อนันตลักขณสูตร ไตรลักษณ์ หรือ ไตรลักษณะ

 
phuttha
วันที่  19 พ.ย. 2558
หมายเลข  27239
อ่าน  1,336

วันนี้กระผมได้ฟังพระธรรมในบทอนันตลักขณสูตรได้มีความรื่นเริงบันเทิงในธรรมนั้นทำให้กระผมได้เข้าใจแล้วว่ามนุษย์ทุกคนได้ตกอยู่ภายใต้ในกฎแห่งไตรลักษณ์ และได้เข้าใจแล้วว่าร่างกายคนเราเกิดจากมหาภูตทั้ง ๔ เมื่อมีการเกิดมหาภูตก็จะทำหน้าที่สร้างรูปให้เราต่อไปจนไม่สิ้นสุด ขอท่านอาจารย์ทั้งสองอธิบายและแนะนำเพิ่มเติมด้วยความเคารพ ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
phuttha
วันที่ 19 พ.ย. 2558

และกระผมได้รู้แล้วว่าทุกสิ่งอย่างได้อยู่ภายใต้กฎแห่งไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ด้วยความกรุณาของท่านอาจารย์ทั้งสองท่านผมจึงได้เข้าใจแล้วว่าการฟังธรรมนั้นนำมาเพื่อพิจารณาจนเกิดปัญญา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 19 พ.ย. 2558

ไตรลักษณ์ หรือ ไตรลักษณะ หรือจะเรียกว่า สามัญญลักษณะก็ได้ (ลักษณะทั่วไปของสภาพธรรม) คือ ลักษณะ ๓ ประการ ของสภาพธรรมที่มีจริง ที่มีปัจจัยปรุงแต่งที่เกิดขึ้นและดับไป อันเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ทั่วไป สามัญ กับทุกสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป คือ สภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิกและรูป จะต้องมีลักษณะทั่วไป ๓ ประการ อันเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า เมื่อมีลักษณะ ๓ ประการนี้ ชื่อว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็น สังขารธรรม ที่เกิดขึ้นและดับไปครับ ลักษณะ ๓ ประการ (ไตรลักษณ์) ของสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป คือ

อนิจจัง สภาวะ ลักษณะที่ไม่เที่ยงหมายถึง ลักษณะที่เป็นสาธารณะแก่สังขารธรรมทั้งปวง จิต เจตสิก รูป เป็นอนิจจัง เพราะมีอนิจจลักษณะ คือ มีการเกิดขึ้นและดับไป อนิจจลักษณะ เป็นลักษณะหนึ่งในลักษณะ ๓ (ไตรลักษณ์ หรือสามัญญลักษณะ)

ทุกขัง สภาวะ ลักษณะที่ทนได้ยาก หมายถึง ลักษณะของสภาพธรรมที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้คือต้องเปลี่ยนแปลง มีการเกิดขึ้นและดับไป ดังที่ พระผู้มีพระภาคตรัสถามพระปัญจวัคคีย์ ในอนัตตลักขณสูตรว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า" พระปัญจวัคคีย์ทูลตอบว่า "เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า"

อนัตตา สภาวะ ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน หมายถึง ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด คือ เป็นสภาพนามธรรมอย่างหนึ่ง มีลักษณะที่น้อมไปรู้อารมณ์ จะมีผู้ใดผู้หนึ่งบังคับให้นามธรรมเป็นสภาพที่ไม่รู้อารมณ์ก็ไม่ได้ หรือ สภาพที่เป็นรูปธรรม มีลักษณะที่ไม่รู้อารมณ์ ใครจะบังคับให้รู้เปลี่ยนมาเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ก็ไม่ได้ หรือสังขารธรรมเป็นสภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ใครจะบังคับให้สังขารธรรมเป็นสภาพที่เที่ยง เป็นสุข ก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้น สังขารธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงเป็นอนัตตา และแม้วิสังขารธรรมซึ่งหมายถึงพระนิพพาน เป็นสภาพที่เที่ยง (เพราะไม่เกิดดับ) เป็นสุข (เพราะทนอยู่ในสภาพเดิมได้) แต่ก็ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพของนิพพานให้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ได้ วิสังขารธรรมที่เที่ยง เป็นสุขนั้นจึงเป็นอนัตตาด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 19 พ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นหนึ่ง ไม่เป็นสอง หมายความว่า เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ พระองค์ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง ว่า ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา ก็เป็นจริงอย่างนั้น เพราะความหมายของอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นสภาพธรรมที่ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนสัตว์ บุคคล เป็นสภาพธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ ปฏิเสธต่ออัตตาอย่างสิ้นเชิง ความจริงเป็นอย่างนี้ ความเป็นอนัตตา ครอบคลุมสิ่งที่มีจริงทั้งหมด คือ จิต เจตสิก รูป และพระนิพพาน เพราะเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่มีจริง ที่ไม่ใช่ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคลในสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ได้เลย

ธรรมไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ไม่มีใครสามารถบังคับให้ธรรมอะไรเกิดขึ้นได้เลย บังคับให้เห็นก็ไม่ได้ เพราะเห็นเกิดเพราะเหตุปัจจัยจัยหลายอย่าง เช่น มีกรรมเป็นปัจจัย มีที่อาศัยให้จิตเห็นเกิด มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นต้น ดังนั้น มีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน และไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tanrat
วันที่ 20 พ.ย. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 20 พ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 24 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 22 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สิริพรรณ
วันที่ 3 ก.ย. 2564

กราบขอบพระคุณยินดีในกุศลธรรมทานด้วยความเคารพค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jarunee.A
วันที่ 20 ก.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ