จาคะธรรม ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกในที่ต่าง ๆ แตกต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร มีพุทธประสงค์อย่างไร
จาคะมาในหมวดธรรม ที่ปรากฏในหมวดธรรมเหล่านี้ คือ ฆราวาสธรรม ๔ สมชีวิธรรม ๔ อริยวัฑฒิ ๕ อริยทรัพย์ ๗ ราชธรรม ๑๐ พระพุทธองค์มีพุทธประสงค์ต่างกันอย่างไรบ้าง มีความหมายต่างกันบ้างหรือไม่อย่างไร ขอท่านผู้รู้ช่วยตอบด้วย
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อขัดเกลา สละ ละคลายกิเลส เพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม จนกว่าจะถึงกาลที่สามารถดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาด ไม่เกิดอีกเลย ดังนั้น คำว่า จาคะ ในทางพระพุทธศาสนา จึงมีความหมายกว้างขวางมาก ตั้งแต่ ได้แก่การสละสิ่งของสละความตระหนี่ การสละความเห็นแก่ตัว การสละกิเลส สละอกุศลธรรมทั้งหลาย จนถึงสละขันธ์ทั้งหลาย จะเห็นได้ว่า ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาถึงการบรรลุเป็นพระอรหันต์ห่างไกลแสนไกลจากกิเลส เมื่อดับขันธปรินิพพาน ไม่มีการเกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีขันธ์เกิดขึ้นอีกเลย นี้คือความบริสุทธิ์ของพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อการสละกิเลสทั้งหลายทั้งปวงอย่างแท้จริง ดังนั้น ไม่ว่าจะปรากฏในส่วนใดของพระธรรมคำสอน จาคะ เป็น จาคะ เป็นการสละ ละคลายกิเลส เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญ เป็นทรัพย์อันประเสริฐ เป็นต้น เป็นธรรมที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็ควรที่จะได้น้อมประพฤติตาม ซึ่งจะเป็นไปได้ ก็ต้องมีความเข้าใจธรรม เพราะถ้าไม่มีความเข้าใจธรรม ก็ไม่สามารถที่จะสละกิเลสได้เลย ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...