ละกิเลส หรือ ละความไม่รู้ ละอะไรก่อน

 
chatchai.k
วันที่  26 ต.ค. 2558
หมายเลข  27150
อ่าน  3,204

ท่านที่หันมาสนใจในพระพุทธศาสนา มักคิดว่าต้องเริ่มด้วยการลด หรือละกิเลสให้น้อยลงก่อนสิ่งอื่นใด เรียนขอความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 26 ต.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละคำที่พระองค์ตรัสนั้น เป็นไปเพื่อปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ซึ่งเมื่อได้ยินคำไหน ก็ค่อยๆ เข้าใจไปในแต่ละคำ อย่างเช่น คำว่า กิเลส กิเลสคืออะไร เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่เรา

กิเลส เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เมื่อกิเลสเกิดขึ้นย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง โลภะ เป็นสภาพที่ติดข้อง ผูกพัน ยินดีพอใจ ชอบใจ ในชีวิตประจำวันเรามีโลภะเป็นปกติ โลภะมีทั้งระดับที่เกิดขึ้นพอใจชอบใจเป็นปกติ และมีทั้งระดับที่มีกำลังแรงกล้าถึงขั้นที่ล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรม ทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน โลภะเป็นกิเลส ต่างกันกับอโลภะ ซึ่งเป็นกุศลธรรม เราไม่สามารถบังคับไม่ให้โลภะเกิดขึ้นได้ เพราะว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่ถ้าเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญปัญญา ก็สามารถรู้ลักษณะของโลภะเมื่อโลภะเกิดขึ้นปรากฏได้

โทสะ เป็นสภาพที่ประทุษร้าย ขุ่นเคือง ไม่พอใจ โกรธ หงุดหงิด ทั้งหมดเป็นลักษณะของโทสะ โทสะมีหลายระดับขั้น ในชีวิตประจำวันโทสะก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ เช่นในขณะที่โกรธไม่พอใจบุคคลบางคนแล้ว กล่าวคำที่ไม่น่าฟังกับบุคคลนั้นออกไปขณะนั้นก็รู้ได้ว่าเป็นโทสะ นอกจากนั้นแล้วขณะที่น้อยใจ หรือ กลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวภัยในชีวิต กลัวอันตรายต่างๆ กลัวความเจ็บป่วยเป็นต้น ก็เป็นกิเลสประเภทโทสะ เพราะเป็นลักษณะที่ไม่ชอบในอารมณ์

โมหะ เป็นความหลง เป็นความไม่รู้ ขณะที่โมหะเกิดขึ้นย่อมเป็นความมืดบอดเป็นความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่เข้าใจโลก ไม่เข้าใจตัวเอง ไม่เข้าใจกุศลไม่เข้าใจอกุศล ไม่เข้าใจกรรมและผลของกรรม ไม่เข้าใจหนทางที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลส พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าโมหะ (หรืออวิชชา) เป็นมูลรากของอกุศลธรรมทั้งหลาย

กิเลสไม่ได้มีเพียงแค่นี้ ยังมีมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) มานะ (ความสำคัญตน) อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อบาป)

อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่านไม่สงบ) ถีนะ (ความท้อแท้ท้อถอยหดหู่) และวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม)

กิเลสทั้งหลายทั้งปวงนี้ จะละได้ด้วยปัญญาขั้นที่เป็นโลกุตตระ และละได้ตามลำดับมรรค กล่าวคือ มรรคเบื้องต้น คือ โสตาปัตติมรรค ละความเห็นผิด และละความสงสัยในสภาพธรรม ส่วนกิเลสที่เหลือยังละไม่ได้ ปัญญาขั้นอนาคามิมรรค ละโทสะได้ ละความติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้ กิเลสที่เหลือต้องอาศัยปัญญาขั้นอรหัตตมรรคจึงจะละได้

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว คือ กิเลสทั้งหมดจะถูกละได้ตามลำดับขั้น อันดับแรกจะละโลภะ โทสะ โมหะ ยังไม่ได้ ต้องละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนสัตว์บุคคลก่อน กิเลสที่เหลือจะละได้เมื่อปัญญาขั้นสูงกว่านั้น ทั้งหมดทั้งปวงนั้นจะขาดปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นไม่ได้ เลย ขณะที่เข้าใจ ก็ละความไม่เข้าใจ

ดังนั้น จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ขัดเกลาละคลายความไม่รู้และกิเลสทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่ด้วยความหวังความต้องการ หรือ ด้วยความเป็นตัวตนที่ไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เป็นกิจของปัญญาที่ทำกิจหน้าที่ จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมในที่สุด ถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถละความไม่รู้และกิเลสทั้งหลายได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
peem
วันที่ 27 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
swanjariya
วันที่ 28 ต.ค. 2558

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สิริพรรณ
วันที่ 28 ต.ค. 2558

กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า
ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยละเอียด โดยเคารพ ก็รีบร้อนไปปฏิบัตด้วยความเป็นตัวตน ทำให้หลงทางห่างไกลจากทางที่ถูกต้อง ทางที่ตรงออกไปทุกขณะมากขึ้นๆ เสียหายทั้งต่อตนเองและผู้อื่นที่หลงเชื่อตามๆ กันไป
กราบขอบพระคุณยินดีในกุศลท่านผู้แสดงความจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกท่านด้วยความเคารพค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Guest
วันที่ 29 ต.ค. 2558

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในพระสัทธรรมด้วยความเคารพยิ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 30 ต.ค. 2558

สาธุ อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
umpai
วันที่ 31 ต.ค. 2558

"กิเลสทั้งหมดจะถูกละได้ตามลำดับขั้น อันดับแรกจะละโลภะ โทสะ โมหะ ยังไม่ได้ ต้องละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนสัตว์บุคคลก่อน กิเลสที่เหลือจะละได้เมื่อปัญญาขั้นสูงกว่านั้น ทั้งหมดทั้งปวงนั้นจะขาดปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นไม่ได้ เลย ขณะที่เข้าใจ ก็ละความไม่เข้าใจ

ดังนั้น จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ขัดเกลาละคลายความไม่รู้และกิเลสทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่ด้วยความหวังความต้องการ หรือ ด้วยความเป็นตัวตนที่ไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เป็นกิจของปัญญาที่ทำกิจหน้าที่ จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมในที่สุด ถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถละความไม่รู้และกิเลสทั้งหลายได้"

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 1 พ.ย. 2558

เราสะสมกิเลสมานับชาติไม่ถ้วน เมื่อเริ่มสนใจศึกษาธรรมจะละกิเลสเพียงชาติเดียวหรือสองชาติไม่ได้ ต้องอาศัยการอบรมปัญญาที่ยาวนานนับชาติไม่ได้ จนกว่าจะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ และก่อนอื่นการศึกษาธรรมเพื่อละความไม่รู้ ละความเห็นผิด ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 26 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Jarunee.A
วันที่ 7 ส.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ