ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๑๖
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๑๖
~ ทุกท่านที่มีสมบัติมากๆ ก็จะรู้ได้ว่า จากไปแต่ตัว และทรัพย์สมบัติก็ยังเหลืออยู่ แต่ตัวผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัตินั้นก็ต้องจากไป
~ เป็นความจริงสำหรับคนทุกยุค ทุกสมัย ที่ควรจะกลัวกำลังของกิเลสที่สะสมมาในจิตนานแสนนาน เหมือนอสรพิษที่ขดอยู่ในข้อง ยังไม่มีโอกาสออกมาแสดงพิษร้ายได้
~ พระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมทั้งหลายก็เพื่อที่จะให้เห็นความไม่เป็นประโยชน์ของอกุศล และให้เห็นกำลังของการสะสมอกุศล
~ เมื่อสิ้นชีวิตจากชาตินี้แล้ว จะเป็นคนนั้นอีกต่อไปไม่ได้เลย ไม่มีทางที่จะเป็นคนนั้นอีกได้เลย ถ้าจะศึกษาจากพระชาติต่างๆ ของพระผู้มีพระภาค ก็จะเห็นได้ว่า แต่ละพระชาติก็คือการปรุงแต่งของจิต เจตสิก ซึ่งจะไม่กลับไปเป็นบุคคลนั้นอีก เพราะฉะนั้นในชาติก่อน ท่านจะเคยเป็นใครอยู่ที่ไหน หรือแม้แต่เพียงชาติก่อนชาตินี้ ก็สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง และชาตินี้ก็กำลังใกล้ต่อการสิ้นสภาพของความเป็นบุคคลนี้ และจะไม่กลับเป็นบุคคลนี้อีก
~ ใครที่มักโกรธในชาตินี้ ให้ทราบว่าชาติก่อนๆ ก็ต้องมักโกรธ แล้วถ้าชาตินี้ยังมักโกรธอย่างชาตินี้ต่อไปอีก ก็ให้นึกถึงภาพชาติหน้าได้ว่าจะเป็นอย่างไร อยากจะเป็นอย่างนั้นต่อไป หรือว่าอยากเป็นอย่างอื่น ที่ไม่ใช่อย่างนี้ ถ้าอยากจะเป็นอย่างอื่น ก็ต้องเริ่มสะสมทางฝ่ายกุศลไว้เสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้
~ กำเนิดต่างๆ ที่เป็นผลของกรรมต่างๆ และมีทุกข์ต่างๆ มีมาก เพราะฉะนั้นที่เกิดเป็นมนุษย์ และยังไม่ได้รับผลของกรรมในอบายภูมิ ก็ยังเป็นผู้มีโอกาสที่จะอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะดับทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ ที่จะไม่เกิดในอบายภูมิ ตามควรแก่เหตุ ถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ก็ยังมีปัจจัยที่ทำให้เกิดในอบายภูมิได้ แต่เมื่อได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระโสดาบันแล้วเมื่อไร ก็จะไม่เกิดในอบายภูมิอีกเลย
~ พระพุทธศาสนาทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดปัญญาของตนเอง แต่ถ้าการกระทำใดๆ ก็ตาม วิธีใดๆ ก็ตาม ที่จะใช้คำภาวนาแบบไหนก็ตาม ไม่ทำให้เกิดปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจตามความเป็นจริง ก็ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมและไม่ได้อบรมเจริญปัญญาจริงๆ แล้ว ยังไม่สามารถที่จะละคลายกิเลสใดๆ ได้เลย เพราะว่ากิจที่จะละกิเลส ไม่ใช่กิจของโลภะ หรือความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนที่เป็นเราสามารถละได้ แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และก็รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ
~ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทั้งหมดเป็นไปเพื่อเกื้อกูลให้ทุกท่านรู้ตัวว่า ยังมีกิเลสอยู่มากๆ อย่าหลงผิดว่า ลดน้อยลงไปเยอะแล้ว เพราะเหตุว่าถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ กิเลสจะลดไม่ได้ และถ้าไม่มีการกระทำทางกาย ทางวาจา กิเลสก็คงยังไม่ปรากฏให้รู้ได้ว่า ขณะนั้นสะสมอกุศลไว้มากมายเพียงไร, ก่อนที่จะว่าร้าย ทราบไหมว่า อกุศลจิตเกิดมากสักเท่าไร ต้องคิดอยู่ในใจแล้วนาน กว่าจะเปล่งคำที่จะว่าร้าย หรือที่จะเบียดเบียนกันทางวาจาออกมาได้
~ ผู้ที่พร้อมจะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น เมื่อเห็น เมื่อรู้ความต้องการของบุคคลอื่น ก็เป็นผู้ละเอียดในการเจริญกุศล เพราะรู้ความจำเป็นแล้วมีจิตกรุณาเกิดขึ้น ไม่ต้องรอให้เขาขอ ก็ให้
~ การฟังพระธรรมจะมีประโยชน์ทั้งหมด ทุกกาล บางทีโอกาสนี้อาจจะไม่สามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ แต่เมื่อฟังไปๆ ก็ย่อมมีปัจจัยที่จะทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น และอกุศลก็ค่อยๆ ลดลง
~ ขัดเกลาอกุศลจิตด้วยสติสัมปชัญญะ (ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง) ถ้าโกรธใครที่ทำให้โลกปั่นป่วนเวลานี้ จะได้รู้เสียว่า ขณะนั้นเลวเท่าเขา เพราะขณะนั้นเป็นอกุศลจิตของตนเอง ถ้าดีกว่าเขา คือ ไม่ว่าใครจะเลวหรือใครจะทำไม่ดี ผู้นั้นก็มีสติสัมปชัญญะที่กุศลจิตจะเกิด ไม่ต้องไปเดือดร้อน ใครจะเป็นจะตายก็ต้องเป็นไปตามกรรมทั้งนั้น ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่ว่าอกุศลจิตที่เกิดขณะนั้นเป็นสภาพที่เศร้าหมอง เป็นอกุศล
~ อนุโมทนา คือ พลอยยินดีในกุศลของผู้อื่นกระทำ ส่วนมุทิตา คือ เวลาที่สัตว์อื่นได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็มีจิตยินดีในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่บุคคลนั้นได้ ไม่ริษยา
~ เมื่อไม่ติด ไม่ยินดีในกาม โทสะก็จะต้องลดน้อยลงเป็นของธรรมดา เพราะเหตุว่าถ้าใครติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะมาก โทสะของคนนั้นก็มากด้วย เพราะเหตุว่าเมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ต้องการ ขณะนั้นก็เกิดความขุ่นเคือง แต่ว่าเป็นผู้สละความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะลงไป ก็ย่อมเกิดโทสะน้อยลงไปด้วย
~ ผู้ที่มีความประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็ย่อมจะรู้สึกตัวว่า ตนเองเป็นผู้มีสภาพธรรมที่ไม่ดี ในขณะนั้นก็จะรู้สึกเป็นทุกข์โทมนัส (ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ)
~ ทำอกุศลแล้วก็ย่อมกลัวผลของอกุศลกรรม ที่จะต้องเกิดขึ้นกับตน ในขณะที่หวั่นไหว กลัวโทษ กลัวผลของอกุศลกรรม ในขณะนั้นก็เป็นทุกข์โทมนัส (ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ)
~ สัจจะ (ความจริงใจ) หมายความถึงกุศลจิตซึ่งตรงต่อการอบรมเจริญกุศล เพื่อเป็นบารมี (คุณความดีที่จะทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) ยิ่งขึ้น ไม่คลาดเคลื่อนจากความคิดที่เป็นไปในกุศล ว่า จะละเว้นการเบียดเบียนผู้อื่นด้วยวาจาที่ไม่น่าฟัง เพราะรู้ว่าทำให้คนอื่นเสียใจ แต่ว่าบางครั้งเวลาโกรธก็ลืมสัจจะนั้นเสียแล้ว หรือว่าไม่ตรงต่อการยับยั้งที่จะไม่พูดวาจาที่ไม่น่าฟังนั้น
~ อกุศลเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์ในขณะนั้น ก็ยังจะสะสมเพิ่มกำลังขึ้นเรื่อยๆ
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๑๕
... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณและสำนึกในพระคุณของท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านวิทยากรและผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน
"...ผู้ที่มีความประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็ย่อมจะรู้สึกตัวว่า ตนเองเป็นผู้มีสภาพธรรมที่ไม่ดี ในขณะนั้น ก็จะรู้สึกเป็นทุกข์โทมนัส (ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ) ..."
ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของ อ.คำปั่น อักษรวิลัย ครับ
~ อกุศลเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์ในขณะนั้น ก็ยังจะสะสมเพิ่มกำลังขึ้นเรื่อยๆ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ