ความเห็นแก่ตัว

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  10 พ.ย. 2558
หมายเลข  27195
อ่าน  1,761

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอเรียนถามถึง "ความเห็นแก่ตัว" ว่า หมายถึง ธัมมะอะไรบ้าง คำบาลีอะไร ยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกให้ด้วยค่ะ

ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 พ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเห็นแก่ตัว เป็นอกุศลธรรม ใครก็ตามที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังมีความเห็นแก่ตัวแน่นอน เมื่อมีความรู้สึกว่าเป็นเราหรือว่าเป็นตัวตน ก็ย่อมมีความเห็นแก่ตัวมากกว่าที่จะเห็นแก่บุคคลอื่น เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันจึงมีความรักตัว และก็ทำทุกอย่างเพื่อตัวเองด้วยความเห็นแก่ตัวในขณะใด ในขณะนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด ดังนั้น สภาพธรรมที่จะเป็นเครื่องขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ก็คือ กุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดี เพราะเหตุว่าทุกขณะที่กุศลธรรม (กุศลจิต และ โสภณเจตสิก) เกิดขึ้นเป็นไปนั้น จะไม่ปราศจากอโลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่ติดข้อง ไม่โลภ เลย ขณะใดที่อโลภะเกิด ขณะนั้นละความเห็นแก่ตัว ซึ่งจะตรงกันข้ามกับความติดข้องอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น การทำดีและศึกษาพระธรรมจึงเป็นไปเพื่อขัดเกลาความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง จนกว่าจะสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 10 พ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อกล่าวโดยรวมแล้ว ขณะที่เป็นอกุศล เป็นการเห็นแก่ตัว ซึ่งไม่ใช่กุศล ไม่ใช่การเกื้อกูลทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น, เห็นแก่ตัวเมื่อใด ขณะนั้นธรรมที่เป็นอกุศลธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน แต่ถ้าเป็นกุศลธรรมแล้ว ไม่เห็นแก่ตัว แต่ขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ดังนี้

การให้ทาน ก็ขณะนั้นละความเห็นแก่ตัว เห็นประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ถ้าไม่มีประโยชน์สุขของบุคคลอื่นให้ระลึกหรือให้คิดถึง ทานกุศลในขณะนั้นก็เป็นไปไม่ได้ ก็ยังคงคิดถึงแต่ประโยชน์สุขของตนเอง แต่ขณะใดที่มองเห็นบุคคลอื่นที่มีความจำเป็น ที่ควรที่จะได้รับวัตถุปัจจัยเป็นการช่วยเหลือเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลนั้น ในขณะที่สละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น กุศลขั้นทาน ก็ละความเห็นแก่ตัว โดยเห็นประโยชน์สุขของบุคคลอื่น

การรักษาศีล วิรัติงดเว้นทุจริตเบียดเบียนผู้อื่นทางกาย ทางวาจา ขณะนั้น ก็เป็นการละความเห็นแก่ตัว คือไม่คิดถึงแต่ประโยชน์สุขของตนเอง เนื่องจากว่าในขณะที่วิรัติทุจริตกรรมนั้นก็ต้องคิดถึงประโยชน์สุขของผู้นั้นด้วย มิฉะนั้นก็จะเบียดเบียนผู้นั้นได้ แต่ขณะใดที่เว้นการเบียดเบียน ด้วยกายบ้าง วาจา บ้าง ในขณะนั้นก็ละความเห็นแก่ตัว โดยเห็นประโยชน์สุขของบุคคลอื่น รวมถึงการกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย ไม่ใช่เพียงแค่งดเว้นจากทุจริต เท่านั้น

การอบรมเจริญปัญญา เป็นการสละความเห็นแก่ตัวได้จริงๆ เพราะสามารถที่จะดับอกุศลได้ในที่สุด และความเข้าใจถูกเห็นถูกของตนเอง ยังจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ด้วยการให้เกื้อกูลให้ผู้อื่นได้มีความเข้าใจถูก ด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tanrat
วันที่ 11 พ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 11 พ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก ว่า บุคคลผู้จะดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีเหลือ คือ พระอรหันต์ การดับกิเลส ดับได้ตามลำดับขั้น การเป็นพระอริยบุคคลทุกขั้น เป็นได้ด้วยปัญญาและต้องดำเนินตามหนทางที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย คือ อริยมรรค มีองค์ ๘ ที่เริ่มด้วย ความเห็นที่ถูกต้อง เพราะถ้าไม่มีปัญญาไม่ดำเนินตามหนทางที่ถูกต้องแล้ว ไม่สามารถเป็นพระอริยบุคคลได้เลย อย่าว่าแต่ถึงพระอรหันต์เลย พระโสดาบันก็ยังบรรลุไม่ได้เพราะไม่มีปัญญา และที่สำคัญจึงต้องมีปัญญาเข้าใจถูกเห็นถูก พร้อมทั้งเข้าใจด้วยว่าการเป็นพระอริยะเป็นได้ด้วยอะไร เพราะอะไรๆ ก็ไม่สามารถหลอกปัญญาได้ ปัญญาทำกิจของปัญญา เมื่อปัญญาในระดับขั้นที่เป็นโลกุตตระเกิด ก็ทำกิจดับกิเลส สูงสุดคือปัญญาที่เกิดพร้อมอรหัตตมรรค ดับกิเลสได้หมดสิ้น ซึ่งก็คือ ธรรมที่เกิดทำกิจของธรรม ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 23 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 7 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ก.ไก่
วันที่ 25 พ.ย. 2565

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jarunee.A
วันที่ 13 ส.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ