สมาธิเป็นเหตุใกล้ของปัญญา?

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  18 พ.ย. 2558
หมายเลข  27234
อ่าน  1,248

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ลักขณาทิจตุกกะ ของ ปัญญา ที่ว่า สมาธิ ตสฺสา ปทฏฺฐานา ใคร่ขอคำอธิบายรายละเอียดค่ะ และอยู่ในส่วนใดตอนไหนของพระไตรปิฎกด้วยค่ะ แล้วสติเป็นเหตุใกล้ลำดับไหนของปัญญาหรือเปล่าคะ

ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 พ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ต้องเข้าใจก่อนครับว่า สมาธิอันเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา สมาธิในที่นี้คืออย่างไรที่ทำให้เกิดปัญญาและปัญญาในที่นี้หมายถึงปัญญาอะไร สมาธิหรือความตั้งมั่นแห่งจิตนั้น มีทั้งสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ เพราะฉะนั้น มิจฉาสมาธิที่เป็นความตั้งมั่นที่เป็นเอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดกับอกุศลจิตจะไม่เป็นสัมมาสมาธิและไม่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญาได้เลย เพราะปัญญาที่กล่าวถึงคือปัญญาที่รู้แจ้งตามความเป็นจริงในสภาพธรรมในขณะนี้ (รู้ทุกขอริยสัจ) โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เพราะฉะนั้น สมาธิใดที่เกิดพร้อมปัญญาที่รู้ความจริงในขณะนี้ (เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท) สมาธินั้นเป็นสัมมาสมาธิ ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น เมื่อสมาธิตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ปัญญาก็รู้ความจริงในสภาพธรรมนั้นที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงและอีกประการหนึ่ง สมาธิใดที่เมื่อเกิดแล้ว ทำให้เกิดการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จนถึงระดับวิปัสสนาญานและบรรลุธรรม สมาธินั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาด้วยเช่นกัน เป็นสัมมาสมาธิ แต่จะเห็นได้ว่าที่กล่าวมาจะต้องมีปัญญา มีความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว หากไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจ 4 เป็นสมมาสมาธิในการตรัสรู้ได้เลย

ดังเช่นดาบสทั้งหลายที่ได้ฌาน แต่ก็ไม่สามารถรู้ความจริงในขณะนี้ เพราะไม่มีความเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง

[เล่มที่ 66] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 392

พึงทราบความในบทว่า อถวาปิ สมาธึ นี้ดังนี้

บทว่า สมาธึ คือ ชื่อว่าสมาธิ เพราะจิตเป็นกุศลมีอารมณ์เดียว ชื่อว่าสมาธิด้วยอรรถว่ากระไร ด้วยอรรถว่าตั้งใจมั่น ชื่อว่าการตั้งใจมั่นนี้เป็นอย่างไร คือการตั้งจิตและเจตสิกไว้ในอารมณ์เดียวเสมอและโดยชอบ

สัมมาสมาธิเท่านั้นที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ซึ่งปัญญาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงปัญญาขั้นต้นที่เกิดจากการฟังนะครับ แต่เป็นปัญญาขั้นสูง ที่เป็นสัมมาทิฏฐิซึ่งก็เกิดพร้อมกับ สัมมาสังกัปปะ สัมมากัมมันตะ....และมีสัมมาสมาธิด้วย สัมมาสมาธินั้นเองที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ซึ่งอาจจะสงสัยว่าแล้วการฟังไม่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญาหรือ ทำไมเป็นสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ เหตุผลคือที่กล่าวมาเพราะปัญญาในที่นี้มุ่งหมายปัญญาระดับสูง (สัมมาทิฏฐิ) ที่เกิดพร้อมกับองค์มรรคอื่นๆ ซึ่งปัญญาขั้นการฟัง ทำให้เกิดปัญญาความเข้าใจขั้นพื้นฐาน ครับ จึงไม่ใช่เหตุใกล้ แต่ก็เป็นเหตุเช่นเดียวกันเพราะหากปราศจากการฟังแล้วปัญญาขั้นสูงก็มีไมได้เลย

ส่วนที่กล่าวว่าสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญาต้องเป็นปัญญาที่เป็นในการเจริญสติปัฏฐาน การเจริญอริยมรรคมีองค์แปดเพราะฉะนั้น สัมมาสมาธิที่เป็นเหตุใกล้ก็เป็นเรื่องของผู้ที่เข้าใจสติปัฏฐานด้วย ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 19 พ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น มีความละเอียด ลึกซึ้ง เป็นไปเพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การที่พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงจะเป็นไปเพื่อความไม่รู้ นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับผู้ฟัง ผู้ศึกษา ว่าจะมีความละเอียดในการฟัง ในการศึกษามากน้อยแค่ไหน อย่างแรกสุด ได้ยินหรือพบคำหรือข้อความใด ต้องรู้ว่า คือ อะไร อย่างเช่นจากประเด็นเรื่องของสมาธิ แล้วสมาธิคืออะไร ตามความเป็นจริงแล้ว สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตรู้ (เอกัคคตาเจตสิก) เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท ไม่มีเว้น ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดร่วมกับจิตประเภทใด เกิดร่วมกับอกุสลจิต ก็เป็นมิจฉาสมาธิ เกิดร่วมกับกุศลจิต ก็เป็นสัมมาสมาธิ (กล่าวอย่างรวมๆ ) เพราะในพระไตรปิฎกแสดง สัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นความสงบแนบแน่นของจิต เป็นฌานขั้นต่างๆ ซึ่งผลของสัมมาสมาธิ ที่เป็นฌานขั้นต่างๆ นั้น คือ ทำให้เกิดเป็นพรหมบุคคลตามระดับขั้นของฌาน

เมื่อสิ้นสุดความเป็นพรหมบุคคลแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก คือ ยังไม่พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ยังไม่พ้นจากทุกข์ในวัฏฏะ ไม่สามารถที่จะดับกิเลสใดๆ ได้เลย สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ การอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) เป็นการอบรมเจริญปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ให้มีมากขึ้น เจริญขึ้น ซึ่งในขณะนั้นสมาธิที่เกิดขึ้นก็เป็นสัมมาสมาธิด้วย เมื่อมีปัญญาเจริญขึ้นคมกล้าขึ้น เป็นโลกุตตร-ปัญญา ย่อมละกิเลสได้ตามลำดับ สูงสุดคือถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีเหลือ

สมาธิที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญานั้น จึงเป็นสัมมาสมาธิของผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ซึ่งในขณะนั้นเกิดร่วมกันกับองค์มรรคอื่นๆ คือ สัมมาทิฏฐิสัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ และ สัมมาสติ ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของความเจริญขึ้นของปัญญาที่เกิดจากการฟังการศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริง กล่าวคือ นามธรรมและรูปธรรม นั่นเอง ถ้าขาดการฟัง การศึกษา ขาดความเข้าใจพระธรรมแล้ว ทำก็ทำผิด พูดก็ผิด ทุกอย่างผิดไปหมด เป็นการพอกพูนกิเลสอกุศลให้มีมากขึ้น ทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวต่อไปอีก

ดังนั้น ประโยชน์สูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ คือ มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ....

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 24 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ