วันลอยกระทง - เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอย่างไร
วันนี้เป็นวันลอยกระทง ประเพณีลอยกระทงเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอย่างไรครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ประเพณีลอยกระทง ในประเทศไทย มีมาตั้งแต่สมับสุโขทัย ซึ่งทำเพื่อขอขมาพระแม่คงคา ที่ใช้น้ำในกิจการงานต่างๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เพื่อให้ลอยบาป ละอกุศล ละกิเลสด้วยปัญญา ด้วยการฟังศึกษาพระธรรม ไม่ได้มีประเพณีขอขมา ตามที่กล่าวมา ประเพณีที่พระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและกำลังขาดหายไป คือ ประเพณีการฟังธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้น ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ที่สมมติว่าเป็นวันลอยกระทง เป็นวันคล้ายวันที่พระสารีบุตรปรินิพพาน จึงควรระลึกถึงพระคุณของท่านและ พระคุณของพระพุทธเจ้าตามความเป็นจริง และ น้อมประพฤติปฏิบัติตามและประพฤติประเพณีอันดีงามเป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งในปัจจับันและโลกหน้า อันเป็นการสะสมที่ประเสริฐ คือ ปัญญาและกุศลธรรม คือ ประเพณีการฟังธรรม ครับ
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ
วันลอยกระทง ... พระสารีบุตรและศรีลังกา!
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
วันเพ็ญเดือน ๑๒ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) เป็นวันปริพนิพพานของพระสารีบุตรเถระพระอัครสาวกเบื้องขวาผู้เลิศด้วยปัญญา พระอัครสาวกทั้งสอง (ท่านพระสารีบุตรเถระ,พระมหาโมคคัลลานะ) ย่อมปรินิพพานก่อนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือท่านพระสารีบุตร ปรินิพพาน ในวันเพ็ญเดือน ๑๒ ต่อจากนั้นอีก ๖ เดือนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน (และท่านพระสารีบุตรปรินิพพานก่อนท่านพระมหาโมคคัลลานะ ๑๕ วัน) ดังนั้น เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ แทนที่จะนึกถึงคิดถึงอย่างอื่น ก็ควรที่จะได้น้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย พร้อมทั้งน้อมระลึกถึงพระคุณของท่านพระสารีบุตร ที่ท่านได้กระทำไว้ต่อพุทธบริษัท ครับ
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
การลอยกระทงในประเทศไทยมีหลายตำนาน เช่น
๑. การลอยกระทงในสมัยนางนพมาศ แท้จริงกระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแค้วนทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา (รอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทา มีกล่าวไว้ในปุณโณวาทสูตร พระสุตตันปิฎก เล่มที่ ๒๓ (ภาค ๓ เล่ม ๒) อรรถกถาปัญจสูทนี หน้า ๔๑๐ (ฉบับมหามกุฏฯ)
๒. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า (เมื่อข้ามฝั่งแม่น้ำอโนมานที ทรงพระขรรค์ตัดพระเมาลี) เป็นต้น
ส่วนการลอยบาปนั้น มาจากพิธีแห่งการลอยบาปของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจะจัดให้มีขึ้นเป็นประจำในวันเพ็ญเดือน 3 ของทุกๆ ปี พิธีนี้ถือได้ว่าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ในทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เรียกว่าพิธีศิวาราตรี ไม่ใช่ของศาสนาพุทธ
ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย สมัยสุโขทัย ตามที่แสดงไว้ มิได้กล่าวถึง การบูชาพระจุฬามณีและรอยพระบาท เพราะความจริงแล้ว ประเพณีลอยโคม กระทง เป็นประเพณีดั้งเดิมของพราหมณ์ไม่ใช่ศาสนาพุทธ จึงไม่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด เพียงแต่สันนิษฐานเอา ให้เข้ากับพระพทธศาสนาว่า บูชารอยพระพุทธบาทและจุฬามณี ซึ่งในสมัยอดีตกาล ไม่ได้มีการบูชาด้วยการลอยกระทง ไม่มีแสดงไว้ในพระไตรปิฎก แม้แต่เรื่องนาคบูชา พระจุฬามณีด้วยการลอยกระทง เพราะฉะนั้น ประเพณีการลอยกระทง จึงไม่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา แต่มาโยง สันนิษฐานให้เข้ากันเองครับ
ส่วนเรื่องการลอยบาปนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ไพเราะ น่าฟัง ในเรื่องของการลอยบาป ดังนี้ ซึ่งบุคคลผู้ลอยบาปแล้ว คือ พระอรหันต์ ครับ ขออนุโมทนา
[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 471
สภิยสูตร
[๓๖๗] ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว มีใจชื่นชม เบิกบาน เฟื่องฟู เกิดปีติโสมนัส ได้ทูลถามปัญหาข้อต่อไป กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไรว่าเป็นพราหมณ์ กล่าวบุคคลว่า เป็นสมณะด้วยอาการอย่างไร กล่าวบุคคลผู้ล้างบาปอย่างไร และอย่างไรบัณฑิตจึงกล่าวบุคคลว่า เป็นนาค (ผู้ประเสริฐ) ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิด.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสพยากรณ์ว่า
ผู้ใดลอยบาปทั้งหมดแล้ว เป็นผู้ปราศจากมลทิน มีจิตตั้งมั่นดี ดำรงตนมั่นก้าวล่วงสงสารได้แล้ว เป็นผู้สำเร็จกิจ (เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น) ผู้นั้นอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว เป็นผู้คงที่บัณฑิตกล่าวว่า เป็นพราหมณ์
ผู้ใดมีกิเลสสงบแล้ว ละบุญและบาปได้แล้ว ปราศจากกิเลสธุลี รู้โลกนี้และโลกหน้าแล้ว ล่วงชาติและมรณะได้ ผู้คง ที่เห็นปานนั้น บัณฑิตกล่าวว่า เป็นสมณะ
ผู้ใดล้างบาปได้หมดในโลกทั้งปวงคือ อายตนะภายในและภายนอกแล้ว ย่อมไม่มาสู่กัป ในเทวดาและมนุษย์ผู้สมควรผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่า ผู้ล้างบาป
ขออนุโมทนา