ยันต์

 
chaweewanksyt
วันที่  17 ต.ค. 2558
หมายเลข  27107
อ่าน  1,066

อยากทราบความหมายและความเป็นมา ของ ยันต์ ค่ะ...นอกจากจะะเป็น อักษร ย่อ สั้น เพื่อให้จำง่ายและคล่องปาก จะได้นำไปปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนได้รวดเร็วแล้ว..ยังเป็นมงคลตื่นข่าวอีกอย่างหรือไม่ค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 17 ต.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก มีคำพ้องเสียงกันอยู่ ๒ คำ ซึ่งเขียนต่างกันแต่อ่านออกเสียงเหมือนกัน คือ คำว่า ยันต์ กับ ยัญ ยันต์ คำแรก เป็นการกล่าวถึงดิรัจฉานวิชา เป็นวิชาที่ขวางทางสวรรค์และนิพพาน เป็นไปกับอกุศล เป็นเรื่องของความไม่รู้ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง พอกพูนความติดข้อง ความไม่รู้ ความเห็นผิดให้มากขึ้น เป็นโทษกับผู้นั้น และยังส่งเสริมให้ผู้อื่นเชื่อถือในสิ่งผิดๆ อีกด้วยว่าจะทำให้แคล้วคลาดหรือปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และการกระทำอย่างนั้น ไม่ใช่มงคลอย่างแน่นอน (เป็นอกุศลแล้ว จะเป็นมงคลได้อย่างไร) เรื่องของอกุศล เรื่องของความเห็นผิด ก็มีทุกยุคทุกสมัย และที่สำคัญ ปฏิบัติธรรม เกิดไม่ได้ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจ มีแต่จะปฏิบัติผิดเท่านั้นเองเพราะไม่มีความเข้าใจอะไรเลย
ส่วนคำว่า ยัญ มีความหมายกว้างขวางมาก ในคำสอนทางพระพุทธศาสนาแล้ว จะเป็นไปในทางฝ่ายที่ดีทั้งหมด หมายถึง การบูชา หมายถึง การสละ อย่างเช่น ในเรื่องของการให้ทาน สละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น ก็เป็นยัญ (แม้ของให้ที่จะให้ และ ผู้รับ ก็เป็นยัญด้วยโดยนัยนี้) เป็นการสละความความตระหนี่ความเห็นแก่ตัว เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น
การรักษาศีล ก็เป็นยัญ เพราะสละความเยื่อใยในตน มุ่งที่จะน้อมประพฤติตามสิกขาบท โดยงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการลักทรัพย์ เป็นต้น
การถึงพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่ง ก็เป็นยัญ เป็นการมอบตนแด่พระรัตนตรัย เพื่อฟังคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และน้อมประพฤติตามคำสอนของพระองค์
กุศลระดับขั้นฌาน ความสงบแนบแน่นของจิต ก็เป็นยัญ เพราะสละนิวรณ์ ซึ่งสภาพธรรมที่กางกั้นไม่ให้เป็นไปในทางกุศลได้ (นิวรณ์ได้แก่ ความติดข้องในกาม ความโกรธ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความง่วงเหงาหาวนอนท้อแท้ท้อถอย ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม บางนัยแสดงครอบคลุมว่าอกุศลทั้งหมดเป็นนิวรณ์ เพราะในขณะที่อกุศลเกิดขึ้นนั้น กุศลเกิดขึ้นไม่ได้เลย) เมื่อฌานจิตเกิดขึ้น ก็ข่มนิวรณ์ได้ เป็นการสละได้ตลอดเวลาที่ฌานจิตเกิดขึ้น
วิปัสสนาญาณ ขั้นต่างๆ ที่เป็นปัญญาเห็นแจ้งในสภาพธรรม ก็เป็นยัญ เพราะสละกิเลสอันเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญญาที่สามารถดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น ถึงความเป็นพระอรหันต์ ในขั้นของอรหัตตมรรค กิเลสที่ดับได้แล้ว ไม่เกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ นอกจากนั้น ยัญ ยังมีนัยที่กล่าวถึงการแสดงธรรมด้วย แม้การแสดงธรรม การกล่าวคำจริง เพื่อประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ก็เป็นยัญ เพราะฉะนั้นแล้ว ยัญ ในทางพระพุทธศาสนา ก็ครอบคลุมความดีทั้งหมดในชีวิตประจำวัน จนถึงสูงสุด คือการดับกิเลสตามลำดับขั้นจนกระทั่งดับได้หมดสิ้น
ดังนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์ คือ กุศลธรรม ความดีทั้งหลาย ไม่ใช่การไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ด้วยความคลาดเคลื่อนจากพระธรรมคำสอน และความดีทั้งหลายจะเจริญขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เมื่อมีความเข้าใจถูกแล้ว ก็เป็นการป้องกันไม่ให้ชีวิตดำเนินไปในฝ่ายผิด ครับ
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 17 ต.ค. 2558

ขออนุโมทนาที่ให้ความรู้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chaweewanksyt
วันที่ 20 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

สาธุ

สาธุ

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Darudsakorn
วันที่ 21 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 21 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Jarunee.A
วันที่ 9 ส.ค. 2566

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ