และนี่คือ ... สนทนาธรรมบ้านคุณณภัทร ๑๓ พ.ย.๕๘
เมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ท่านอาจารย์สุจินต์ได้เมตตาเดินทางไปสนทนาธรรม ที่ บ้านของสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ หมายเลข ๕๗๕ คุณณภัทร เรืองจันทร์ฤทธิ์ สมาชิกฯท่านอื่นที่มีโอกาสร่วมสนทนาธรรมในครั้งนี้ ได้บันทึกเนื้อหาและภาพบางส่วนมาเอื้อเฟื้อเกื้อกูลให้ทุกท่านได้ดูกัน ...
- ธรรมะลึกซึ้งมาก ต้องฟังแล้วพิจารณาให้ค่อยๆ เข้าใจ. การสนทนากันก็ช่วยให้เข้าใจขึ้น
- เริ่มต้นด้วยคำว่า ธรรมะคืออะไร? พิจารณาให้มั่นคงขึ้นๆ หากดูเหมือนจะเข้าใจ ย่อมไม่มั่นคงและสับสนอยู่
- การเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ย่อมนำมาซึ่งความเข้าใจที่มากขึ้น
- ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา มั่นคงหรือยัง?
- หากจะเข้าใจได้จริงๆ ต้องละเอียดมากแม้ในความหมายของคำแต่ละคำ
- เริ่มด้วยธรรมะคือสิ่งที่มีอยู่จริง หากไม่มีจริงย่อมเสียเวลาเปล่า
- เมื่อความจริงมีอยู่แต่รู้ได้ยาก พระพุทธองค์จึงทรงแสดงให้เข้าใจได้ถึงสิ่งน้ัน
- เริ่มต้นของธรรมะคือเริ่มที่เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่มีจริงไหมคะ?
- เมื่อพิจารณาให้ดีย่อมรู้ได้ด้วยตนเองว่ากำลังของความเข้าใจของแต่ละคนมีเพียงใด
- ได้ยินเป็นธรรมะหรือเปล่า? ตอบว่า น่าจะเป็น ไม่ได้ ธรรมะไม่มีคำว่า "น่าจะ" ธรรมะต้องตรง ใช่คือใช่ ไม่ใช่คือไม่ใช่
- ก่อนได้ยิน มีอะไรไหม? ไม่มี พอได้ยินก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป นี่คือความจริงหรือเปล่า เราจะเป็นเราได้ไหม?
- เมื่อไม่รู้ความจริงนี้ จึงทำให้คิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา
- ที่ทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีอยู่จริง จึงเรียกว่า ธรรมเทศนา
- ถ้าไม่รู้จักความจริงเช่นนี้ ไม่รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่
- ทุกอย่างที่มีขึ้น ย่อมต้องดับไปแน่นอน นี้คือความจริงที่สุด
- พระพุทธรูปเป็นเพียงตัวแทนเท่านั้น จะกราบไหว้มากมายเพียงใด หากไม่เข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดงย่อมไม่มีทางรู้จักพระพุทธองค์ได้เลย
- ธรรมะมีเพียงแต่ละหนึ่ง ไม่มีทางรู้ได้เลยหากไม่ได้ฟังพระธรรม
- กล่าวได้ว่าทุกอย่างเป็นธรรมะ แต่อะไรละที่เป็นธรรมะ ต้องเข้าใจได้จนถึงธรรมะทีละหนึ่ง
- ถ้ายังมีเรา ดับอะไรไม่ได้เลย
- ธาตุต่างๆ รวมกัน กลายเป็นเราไปหมดด้วยความไม่รู้ความจริง
- กำลังเห็นอยู่นี่ ห้ามได้ไหม เพราะเกิดแล้ว แล้วก็ดับไปแล้ว ตัวเราจะมาทำอะไรได้
- ความอยากมีจริงไหม? มีจริงจึงเป็นธรรมะ ตอนนี้อยากไหม? อยากก็ไม่รู้เพราะความอยากมีหลายระดับ ละเอียดมาก ท่านจึงทรงแสดงสภาพธรรมตามชื่อไว้หลายชื่อเพื่อมิให้สับสน
- ตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า กล่าวว่าไม่ใช่เราได้ แล้วจริงๆ เป็นอะไร?
- เริ่มศึกษาโดยละเอียดขึ้นตามประเภทของธรรมะที่ไม่รู้อะไรเลยหนึ่ง กับธรรมะที่รู้ทั้งหมดเลย เมื่อเกิดแล้วต้องรู้ อีกหนึ่ง
- ขณะนี้มีธรรมะที่เป็นธาตุรู้ไหม? เห็นหรือเปล่า ได้ยิน คิดนึกหรือเปล่า?
- ฟังพระธรรมต้องเริ่มเข้าใจความจริงเช่นนี้ มิเช่นนั้นไม่มีประโยชน์เลย
- ฟังแล้ว ฟังอีกๆ จนกว่าจะเข้าใจขึ้นๆ เพิ่มขึ้นๆ อดทนไหม? อดทนได้เพราะเข้าใจ
- ทรงแสดงใบไม้ในกำมือ เพราะได้ฟังได้ศึกษาแล้วสามารถเข้าใจได้จริงๆ
- กราบไหว้พระพุทธเจ้าที่พระปัญญาคุณ พระมหากรุณาคุณ และพระบริสุทธิคุณ มิใช่ที่อื่นเลย
- พุทธกิจในแต่ละวัน ทรงพักผ่อนพระวรกายโดยเดินจงกรมและบรรทมเพียงวันละ ๒ ชั่วโมง นอกนั้นทรงเมตตาเกื้อกูลสัตว์โลกโดยแสดงธรรมโดยตลอด เห็นพระมหากรุณาคุณหรือไม่?
- ทรงแสดงปริยัติซึ่งเป็นความจริงเดี๋ยวนี้ให้ได้เข้าใจในขั้นฟังและไตร่ตรอง ค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ ว่าสิ่งที่กำลังปรากฎนั้นหมายความว่าอย่างไร จนกว่าจะได้เข้าใจสิ่งที่ปรากฎนั้นจริงๆ เปรียบเสมือนเห็นน้ำส้ม. แต่ยังไม่ได้ชิม จนกระทั่งได้ชิมจริงๆ จึงรู้ได้ว่าเป็นเช่นไร
- ปริยัติต้องรอบรู้ในพุทธพจน์ แต่ต้องทีละคำจริงๆ จนมั่นคงไม่ว่าพบที่ใด จนเริ่มสู่ความเข้าใจธรรมะนั้นทีละหนึ่งจริงๆ จึงเป็นปฏิปัตติ จนกว่าจะคลายความเป็นเรา คลายความติดข้องลง จนเป็นปฏิเวธ
- ดังนั้น หากไม่รอบรู้พระปริยัติแล้ว ไม่มีทางถึงปฏิปัตติแน่
- กรรมฐาน หมายความถึง เป็นที่ตั้งแห่งการกระทำของปัญญา หากไม่รู้ความหมายนี้แล้วก็นำไปใช้ผิดๆ โดยไม่รู้ไม่เข้าใจเลย เช่น ไปนั่งกรรมฐาน ไปเข้าห้องกรรมฐาน ไปสู่ป่าทำกรรมฐานเป็นต้น
- ไม่มีใครทำลายพระพุทธศาสนาได้นอกจากความเห็นผิดของพุทธบริษัทเอง เข้าใจเอง พูดเอง แล้วชักชวนให้เห็นผิด
- ให้ละชั่ว ทำความดี แล้วชำระจิตให้บริสุทธิ์ ใครกล่าว ปัญญาใคร? เมื่อฟังไม่เข้าใจแล้วก็มาบอกให้ไปทำกันโดยไม่เข้าใจอะไรเลย ถูกหรือผิด?
- แม้จะเดินตามหลังพระพุทธองค์ จับชายจีวร แต่ไม่เข้าใจพระธรรม ก็เหมือนอยู่ไกลแสนไกล แต่ผู้ที่เข้าใจพระธรรม แม้อยู่ไกลแสนไกลก็เหมือนอยู่ใกล้พระพุทธองค์ที่สุด
- เคารพพระธรรมสูงสุดต้องฟังพระธรรมโดยละเอียดรอบคอบให้สอดคล้องกันทั้งหมดในพระไตรปิฎก ไม่คิดเอาเอง
- เมื่อยังเป็นตัวตนอยู่ กิเลสทั้งหลายย่อมมาครบ และเป็นที่นำไปสู่ความเสื่อมลงๆ
- รู้เรื่องราวในพระไตรปิฎก ตายไปก็จำไม่ได้ ลืมหมด เพราะไม่ได้เข้าใจพระธรรมได้จริงๆ
- ความเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดต้องให้แต่สิ่งที่จริงและถูกต้อง ไม่มีใครต้องการของปลอม ของเทียม หวังดีที่สุดต้องให้เข้าใจพระธรรม ความเป็นจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีก
- ช่วยเหลือเรื่องอื่นๆ สบายขึ้นแต่กิเลสเต็ม ช่วยเหลือให้เข้าความจริง ย่อมเป็นคนดีขึ้นๆ
- ฟังอย่างนี้แล้ว อดทนไหมที่จะฟังอีก
- มีผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรมตามตำราหลายเล่ม รู้หมด แต่ตอบคำถามว่า เดี๋ยวนี้มีธรรมไหม? ไม่ได้ หมายความว่าอย่างไร?
- ศึกษาพระธรรมด้วยความเข้าใจว่าธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องละ จะปลอดภัยที่สุด
สนทนาภาคบ่ายต่อ ...
- ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นธรรมะ เมื่อตอบคำถามย่อมต้องไม่มีความเป็นเราเช่นกัน
- เมื่อศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ย่อมมั่นคงว่า ศีลเป็นสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้เช่นกัน
- ความจริงที่สุดคือสิ่งที่ปรากฎเกิดแล้วดับ เช่นนี้ไปเรื่อยๆ สืบต่อไปเรื่อยๆ แล้วจะไปยึดว่าสิ่งนั้นยังอยู่ ถูกต้องไหม? อาหารที่รับประทานเมื่อสักครู่อยู่ไหนแล้ว เป็นต้น
- รูปที่ปรากฎยิ่งกว่านักมายากล เมื่อไม่เห็นการเกิดดับ จึงหลงผิดว่าเที่ยง ยังอยู่
- เมื่อคิดเกิดขึ้นแล้ว จะไม่ให้คิดได้อย่างไร? แต่ให้เข้าใจถูกว่าไม่ใช่เรา
- จิตที่ท่านแสดงว่ามี ๘๙ ดวง นั้น หากแยกย่อยแล้วย่อมประมาณไม่ได้เลย เช่น โลภมูลจิตมีระดับหลากหลายที่สุด
- ชาตินี้ทั้งชาติมีแต่ธรรมะ ไม่ใช่เรา
- กิเลสอยู่ที่ไหนยังไม่รู้ แล้วจะคิดดับกิเลส ย่อมไร้สาระ
- ต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ ก่อนจะมีใครเป็นที่พึ่ง ก็ต้องรู้ก่อนว่าพึ่งอย่างไร อะไรที่เป็นที่พึ่ง?
- ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี แต่ธรรมะนั้นมีหลากหลาย จึงมีทั้งธรรมฝ่ายดีและไม่ดี
- ใครที่ชวนกันไปปฏิบัติโดยไม่รู้อะไร กลายเป็นช่วยกันทำลายคำสอนของพระพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัว
- เข้าใจความจริง คือ ปัญญา คือสัมมาทิฏฐิ
- เข้าใจความจริงเมื่อไหร่ ก็เท่ากับละความไม่เข้าใจไปเรื่อยๆ
- การศึกษาพระธรรมที่ไม่ตรงมี ๒ แบบใหญ่ๆ คือ ศึกษาแต่คำ แต่ขาดความเข้าใจ และศึกษาด้วยความอยาก อยากรู้ไปหมด ชอบชื่อ แต่ไม่เข้าใจชื่อเลย
- ปัญญารู้แล้วละ โลภะไม่รู้แล้วติดข้อง
เรียบเรียงเนื้อหา : จักรกฤษณ์ เจนเจษฎา
ภาพถ่าย : ทัสนีย์ ภิรมย์แก้ว