สัมมัปปธาน
เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน
"สัมมัปปธาน" หมายความว่าอย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สัมมัปปธาน คือ ความเพียรชอบ ๔ ประการ หมายถึง สภาพธรรม คือ วิริยเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตที่เป็นไปในวิปัสสนาภาวนา เพราะเป็นส่วนหนึ่งของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ประการ วิริยเจตสิกที่เป็นสัมมัปปธานมีอาการ ๔ อย่าง คือ
๑. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปอกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้น มิให้เกิดขึ้น
๒. ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว มิให้เกิดขึ้นอีกต่อไป
๓. ภาวนาปธาน เพียรอบรมเจริญกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เกิดมีขึ้น
๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั่งมั่นเจริญงอกงามไพบูลย์
ดังนั้น สัมมัปปธาน จะต้องเป็น วิริยเจตสิกที่เกิดกับจิตที่ดีงาม ที่เป็นกุศลธรรม ซึ่ง วิริยเจตสิก ความเพียร เกิดกับจิตเกือบทุกประเภท เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นก็มีความเพียร ที่เป็น วิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว ครับ เป็นความเพียรที่ผิด ไม่ถูกต้องในขณะที่ทำงาน ก็เป็นการทำงาน ของจิต เจตสิก ที่เกิดขึ้น ก็ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดขึ้นในขณะที่เป็นกุศล อกุศล เพราะฉะนั้น ขณะที่ทำงาน ขณะที่เป็นอกุศล มีความเพียรที่จะทำด้วยความต้องการ ในขณะนั้นก็มีความเพียร แต่ในเมื่อเป็นอกุศล จะเป็นสัมมัปปธานไม่ได้ เพราะ อกุศลเกิดขึ้นในขณะนั้น ไม่ใช่ สัมมัปธาน ที่จะไปถึงการดับกิเลส เพราะสัมมัปปธาน ต้องเป็นกุศลธรรม และ ต้องประกอบด้วยปัญญา เป็นสำคัญ ความเพียรทุกอย่าง จึงไม่ได้ว่าจะต้องเป็น สัมมัปปธาน ครับ เพราะ ความเพียรที่เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลก็มี สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราไม่กล่าวว่า ควรปรารภความเพียรทุกอย่าง และเราไม่กล่าวว่า ไม่ควรปรารภความเพียรทุกอย่าง ความเพียรได้ กระทำแล้ว กุศลเจริญอกุศลเสื่อม ความเพียรนั้นควรเจริญ ความเพียรใด กระทำแล้ว กุศลเสื่อม อกุศลเจริญความเพียรนั้น ไม่ควรเจริญ
ในความละเอียดของสัมมัปปธาน อีกประการหนึ่ง คือ สัมมัปปธานต้องเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ขณะที่ทำงาน แม้กุศลจิตเกิดที่เป็นกุศลขั้นทาน ขั้นศีล แต่ก็ไม่เป็นสัมมัปธาน ที่จะเป็นไปเพื่อถึงการดับกิเลสได้ ครับ แต่กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา คือ ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้น มีความเพียรชอบ ที่เป็นสัมมาวายะ เพียรระลึกลักษณะของสภาพธรรม และเป็นสัมมัปปธานในขณะนั้นด้วย คือ ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ครับ
ดังนั้น ในชีวิตประจำวัน แม้ในขณะที่ทำงาน ขณะที่เป็นอกุศลในขณะที่ทำงาน มีความต้องการทำกิจธุระต่างๆ มีความเพียร แต่เพียรเป็นไปในอกุศล ไม่ใช่ สัมมัปปธาน และแม้เกิดกุศลจิต ขั้นทาน ศีล มีความเพียรในกุศลขั้นทาน ศีล ก็ไม่จัดเป็น สัมมัปปธานเพราะ ไม่เป็นความเพียร ที่จะเป็นไปเพื่อถึงการดับกิเลส และ ไม่ประกอบด้วยปัญญาแต่ ขณะใดสติปัฏฐานเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรม ขณะนั้น มี สัมมัปปธานเกิดร่วมด้วยเป็นความเพียรชอบ สัมมาวายามะ อันจะถึงการดับกิเลสได้ ครับ เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐาน จึงไม่มีตัวตนที่จะทำความเพียรประการใด ไม่มีตัวตนที่จะทำสัมมัปปธาน แต่อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในเรื่องของสภาพธรรม ก็จะเป็นปัจจัย ให้ความเข้าใจมากขึ้น จนมีเหตุปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้น ก็มีความเพียรชอบ ที่เป็นสัมมัปปธาน ทำกิจหน้าที่ ตามความเหมาะสมแล้ว ครับ
เชิญคลิกฟังเพิ่มเติมที่นี่ครับ
ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่าเราเจริญสัมมัปปธาน ๔ แล้วหรือหนอ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สัมมัปปธาน เป็นความเพียรโดยชอบ เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส จนกว่าจะดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น มีหลายระดับ ทั้งที่เป็นโลกิยะ และ โลกุตตระ เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ วิริยเจตสิก
และก็จะต้องกล่าวถึงวิริยเจตสิกด้วย ว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เกิดร่วมกับจิตเกือบทุกประเภท [เว้นไม่เกิดกับอเหตุกจิต ๑๖ ดวงเท่านั้น คือ ปัญจทวารราวัชชนจิต ๑ ดวง ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง สัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง สันตีรณจิต ๓ ดวง เพราะจิต ๑๖ ดวงนี้กระทำกิจของตนๆ ได้ โดยไม่มีวิริยะเป็นปัจจัยเลย] ในขณะที่ฟังพระธรรม ขณะที่ให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น ก็มีความเพียรเกิดร่วมด้วย หรือแม้กระทั่งขณะที่อกุศลเกิดขึ้น ไม่พอใจ โกรธขุ่นเคืองใจ หรือ ติดข้องยินดีพอใจ เป็นต้น ก็มีความเพียรเกิดร่วมด้วย ดังนั้น ความเพียรจึงมีทั้งเพียรที่เป็นกุศล และเพียรที่เป็นอกุศล ด้วย ดังนั้น ความเพียรที่เกิดขึ้นนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นไปในเรื่องใด ไม่ใช่ว่าขึ้นชื่อว่าความเพียรที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วจะเป็นสัมมัปปธานไปทั้งหมด ถ้าเป็นไปกับด้วยอกุศลแล้ว ไม่ใช่สัมมัปปธานอย่างแน่นอน ที่จะเป็นสัมมัปปธาน ก็ต้องเป็นความเพียรที่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) เป็นไปในการขัดเกลาละคลายกิเลส ความเพียรที่เป็นไปกับการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา พร้อมทั้งเจริญกุศลทุกๆ ประการ เป็นความพียรที่ควรประกอบ ควรอบรมให้มีขึ้นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะคล้อยไปสู่การดับกิเลสได้ในที่สุด ครับ
..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...