ศรัทธากับปัญญา ในการปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอของธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่  27 พ.ย. 2558
หมายเลข  27268
อ่าน  4,165

เรียนสอบถามความหมายของ ศรัทธากับปัญญา ในการปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอของธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

ในพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ภาค ๑ เล่ม ๑ หน้า ๖๓๖ (ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย) อรรถกถาสติปัฏฐานสูตร หัวข้อ ธัมมานุปัสสนา โพชฌงคบรรพ การเกิดของธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

ท่านกล่าว ธรรมทั้ง ๗ ประการ ที่เป็นไปเพื่อการเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

๑. การสอบถาม

๒. การทำวัตถุให้ผ่องใส

๓. การปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ

๔. การเว้นบุคคลผู้มีปัญญาทราม

๕. การคบหาสมาคมกับผู้มีปัญญา

๖. การพิจารณาความประพฤติด้วยญาณอันลึกซึ้ง

๗. การน้อมใจไปในธัมมวิจยะนั้น

ในหัวข้อที่ ๓ การปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ ท่านขยายความตอนหนึ่งว่า

"ท่านสรรเสริญ ความที่ศรัทธากับปัญญาเสมอกัน .... ผู้มีศรัทธามีพลังแต่มีปัญญาอ่อน จะมีความเลื่อมใสอย่างงมงาย คือเลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ ผู้มีปัญญามีพลัง (แต่) มีศรัทธาหย่อน ย่อมจะกระเดียดไปทางข้างเกเร แก้ไขยาก เหมือนโรคดื้อยา ไม่ทำกุศลมีทานเป็นต้น โดยคิดเลยเถิดไปว่า กุศลจะมีได้ด้วยเหตุเพียงจิตตุปบาทเท่านั้น ย่อมเกิดในนรก. (แต่) เพราะศรัทธาและปัญญาทั้งคู่เสมอกัน เขาจะเลื่อมใสในพระรัตนตรัยทีเดียว."

ข้อความที่ท่านกล่าวเกี่ยวกับ ผู้มีปัญญามากแต่ศรัทธาหย่อน แล้วเกเร แก้ไขยาก ไม่ทำกุศล คิดแต่ว่ากุศลมีได้ด้วยเพียงการเกิดของจิตเท่านั้น มีความหมายอย่างไรครับ

เนื่องจาก หลายแห่งท่านกล่าวว่า "ปัญญา" นั้น ประเสริฐสุด ไม่ให้โทษใดๆ เลย

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์วิทยากรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 พ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อินทรีย์ โดยศัพท์ หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ ซึ่งอินทรีย์มีหลายหลายนัย แต่ถ้าพูดถึงหนทางการเจริญอบรมปัญญา เพื่อดับกิเลส อันเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ คือ อินทรีย์ ๕ ที่เป็น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และ ปัญญา ซึ่งสภาพธรรมเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรม และเป็นธรรมที่จะถึงการตรัสรู้ได้ แต่ในความละเอียดของธรรมแล้ว การจะถึงความเป็นอินทรีย์ ในอินทรีย์ ๕ แต่ละสภาพธรรม เช่น สัทธินทรีย์ ก็จะต้องมีปัญญาด้วย และเป็นศรัทธาที่เกิดพร้อมกับปัญญา ที่ไม่ใช่เพียงศรัทธา ขั้นนึกคิด เช่น ศรัทธาเชื่อพระรัตนตรัย ศรัทธาในพระธรรม เป็นต้น แต่ที่สำคัญศรัทธา จะต้องเป็นศรัทธา ที่เกิดพร้อมปัญญา ที่เกิดในขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น รู้ความจริงของสภาพธรรม ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นมีศรัทธา ที่ถึงพร้อมกับปัญญา จึงเป็นอินทรีย์ เป็นสัทธินทรีย์ในขณะนั้น ครับ

โดยนัยเดียวกัน วิริยะ ความเพียร ไม่ใช่เพียร เดิน เพียรนั่งสมาธิ แต่เป็นความเพียร วิริยเจตสิกที่เกิดพร้อมกับปัญญา ขณะที่สติปัฏฐานเกิด กำลังรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นอินทรีย์ ที่เป็น วิริยินทรีย์ ในขณะนั้นครับ สติ ที่เป็นสตินทรีย์ ก็คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ความจริง สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้น สติเป็นใหญ่เป็นอินทรีย์ เพราะ มีปัญญาระดับสูงเกิดร่วมด้วย ส่วนสมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก ที่มีลักษณะของความตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่ง ความตั้งมั่น สมาธิ ไม่ได้หมายถึง การนั่งสมาธิ จะเป็นการอบรม สมาธินทรีย์ แต่เอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้น มีความตั้งมั่นชั่วขณะแล้ว ที่เป็น ขณิกสมาธิ แต่ สมาธินี้ เป็นสมาธินทรีย์เพราะ มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ที่กำลังรู้ความจริงของสภาพธรรม

ส่วนปัญญา ที่จะเป็นปัญญินทรีย์ ไม่ใช่เพียงปัญญาขั้นการฟัง ปัญญาที่เชื่อกรรมและผลของกรรม แต่ จะต้องเป็นปัญญาที่กำลังรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา จึงจะเป็นใหญ่ ที่กำลังรู้ความจริง เพราะเป็นปัญญาที่เป็นหนทางการละกิเลสได้จริงๆ ครับ ซึ่งในการปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน ไม่มีตัวเราที่ปรับ เพราะทั้งหมดเป็นแต่เพียงธรรม ศรัทธาไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม วิริยะไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม สติไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม สมาธิไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรมและปัญญาไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรมและ ต้องไม่ลืม คำว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

ดังนั้น เมื่ออินทรีย์ ๕ ที่กล่าวมา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นธรรม เพราะฉะนั้น อินทรีย์จึงเป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาด้วยความเป็นเราได้ เพราะ ต้องไม่ลืมว่าธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นตามเหตุ และ ปัจจัย เมื่อมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น อะไรที่จะปรับอินทรีย์ นั่นคือ สภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดจากการปรุงแต่ง โดยการฟังพระธรรมที่ถูกต้อง เมื่อปัญญาเจริญขึ้นจากขั้นการฟัง กุศลธรรมประการต่างๆ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ หิริ เป็นต้น ก็เจริญตามปัญญาด้วย ขณะที่สภาพธรรมฝ่ายดีเจริญตามปัญญา นั่นก็เป็นการแสดงแล้วว่ากำลังมีการปรับอินทรีย์ โดยตัวของสภาพธรรมเอง ที่กำลังปรับ โดยไม่มีเราที่จะไปพยายามปรับ และเมื่อไหร่ที่ เกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น แสดงแล้วว่า อินทรีย์มีการปรับให้เสมอกันแล้ว เพราะ มีการเกิดปัญญาที่รู้ความจริง ดังนั้น สภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายดี จะปรับ คือ จะเกิดเจริญขึ้นเอง จากการอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 27 พ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อินทรีย์ ๕ เป็นธรรมที่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้จึงเป็นธรรมที่เป็นไปกับการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เกิดขึ้นเป็นไปพร้อมกัน ได้แก่

สัทธินทรีย์ อินทรีย์ คือ ศรัทธา มีความเป็นใหญ่ ในสภาพธัมมะของตนคือน้อมใจเชื่อ

วิริยินทรีย์ อินทรีย์ คือ ความเพียร มีความเป็นใหญ่ในการประคองไว้

สตินทรีย์ อินทรีย์ คือ สติ มีความเป็นใหญ่ในการระลึก

สมาธินทรีย์ อินทรีย์ คือ สมาธิ มีความเป็นใหญ่ ในการไม่ฟุ้งซ่าน

ปัญญินทรีย์ อินทรีย์ คือ ปัญญา มีความเป็นใหญ่ในการเห็นตามความเป็นจริง

ถ้ายังไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ในสภาพธรรมที่เป็นอินทรีย์แต่ละอย่างก็ไม่สามารถที่มีอินทรีย์ ๕ ที่เสมอกันได้ ที่ได้ยินกันอยู่เสมอ คือ การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน ไม่ใช่เพียงคำลอยๆ แต่เป็นเรื่องของบุคคลผู้มีปัญญาที่รู้สภาพของอินทรีย์ ๕ แต่ละอย่างตามความเป็นจริง เป็นกิจหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ถ้าผู้ไม่มีปัญญาไม่รู้ความจริงจะปรับอะไรไม่ได้ ธรรมเป็นธรรม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้นเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ สำคัญที่มีศรัทธาเชื่อมั่นในพระปัญญาตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วทรงแสดงความจริงให้ผู้อื่นได้รู้ตาม ถ้าไม่มีการตรัสรู้และทรงแสดงพระธรรมของพระองค์แล้ว สัตว์โลกไม่มีทางที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ได้เลย ไม่สามารถที่จะทำลายความมืดคืออวิชชาที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ได้เลย

เพราะฉะนั้น แล้วศรัทธาที่มีในขณะที่กำลังฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จากที่มีความเชื่อมั่นในพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ จะเป็นไปเพื่อปัญญาเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อความระลึกรู้สภาพธรรมที่ำกำลังปรากฏ เป็นไปเพื่อความสมบูรณ์พร้อมแห่งอินทรีย์ ๕ ที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ได้ในที่สุด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 27 พ.ย. 2558

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อาจารย์ทั้งสองท่านเป็นอย่างยิ่งครับ

ที่กรุณาอธิบายเพื่อความมั่นคงในความเป็นธรรมะของอินทรีย์ที่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นด้วยเหตุและปัจจัย ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นได้เลย

แต่ผมยังคลางแคลงในถ้อยคำที่อรรถกถาสติปัฏฐานสูตรนี้ ที่กล่าวถึง ผู้มีปัญญามากแต่ศรัทธาหย่อน แล้วเกเร แก้ไขยาก ไม่ทำกุศล คิดแต่ว่ากุศลมีได้ด้วยเพียงการเกิดของจิตเท่านั้น ย่อมเกิดในนรก

ซึ่งทำให้เข้าใจว่าปัญญามีโทษด้วย ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง ในเมื่อปัญญาคือความเข้าใจความจริงในสภาพธรรมทั้งหลาย ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะมีโทษ

ที่อรรถกถากล่าวถึง ผู้มีปัญญาแล้วเกเร แก้ไขยาก ไม่ทำกุศล คิดว่ากุศลเกิดด้วยจิตเท่านั้น น่าจะมีคำอธิบายที่ชัดเจนกว่านี้ ว่า "ผู้มีปัญญาแต่ศรัทธาหย่อน" นั้น มีความหมายอย่างไร

ซึ่งการที่มีผู้อ่านอรรถกถานี้ แล้วเข้าใจผิด จึงยกขึ้นอ้างได้ว่า ปัญญาอย่างเดียวไม่พอ ทำให้เกเร แก้ไขยาก เป็นต้น ต้องมีอย่างอื่นด้วย ดังนี้

อาจารย์ทั้งสองท่านมีความเห็นอย่างไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
napachant
วันที่ 1 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

ในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 2 ธ.ค. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kullawat
วันที่ 3 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 4 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Patchanon
วันที่ 5 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เมตตา
วันที่ 9 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 17 ธ.ค. 2558

ปัญญาเกิดจากการฟัง การพิจารณา การอบรม เช่น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ใช่ความต้องการ เป็นตัวเราไปรู้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ประภาษ
วันที่ 18 ธ.ค. 2558

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 19 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 26 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Jarunee.A
วันที่ 17 ก.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ