จิต สติ สัญญา และปัญญาต่างกันอย่างไร

 
natural
วันที่  9 ต.ค. 2558
หมายเลข  27070
อ่าน  2,169

ขอรบกวนเรียนถามว่า จิต สติ สัญญา และปัญญาต่างกันอย่างไร

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 ต.ค. 2558

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในการู้

สติเป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในทางที่ดี

ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่รู้ความจริง

ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 9 ต.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เป็นสภาพธรรมที่สั้นแสนสั้น มีอายุเพียงแค่ขณะที่เกิดขึ้น ขณะที่ตั้งอยู่ และขณะที่ดับไปเท่านั้น เมื่อจิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไปก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เมื่อกล่าวถึงจิตแล้ว ไม่ใช่ว่าจะต้องมีเฉพาะจิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีสภาพธรรมอีกประเภทที่เกิดร่วมกับจิต นั้นด้วย เมื่อเกิดร่วมกับจิต ก็ต้องรู้อารมณ์เดียวกันกับจิต ดับพร้อมกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ต้องอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิตด้วย สภาพธรรมที่กล่าวนั้น คือ เจตสิก
จิต เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที เป็นจริงอย่างนี้ และ มีจริงในชีวิตประจำวันด้วย ไม่เคยขาดจิตเลยแม้แต่ขณะเดียว มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา ครับ

-สัญญาเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่จำในอารมณ์ จำในสิ่งที่จิตรู้ สัญญา เป็นเจตสิกธรรมประการหนึ่ง ที่เกิดกับจิตทุกขณะทุกประเภทไม่มีเว้น เกิดร่วมกับกุศลจิต เกิดร่วมกับอกุศลจิต เกิดร่วมกับกิริยาจิต เกิดร่วมกับวิบากจิต

-สติ กับ ปัญญา ต่างก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม สติ เป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภทไม่มีเว้น ส่วนปัญญา เป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นความไม่หลง สติเกิดโดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่ทุกครั้งที่ปัญญาเกิดจะไม่ปราศจากสติ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
natural
วันที่ 9 ต.ค. 2558

เรียนถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาพของสัญญาว่ามีเหตุปัจจัยให้สัญญาจำเฉพาะในชาตินี้เท่านั้น ไม่มีเหตุปัจจัยให้สัญญาเกิดสืบต่อจำในชาติก่อนๆ ได้ มีเฉพาะสภาพของเจตนาที่เรียกว่ากรรมสืบต่อได้ เข้าใจอย่างนี้ถูกหรือผิดคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 9 ต.ค. 2558

สัญญาเจตสิกทำหน้าที่จำ ขึ้นอยู่กับว่าเกิดกับจิตประเภทอะไร ซึ่งก็จำในอารมณ์นั้น ในขณะนั้น เจตนาเจตสิกก็ขึ้นอยู่กับจิตประเภทอะไรก็ทำหน้าที่ตามประเภทของจิตนั้น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
natural
วันที่ 9 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
tanrat
วันที่ 11 ต.ค. 2558

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 14 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jarunee.A
วันที่ 15 ส.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ