เหตุและผล ยังคงเหมือนเดิมไหม (ทำดีได้ดี..ทำชั่วได้ชั่ว)

 
natsarun
วันที่  30 พ.ย. 2558
หมายเลข  27274
อ่าน  4,892

การดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน มักมีการแข่งขันในด้านต่างๆ ค่อนข้างสูง บางคนก็ดำเนินหรือแสวงหาในทางที่ผิด แต่กลับประสบความสำเร็จ หรือก้าวหน้าในด้านต่างๆ คนที่ดำเนินตามกฎระเบียบกลับไม่เท่าทัน

บางคนเรียบร้อยกลับถูกรังแก บางคนหยาบกระด้างดุร้าย มีเล่ห์เหลี่ยมเอารีดเอาเปรียบ กลับมีคนกลัวเกรงใจ และก้าวหน้า เป็นต้น จึงดูเหมือนว่า คนทำดีมักเสียเปรียบคนชั่ว ... หรือถูกคนชั่วเอาเปรียบ

คนทำชั่วหรือดำเนินการแบบไม่ตรงมาตรงไปมักก้าวหน้าได้เร็ว อยากเรียนถามวิทยากรว่า เราควรศึกษา วางตัว วางใจในเรื่องนี้อย่างไร ใช้หลักธรรมแบบไหนในการดำเนินชีวิตในท่ามกลางสังคมและผู้คนแบบนี้ สาธุๆ ๆ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 พ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การพิจารณาธรรมตามความเป็นจริง ขึ้นชื่อคำว่า ธรรม ก็ต้องเข้าใจถูกว่า หมายถึง สิ่งที่มีจริง นั่นคือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งไม่ใช่เรื่องราวที่คิดนึก เพราะฉะนั้นการพิจารณาสิ่งใด ที่จะถูกต้อง ถ่องแท้ก็พิจารณาโดยความเป็นธรรม แม้แต่เรื่องที่ผู้ถาม กล่าวว่า คนที่ทำผิด ทุจริต ก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ คนที่ทำถูก ทำดี กลับไม่ประสบความสำเร็จ คนดีถูกรังแก คนไม่ดี ได้รับคำยกย่อง ซึ่งพระธรรมแสดงเหตุผลและผลตามความเป็นจริงไม่เปลี่ยนแปลง

การได้รับสิ่งที่ดี และ สิ่งที่ไมดี ที่เป็นผลของกรรมนั้น ต้องเป็นไปในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส เห็นสิ่งที่ดี ก็เพราะกรรมดีให้ผล เป็นผลของกรรมดี เห็นสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นผลของกรรมไม่ดี เพราะอกุศลกรรมให้ผล ซึ่งผลของกรรม ไม่ใช่ ขณะที่คิดนึก ทุกข์ใจ เพราะขณะนั้นเป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น สัตว์โลกก็เป็นไปตามกรรม ซึ่งไม่ได้เกิดมาเพียงชาตินี้ เกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน และทำกรรมดีและไม่ดีนับชาติไม่ถ้วน

เพราะฉะนั้น ชาตินี้ปัจจุบัน จะเป็นคนดี หรือ ไม่ดีก็ตาม แต่ขณะที่ได้รับสิ่งที่ดี ในปัจจุบัน ก็เพราะกรรมที่ดี ให้ผล ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นกรรมไหนและชาติไหน เป็นกรรมในอดีตที่ให้ผลก็ได้ ส่วนผู้ที่ทำกรรมชั่วในปัจจุบัน ได้รับผลดีก็ได้ แต่ไม่ใช่เพราะกรรมชั่วนั้น แต่เป็นกรรมดีในอดีตที่ให้ผลอยู่ก็ได้ เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจคือ กรรมดี หรือ ไม่ดี มีกาลเวลาของการให้ผล กรรม นั้น มีกาลเวลาในการให้ผล ไม่ใช่ว่า ทำกรรมนั้นจะให้ผลทันที

เปรียบเหมือน การปลูกมะม่วง เพียงเพาะเมล็ดลงดิน รดน้ำทุกวัน 1 เดือน ไม่ใช่ว่าผลมะม่วงจะออกมา 1 เดือน แต่มีกาลเวลา คือ 3 ปี แม้จะอยาก หรือ พยายามเท่าไหร่รดน้ำให้มากเท่าจำนวน 3 ปี ผลมะม่วงก็ไม่มีทางออกในระยะเวลา 1 เดือนได้เลยครับ กรรมชั่วที่ทำ แต่กรรมชั่วนั้น ยังไม่ให้ผล แต่ที่เราเห็นว่า คนที่ทำบาป กลับได้รับสิ่งที่ดีๆ ก็เพราะว่า กรรมดีในอดีตชาติมาให้ผลในขณะต่อจากนั้นได้ครับ ซึ่งเราก็จะไม่ปนกันว่า กรรมชั่วจะให้ผลดี หรือ กรรมดีจะให้ผลไม่ดีไม่ได้เลย เหตุต้องตรงกับผล คือ กรรมดี ให้ผลที่ดี กรรมชั่วให้ผลที่ชั่วครับ แต่ต้องมีระยะกาลเวลาของกรรม ครับ

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 21

"แม้คนผู้ทำบาป ย่อมเห็นบาปว่าดี ตลอดกาลที่บาปยังไม่เผล็ดผล แต่เมื่อใด บาปเผล็ดผล เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นบาปว่าชั่ว ฝ่ายคนทำกรรมดี ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่ว ตลอดกาลที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล แต่เมื่อใด กรรมดีเผล็ดผล เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นกรรมดีว่าดี"

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ -หน้าที่ 236

"ก็กรรมชั่วอันบุคคลทำแล้ว ยังไม่ให้ผล เหมือนน้ำนมที่รีดในขณะนั้น ยังไม่แปรไปฉะนั้น บาปกรรม ย่อมตามเผาคนพาล เหมือนไฟอันเถ้ากลบไว้ฉะนั้น"

ดังนั้น สัจจะไม่เปลี่ยนแปลง กรรมยุติธรรมเสมอ ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว แต่ตามกาลเวลาโอกาสของกรรม ครับ

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 168

คนหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น คนทำเหตุดี ย่อมได้ผลดี ส่วนคนทำเหตุชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว

ซึ่งก็ตรงกับคำว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วครับ ซึ่งในอรรถกถา อธิบายไว้ว่าพืชสะเดาหรือ พืชประเภทบวบขม ย่อมมีแต่รสขม ไม่ให้ผลเป็นรสหวาน ฉันใดกรรมชั่วที่ทำก็ย่อมให้ผลในทางที่ไม่ดี ไม่ให้ผลในทางที่ดี ... พืชอ้อย พืชสาลีย่อมให้รสหวาน ไม่ให้ผลเป็นรสขม ฉันใด แม้กรรมดีที่ทำย่อมให้ผลในทางที่ดี ไม่ให้ผลชั่วครับ ทำดีจึงได้ดี ทำชั่วจึงได้ชั่ว คือได้รับผลวิบากที่ดีหรือชั่วตามแต่ประเภทของกรรมที่ทำ ครับ

ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ย่อมจะเป็นผู้มีความเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลแต่ละคน หรือแม้กระทั่งเกิดกับตัวเองไม่ว่าดีหรือร้าย น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนาก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเพราะกรรมที่เคยได้กระทำมาแล้วทั้งสิ้น ไม่มีใครทำให้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ผลที่จะเกิดย่อมมีไม่ได้ แต่เพราะมีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อได้โอกาสที่กรรมจะให้ผล ผลจึงเกิดขึ้น

ดังนั้น จะมีความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ก็ต้องอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาสะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อมีความเข้าใจถูกในเรื่องกรรมและผลของกรรม จะเกื้อกูลให้เว้นจากอกุศลกรรม แล้วเพิ่มพูนหรือกระทำกุศลกรรมซึ่งเป็นคุณความดีประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน นี้แหละคือสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
natsarun
วันที่ 30 พ.ย. 2558

สาธุๆ ๆ ค่ะ ขอบคุณที่ให้ความกระจ่างค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 30 พ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของธรรม ไม่เคยเปลี่ยน เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ การเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรม แต่เกิดมาแล้ว ก็มีความแตกต่างกัน มีความประพฤติเป็นไปที่แตกต่างกัน ตามการสะสม เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีคนชั่ว ไม่มีคนดี เป็นต้น มีแต่ธรรมเท่านั้นจริงๆ แต่ที่เรียกว่าเป็นคนชั่ว ก็เพราะเหตุว่า ธรรมฝ่ายชั่ว ธรรมฝ่ายไม่ดี คือ อกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ถูกอกุศลครอบงำ จึงมีความประพฤติเป็นไปตามกำลังของอกุศล จึงเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า เป็นคนชั่ว เป็นคนไม่ดี

ในทางตรงกันข้าม บุคคลผู้ที่มีกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป มีเมตตา ต่อผู้อื่น มีการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ไม่ว่าร้าย ผู้อื่น พร้อมทั้งฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน บุคคลประเภทนี้เป็นคนดี เพราะมีกุศลธรรม เกิดขึ้นเป็นไป คนดี กับ คนชั่ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมามีในสมัยนี้ แต่ มีทุกยุคทุกสมัย ตามความเป็นจริงแล้ว ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว ตามสมควร เรื่องกรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด กรรมในอดีตชาติที่ผ่านๆ มา แต่ละบุคคลก็ได้กระทำมาอย่างมากมาย มีทั้งดีและไม่ดี กรรมดี กับ กรรมชั่ว เป็นคนละส่วนกัน

การกระทำกรรมดี และ กรรมชั่ว นั้น เป็นการสร้างเหตุใหม่ เมื่อกรรมถึงคราวที่จะให้ผล ผลก็ย่อมเกิดขึ้น (เหตุ ย่อมสมควรแก่ผล) ถ้าเป็นผลของกรรมดี ย่อมทำให้ได้รับในสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ถ้าเป็นผลของกรรมชั่ว ย่อมทำให้ได้รับในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เป็นไปไม่ได้ที่เหตุดี แล้วจะให้ผลไม่ดี หรือ เหตุไม่ดีแล้ว จะให้ผลเป็นดี แต่เหตุย่อมสมควรแก่ผล เหตุดี ผลก็ย่อมดี เหตุไม่ดี ผลก็ต้องไม่ดี

และที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ เรื่องของคนอื่น ก็เป็นเรื่องของคนอื่น แต่สำหรับเรา ในภพนี้ชาตินี้ ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนา ได้กระทำกิจที่ควรกระทำสำหรับตนเองแล้วหรือยัง นั่นก็คือ เป็นผู้ไม่ประมาทในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาและน้อมประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ในชีวิตประจำวัน สะสมเป็นที่พึ่งให้กับตนเองต่อไป ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
อนุโมทนา
วันที่ 30 พ.ย. 2558

ทำดีได้ดี เหตุและผลยังตรงเสมอ เพียงแต่กาลเวลาที่จะให้ผลเท่านั้นต่างเวลากัน

สาธุ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jirat wen
วันที่ 1 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
tanrat
วันที่ 1 ธ.ค. 2558

หากฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจในสิ่งที่ฟัง พิจารณา ก็จะเป็นความเข้าใจของตน ธรรมะคือชีวิตปกติประจำวัน หากเข้าใจก็จะไม่หวั่นไหวไปในรูป รส กลิ่น เสียง คิดนึก สัมผัส

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
j.jim
วันที่ 3 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kullawat
วันที่ 3 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peem
วันที่ 3 ธ.ค. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Guest
วันที่ 4 ธ.ค. 2558

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
wannee.s
วันที่ 17 ธ.ค. 2558

คนที่ทำชั่วได้ดีไม่มี แต่เป็นเพราะกรรมยังไม่ให้ผล เพราะว่าเขายังอยู่ในสุคติภูมิ เป็นมนุษย์ กาลสมบัติยังรักษาเขา ถ้าเขาตายไปกรรมก็ให้ผลทำให้เขาไปเกิดในอบายภูมิค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 23 ก.พ. 2559

เป็นประโยชน์มาก กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนา สาธุ สาธุ สาธุ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 26 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Jarunee.A
วันที่ 17 ก.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ