ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๒๓
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๒๓
~ เห็นคุณค่าของการเป็นผู้มีจิตเหมือนผ้าเช็ดธุลีไหม? มีความอ่อนน้อม ไม่มีมานะ ไม่มีความสำคัญตน ถ้าเป็นผ้าเช็ดธุลีได้เสมอๆ ก็เป็นความสบายใจ ไม่ว่าใครจะประพฤติต่อท่านด้วยกาย วาจาอย่างไร ไม่เดือดร้อนเลย เพราะว่าไม่ถือตนว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญ
~ มีทางที่จะพิจารณาเพื่อที่จะให้เกิดขันติ (ความอดทน) และเป็นกุศลเพิ่มขึ้น ไม่ว่าใครก็ตามที่ทำความเสียหาย ความเดือดร้อนให้ การกระทำของเขานั้นๆ ก็ดับไปในที่นั้นๆ ทำไมเราถึงจะยังโกรธต่อ ในเมื่อการกระทำนั้นหมดแล้ว จบแล้ว ดับแล้ว ขณะนี้เขาไม่ได้ทำอย่างนั้นแล้ว แต่ยังอุตส่าห์ไปคิดถึงเรื่องเก่าที่เขาทำ เพื่อที่จะให้ตนเองโกรธต่อไปอีก
~ สำหรับคนที่มีกิเลสด้วยกัน พอได้ยินคำที่คนอื่นว่าร้าย เกิดโกรธ ขณะนั้นแสดงให้เห็นว่า ความโกรธนั้น ไม่ได้เกิดจากคำของคนอื่น แต่ความโกรธ เกิดจากกิเลสที่สะสมไว้ของตน เพราะว่าถ้าเราไม่โกรธ เขาจะกล่าวร้ายอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะทำให้ความโกรธของเราเกิดได้ ถ้าเราเป็นผู้ที่มีศีล เขาจะว่าเราอย่างไร เขาก็ไม่สามารถทำให้ศีลของเราเสื่อมหรือหมดไปได้
~ แทนที่จะรีบโกรธ เห็นอะไรก็ขวางหูขวางตา ไม่พอใจ ก็ควรที่จะคิดว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ต้องมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เป็นอย่างนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ก็ควรที่จะเข้าใจ เห็นใจ แล้วก็ช่วยแก้ไขเท่าที่สามารถจะช่วยได้ ถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ อบรมเจริญเมตตา มีความเห็นใจ มีความเข้าใจจริงๆ แล้วขณะนั้นจะไม่โกรธ แต่ถ้าโกรธให้ทราบว่า ไม่เข้าใจคนนั้นและไม่เห็นใจด้วย จึงได้โกรธ
-เมตตาจะไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์เลย แต่ว่าโลภะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น จะพิจารณาได้ เวลาที่เกิดความเดือดร้อนใจ ความไม่สบายใจ ความไม่พอใจ ให้ทราบว่าในขณะนั้นไม่ใช่เพราะเมตตา แต่ต้องเป็นเพราะโลภะ เพราะเหตุว่าถ้าท่านมีความเมตตาต่อบุคคลใดจริงๆ จะไม่เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนเลย
-บุญ คือจิตที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะนั่นเอง ขณะใดที่จิตใจมีเมตตา ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ขณะนั้นเป็นบุญแล้ว ขณะที่สละวัตถุให้บุคคลอื่น เพราะเหตุว่าในโลกนี้มีทั้งผู้ที่มีมากมายล้นเหลือ และก็มีทั้งผู้ที่ขาดแคลนยากไร้ กำลังลำบากมากทีเดียว เพราะฉะนั้นถ้าขณะใดประสบพบผู้ที่กำลังทุกข์ยากเดือดร้อน และมีจิตใจอ่อนโยน มีความเป็นมิตรต้องการที่จะเกื้อกูล ขณะนั้นจิตที่ปราศจากโลภะ ไม่ตระหนี่ แล้วก็สละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ขณะนั้นเป็นบุญ
~ สำหรับผู้ที่ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ ถ้าสามารถที่จะรักษาศีลเพียง ๕ ข้อให้สมบูรณ์ นั่นก็เรียกว่าเป็นการกระทำที่กระทำได้ยาก แม้การเป็นคฤหัสถ์ที่ดีก็ไม่ง่ายเลย ถ้าจะพิจารณาว่ามีศีล ๕ เป็นนิจ ครบถ้วนหรือไม่ เพราะว่าตามความเป็นจริงผู้ที่จะรักษาศีล ๕ ได้สมบูรณ์นั้น คือ พระอริยบุคคล คือ พระโสดาบันเป็นต้นไป
~ วันหนึ่งๆ จะเต็มไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วโลภะเป็นสมุทัยของสังสารวัฏฏ์ ที่จะทำให้ไม่มีการสิ้นสุดการเกิดขึ้นเลย เพราะว่ายังมีความพอใจที่จะเห็น มีความพอใจที่จะได้ยิน มีความพอใจที่จะได้กลิ่น ที่จะลิ้มรส ที่กระทบสัมผัส
~ ถ้ายังไม่หมดกิเลส ยังมีเหตุที่จะทำให้คำร้ายๆ เกิด ในขณะที่กิเลสยังไม่หมด ขณะนั้นอกุศลจิตก็ต้องมีได้ แล้วแต่ว่าจะถึงขั้นไหน
~ ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา โดยเสพคุ้นกับพระธรรมทีละเล็กทีละน้อย โดยไม่ประมาทเลย มิฉะนั้นแล้ว ก็จะทำให้ห่างไกลออกไปจากการที่จะได้คุ้นเคยกับพระธรรม แล้วก็สะสมเจริญปัญญา ความเห็นถูก ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
~ กิเลสทั้งหลาย เวลาที่กุศลจิตเกิด โลภะก็ต้องการที่จะให้เป็นกุศลมากๆ ได้บุญเยอะๆ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า โลภะพอใจในทุกสิ่งทุกอย่าง นอกจากโลกุตตรธรรมเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นอารมณ์ของโลภะ เพราะฉะนั้นที่ใดที่มีปัญญา ที่นั่นจะไม่มีกิเลสทั้งหลาย เพราะฉะนั้นปัญญาเท่านั้นซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระงับพยาธิ คือ กิเลสทั้งหลาย
~ ให้ทานแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา คือ หวังผลที่จะได้จากทาน แสดงว่าไม่มีปัญญา ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ที่หวัง นั้น เพราะโลภะ เพราะฉะนั้น ให้ไป หวังไป ให้ไปมีโลภะ แล้วจะดับโลภะได้อย่างไร?
~ ถ้าใช้คำว่า ธรรม แล้ว ก็หมายความว่า ไม่ได้พูดถึงใครทั้งสิ้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ธรรม คือธรรม เป็นสภาพที่มีจริง เพราะฉะนั้นถ้าพูดว่าธรรมแล้ว ก็หมายความว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน
~ ดูรูปร่างกายเหมือนไม่มีแผลเลย สะอาดเกลี้ยงเกลาหมดจด แต่จิต ถ้าเป็นบุคคลที่ถูกเขาว่าแม้เล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง เป็นผู้มากด้วยความแค้นใจ เป็นผู้โกรธ นั่นคือผู้มีจิตเหมือนแผลเก่า
~ คนที่เป็นไข้ เวลาสร่างไข้แล้วก็ย่อมกำเริบขึ้นได้อีก เพราะเหตุว่ายังมีเชื้อไข้อยู่ ฉันใด ผู้ที่สะสมความโกรธไว้ เวลาที่ความโกรธไม่ปรากฏ ก็เหมือนกับเป็นคนที่ไม่โกรธ แต่เวลามีเหตุปัจจัยแล้ว ความโกรธก็ย่อมเกิด
~ แม้ได้ยินคำว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนรู้จัก นับถือมาก แต่ไม่รู้จักเลย เพราะไม่รู้ว่าพระองค์ตรัสรู้อะไร
~ เข้าใจในสิ่งที่กำลังฟัง แล้วเวลาที่ไม่ได้ฟัง กิเลสก็สะสมไป พอฟังอีกเมื่อไหร่ คิด (ไตร่ตรองตามพระธรรม) อีกเมื่อไหร่ ก็เป็นการสะสมทางฝ่ายปัญญา ความเห็นถูก
~ คำไม่จริงทั้งหมด ไม่มีในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย คำที่ไม่จริงทั้งหมด ไม่มีเหตุไม่มีผล คำที่ไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ความเข้าใจถูกเห็นถูกเลย เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ละเอียด ไม่ลืมพระปัจฉิมวาจา "จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด" ไม่ประมาทแม้ในการฟังพระธรรมแต่ละคำ ที่จะต้องไตร่ตรอง เป็นเหตุเป็นผล จึงจะเป็นความจริง ถ้าไม่มีเหตุไม่มีผลแล้ว ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน
~ ไม่มีอะไรดียิ่งไปกว่าการทำดี
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๒๒
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ขอบพระคุณและอนุโมทนากับอ.คำปั่น ที่แบ่งปัน ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ให้ได้ศึกษาเป็นประจำครับ
ขออนุโมทนา
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านอาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย ท่านวิทยากรและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านทุกท่าน
~ ไม่มีอะไรดียิ่งไปกว่าการทำดี.
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
แจ่มแจ้งยิ่งขอรับ จากความเมตตาจากท่านอาจารย์สุจินต์ ด้วยการศึกษาตั้งแต่เบื้องต้น คือการฟังพระธรรม ก็ต้องเริ่มให้ถูกต้องว่า แท้จริงแล้ว ไม่มีเรา แต่เป็นธรรมแต่ละอย่างที่เกิดจากเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วในแต่ละขณะ ซึ่งความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้นนี้ จะนำไปในหนทางที่ถูกต้องในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ ตามความเป็นจริงต่อๆ ไป
น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ สาธู ขอรับ