทำให้ได้รับผลที่ไม่ดีในอนาคตข้างหน้า เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาเป็นอย่างมากทีเดียว

บุคคลในครั้งพุทธกาล ท่านได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เห็นโทษของการอยู่ครองเรือน ว่า คับแคบ (คับแคบด้วยอกุศล คับแคบด้วยกิเลส แน่นไปด้วยกิเลส) มีแต่จะเป็นเครื่องพอกพูนกิเลส ให้หนาแน่นขึ้น แล้วมีอัธยาศัยน้อมไปที่จะขัดเกลากิเลสให้ยิ่งกว่าเพศคฤหัสถ์ จึงสละทุกสิ่งทุกอย่าง สละทรัพย์สมบัติ สละวงศาคณาญาติแล้วออกบวช เป็นบรรพชิต ด้วยความจริงใจ ด้วยความตั้งใจที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ จนกระทั่งสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ นี้คือ การบวชที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tanrat
วันที่ 7 ต.ค. 2558

ท่านผู้ที่มีความเห็นที่คลาดเคลื่อนต่อความจริง น่าเห็นใจจริงๆ พระศาสนาดำเนินมาถึง 2558 ปี นับวันมีแต่การคลาดเคลื่อน หากขาดการที่จะได้ฟัง

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

พระสัตธรรมแล้วคงยากที่จะเข้าใจถูก

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Wisaka
วันที่ 7 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 23 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Guest
วันที่ 25 ต.ค. 2558

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในพระสัทธรรมด้วยความเคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 1 พ.ย. 2558

ในครั้งพุทธกาล นางวิสาขาก็ไม่ได้บวช ท่านบรรลุเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เป็นฆราวาสฟังธรรมให้เข้าใจ สะสมปัญญาและความดีไปทุกครั้งที่มีโอกาสเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในชีวิตแล้วค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
prasert.suphan
วันที่ 6 มี.ค. 2561

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ประสาน
วันที่ 2 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 15 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ปีใหม่
วันที่ 13 ส.ค. 2563

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Jarunee.A
วันที่ 15 ส.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ