อรรถกถาสัลลสูตรที่ ๘

 
khampan.a
วันที่  3 ม.ค. 2559
หมายเลข  27339
อ่าน  2,476

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖- หน้าที่ 560

อรรถกถาสัลลสูตรที่ ๘

สัลลสูตร มีคำเริ่มต้นว่า อนิมิตฺตํ ไม่มีเครื่องหมายดังนี้.

พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร

เรื่องเล่าว่า อุบาสกคนหนึ่งเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้าบุตรของเขาได้ถึงแก่กรรม เขาถูกความโศกเพราะบุตรครอบงำ ได้อดอาหารถึง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงอนุเคราะห์เขา จึงเสด็จไปยังเรือนของเขาเพื่อบรรเทาความโศก จึงได้ตรัสพระสูตรนี้.

ในบทเหล่านั้นบทว่า อนิมิตฺตํ ได้แก่ เว้นจากเครื่องหมาย คือ กิริยาอาการ. เหมือนอย่างว่ามีเครื่องหมายคือกิริยาอาการในบทมีอาทิว่า เราจักควักลูกตาหรือโกนขนคิ้ว ท่านจงขโมยสินค้านั้นโดยเครื่องหมายนั้น ฉันใด ในชีวิตมิได้เป็นฉันนั้น ไม่อาจจะได้ว่า ท่านจงเป็นอยู่ก่อน จงอย่าตาย จนกว่าเราจะทำสิ่งนี้สำเร็จ.

บทว่า อนญฺญาตํ อันใครๆ รู้ไม่ได้ คืออันใครๆ ไม่สามารถรู้ได้โดยแน่นอน ว่าผู้นี้จะต้องเป็นอยู่ตลอดเวลาเท่านี้ๆ ด้วยคติหรือที่สุดของอายุ เหมือนอย่างอายุของเทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกาเป็นต้นกำหนดได้ของสัตว์ทั้งหลายไม่เหมือนอย่างนั้น แม้ด้วยเหตุนี้ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายจึงเป็นอันว่าอันใครๆ รู้ไม่ได้โดยแน่นอน.

บทว่า กสิรํ ทั้งลำบาก คือ ยาก เพราะความเป็นไปเนืองด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่ให้เป็นไปเพื่อความสุขเท่านั้น.เป็นความจริงอย่างนั้น ชีวิตเนื่องด้วยลมหายใจเข้าหายใจออกเนื่องด้วยมหาภูตรูป (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เนื่องด้วยกวฬีการาหาร เนื่องด้วยไออุ่น และเนื่องด้วยวิญญาณ. แม้เมื่อไม่หายใจเข้าไม่หายใจออกก็เป็นอยู่ไม่ได้. อนึ่งในธาตุ ๔ กายเช่นกับถูกอสรพิษมีสัตว์ปากร้ายเป็นต้นกัด เพราะปกติธาตุกำเริบ เป็นกายกระด้างเช่นกับท่อนไม้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

กายที่ถูกงูกัฏฐมุขะกัด ย่อมแข็งกระด้าง หรือเพราะปฐวีธาตุกำเริบ กายนั้นย่อมเป็นเหมือนอยู่ในปากงูกัฏฐมุขะ นั่นแหละ

กายเพราะอาโปธาตุกำเริบถึงความเปื่อยเน่า มีเนื้อและเลือดทั้งหมดไหลออก เหลือแต่กระดูกและหนังเท่านั้น ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

กายที่ถูกงูปูติมุขะกัด ย่อมเป็นของเปื่อยเน่า หรือเพราะอาโปธาตุกำเริบ กายนั้นย่อมเป็นเหมือนอยู่ในปากงูปูติมุขะนั่นแหละ

กายเพราะเตโชธาตุกำเริบย่อมถูกเผาผลาญโดยรอบเหมือนใส่ลงไปในหลุมถ่านเพลิง ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า กายที่ถูกงูกัดอัคคิมุขะกัด ย่อมเร่าร้อนพร้อม หรือเพราะเตโชธาตุกำเริบ กายนั้นย่อมเป็นเหมือนอยู่ในปากงูอัคคิมุขะนั่นแหละ

กาย เพราะวาโยธาตุกำเริบมีที่ต่อที่ถูกตัดขาดจากกัน และเป็นเหมือนกระดูกที่ถูกแผ่นหินทุบกระจุยกระจายไป สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า กายที่ถูกงูสัตถมุขะกัด ย่อมถูกตัดขาด หรือเพราะวาโยธาตุกำเริบ กายนั้นย่อมเป็นเหมือนอยู่ในปากงูสัตถมุขะนั่นแหละ

แม้กายถึงความเสื่อมเพราะธาตุกำเริบ ก็เป็นอยู่ไม่ได้ ก็เมื่อใดธาตุเหล่านั้นทำหน้าที่ของกันและกันอย่างเป็นปรกติ ย่อมนำไปได้เสมอ เมื่อนั้นชีวิต ก็ยังเป็นไปได้ ชีวิตเนื่องด้วยมหาภูตรูปอย่างนี้. ก็ในขณะหาภักษาได้ยากเป็นต้น เพราะขาดอาหาร สัตว์ทั้งหลายก็จะตายกันหมด. ชีวิตเนื่องด้วยกวฬีการาหารอย่างนี้

อนึ่ง เมื่อสิ้นไฟเกิดแต่กรรมอันจะทำให้ย่อยเพราะการกินการดื่มเป็นต้น สัตว์ทั้งหลายก็จะถึงแก่ความตายกันหมด ชีวิตเนื่องด้วยไออุ่นอย่างนี้

ก็เมื่อวิญญาณดับ สัตว์ตามปรกติ ก็จะไม่มีชีวิต ชีวิตปรากฏอยู่ในโลกได้แม้ด้วยอาการอย่างนี้ ชีวิตเนื่องด้วยวิญญาณอย่างนี้. พึงทราบชีวิตชื่อว่าลำบาก เพราะมีความเป็นอยู่เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง

บทว่า ปริตฺตญฺจ ชีวิตทั้งน้อย คือชีวิตของมนุษย์เปรียบกับชีวิตของเทวดาทั้งหลายแล้วน้อย เหมือนหยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าน้อยเพราะไม่เป็นอยู่สูงกว่าขณะจิต จริงอยู่ สัตว์แม้มีอายุยืนยาว เป็นอยู่แล้วด้วยจิตอดีต (เคยเกิด) ไม่ใช่กำลังเป็น (ไม่ใช่กำลังเกิด) ไม่ใช่จักเป็น (ไม่ใช่จักเกิด) ในอนาคต จิตไม่ใช่จักเป็น ไม่ใช่กำลังเป็น ไม่ใช่เคยเป็นในปัจจุบัน จิตกำลังเป็น ไม่ใช่เคยเป็น ไม่ใช่จักเป็นอยู่ สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
ชีวิตและอัตภาพ สุขและทุกข์ทั้งสิ้น ล้วนเป็นธรรมประกอบร่วมอยู่กับจิตดวงหนึ่งๆ ขณะผ่านไปรวดเร็ว เทวดาเหล่าใด ตั้งอยู่ตลอด ๘๔,๐๐๐ กัป แม้เทวดาเหล่านั้น หาดำรงอยู่ด้วยจิต ๒ ดวงไม่.

บทว่า ตญฺจ ทุกฺเขน สํยุตฺตํ ชีวิตประกอบด้วยทุกข์ ความว่าชีวิตนั้นไม่มีเครื่องหมายใครๆ รู้ไม่ได้อย่างนี้ ทั้งลำบากทั้งน้อย และประกอบด้วยทุกข์อันเป็นทุกข์เกิดจากการสัมผัส หนาวร้อน เหลือบและยุงเป็นต้นเกิดจากความหิวกระหาย เกิดจากทุกข์ประจำสังขารและเกิดจากทุกข์คือความปรวนแปร. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างไร. พระองค์ตรัสไว้ว่าชีวิตของสัตว์ทั้งหลายเป็นเช่นนี้ ฉะนั้นท่านจงประพฤติธรรมจริยาตราบเท่าชีวิตนั้นยัง ไม่ถึงความสิ้นไป ท่านอย่าเศร้าโศกถึงบุตรเลย

ท่านพึงสำคัญแม้เช่นนั้นก็อย่าเศร้าโศกอย่างนี้ว่า เมื่อเราเฝ้าเลี้ยงดูบุตรด้วยอุปกรณ์ทุกอย่าง บุตรนั้นได้ตายเสียแล้ว ข้าพเจ้าเศร้าโศกด้วยเหตุนั้นดังนี้. สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดแล้วจะไม่ตายด้วยความพยายามอันใด ความพยายามอันนั้นไม่มีเลย ท่านอธิบายว่าใครๆ ไม่สามารถจะรักษาว่า สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดแล้วด้วยความพยายาม จงอย่าตายเลยดังนี้. เพราะท่านคิดว่าบุตรนั้นอยู่ได้ถึงชราแล้วตายจึงสมควร บุตรของข้าพระองค์ยังหนุ่มนัก ได้ตายเสียแล้วดังนี้ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ชรมฺปิ ปตฺวา มรณ เอวธมฺมา หิ ปาณิโน ความว่า แม้อยู่ได้ถึงชราก็ต้องตาย เพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา. ท่านอธิบายว่า ถึงชราก็ตาม ยังไม่ถึงชราก็ตามต้องตาย ไม่มีกำหนดในข้อนี้

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงให้ความนั้นชัดเจนด้วยตัวอย่างจึงตรัสคาถามีอาทิว่า ผลานมิว ปกฺกาน เหมือนผลไม้สุกงอมแล้วฉะนั้น

บทนั้นมีอธิบายดังนี้ เมื่อผลไม้สุกงอมแล้ว ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นรสของแผ่นดินและรสของน้ำที่ต้นไม้ซึ่งร้อนระอุด้วยความร้อนของแสงอาทิตย์ย่อมเข้าไปสู่แผ่นดินทางรากโดยลำดับอย่างนี้คือ ตั้งแต่ใบถึงกิ่ง ตั้งแต่กิ่งถึงลำต้น ตั้งแต่ลำต้นถึงราก แต่ครั้นพระอาทิตย์ตก กิ่งใบ หน่อ เป็นต้น ย่อมตั้งขึ้นอีกโดยลำดับอย่างนี้คือ ตั้งแต่แผ่นดินถึงราก ตั้งแต่รากถึงลำต้น. ก็เมื่อต้นไม้ตั้งอยู่อย่างนี้ ผลไม้ที่แก่จัดย่อมไม่ติดอยู่ที่ขั้ว เมื่อขั้วผลไม้ถูกแสงอาทิตย์เผาอยู่ ย่อมเกิดความร้อน เพราะเหตุนั้นผลไม้เหล่านั้นจึงร่วงหล่นทุกๆ เช้าตลอดเวลา ภัยของผลไม้เหล่านั้นจึงมีเพราะการหล่นแต่เช้า อธิบายว่าภัยย่อมมีเพราะการหล่นอย่างนี้. เพราะสัตว์ทั้งหลายเกิดแล้วมีภัย เพราะต้องตายเป็นนิจ สัตว์ทั้งหลายเป็นเช่นกับผลไม้สุกงอม เปรียบเหมือนอะไรอีก เปรียบเหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อทำแล้วทุกชนิดมีความแตกเป็นที่สุด แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นท่านจงถือเอาอย่างนี้ว่า ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ทั้งคนเขลา ทั้งคนฉลาด ล้วนไปสู่อำนาจของมฤตยูมีมฤตยูเป็นที่ไปในเบื้องหน้าด้วยกันทั้งหมด. ก็ครั้นถือเอาอย่างนี้แล้วจงถือเอาอย่างนี้อีกว่าเมื่อสัตว์เหล่านั้นถูกมฤตยูครอบงำแล้วต้องไปปรโลก บิดาจะป้องกันบุตรไว้ก็ไม่ได้ หรือพวกญาติจะป้องกันพวกญาติไว้ก็ไม่ได้ เพราะบิดาจะป้องกันบุตรไว้ก็ไม่ได้ หรือพวกญาติจะป้องกันพวกญาติไว้ก็ไม่ได้ ฉะนั้น ท่านจงเห็นเหมือนเมื่อหมู่ญาติของสัตว์ทั้งหลายผู้จะต้องตายกำลังแลดูรำพันอยู่โดยประการต่างๆ สัตว์ผู้จะต้องตายผู้เดียวเท่านั้นถูกมฤตยูนำไปเหมือนโคที่จะถูกฆ่าถูกนำไปตัวเดียวฉะนั้น. ในบทนั้นโยชนาแก้ไว้ว่า ดูก่อนอุบาสก ท่านจงเห็นเหมือนเมื่อหมู่ญาติของสัตว์ทั้งหลายผู้จะต้องตายกำลังแลดูรำพันอยู่โดยประการต่างๆ สัตว์ผู้จะต้องตายผู้เดียวเท่านั้นถูกมฤตยูนำไปเหมือนโคที่จะถูกฆ่า ถูกนำไปตัวตัวเดียวฉะนั้น

ในคำนั้นว่า โลกไม่มีเครื่องต้านทาน คำนั้นท่านอธิบายไว้ว่า ท่านผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญามีพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นต้นเหล่าใด ท่านเหล่านั้นย่อมรู้ว่าโลกถูกมัจจุและชราเบียดเบียนอย่างนี้ โลกนั้นอันใครๆ ไม่สามารถจะต้านทานได้ เพราะฉะนั้นนักปราชญ์ทั้งหลายย่อมไม่เศร้าโศก ครั้นรู้แล้ว คือรู้สภาพของโลกนี้ว่าเป็นโลกสมมติ จึงไม่เศร้าโศก.

คำว่า ท่านย่อมไม่รู้ทางของผู้มาหรือผู้ไป ไม่เห็นที่สุดทั้งสองอย่าง ถึงจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์ท่านอธิบายไว้อย่างไร. อธิบายว่า ท่านไม่รู้ทางมาของผู้มาสู่ครรภ์มารดา หรือทางไปของผู้จุติจากโลกนี้แล้วไปในโลกอื่น เมื่อไม่เห็นที่สุดทั้งสองเหล่านี้ถึงจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์ ส่วนนักปราชญ์ทั้งหลายเห็นที่สุดเหล่านั้น ครั้นรู้แล้วย่อมไม่เศร้าโศกถึงโลกสมมติ

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงยังความไม่มีประโยชน์แห่งความคร่ำครวญดังได้กล่าวแล้วในบทนี้ว่า นิรตฺถ ปริเทเวสิ ถึงคร่ำครวญไปก็สำเร็จแต่ความไร้ประโยชน์ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ปริเทวยมาโน เจ ถ้าผู้คร่ำครวญหลงเบียดเบียนตนอยู่ ดังนี้

ในบทเหล่านั้น บทว่า อุทพฺพเห ให้เกิดขึ้นได้ คือ พึงให้เกิดขึ้นทรงไว้ อธิบายว่า ให้เกิดพร้อมในตน.

บทว่า สมฺมุฬฺโห หึสมตฺตาน คือเป็นผู้หลงเบียดเบียนตน.

บทว่า กยิรเจน วิจกฺขโณ บุรุษผู้เห็นแจ้ง พึงทำความคร่ำครวญนั้น ความว่า หากว่าคนเช่นนั้นพึงยังประโยชน์ไรๆ ให้เกิดแม้บุรุษผู้เห็นแจ้งพึงทำความคร่ำครวญนั้น.

ในบทว่า น หิ รุณฺเณนเพราะการร้องไห้ก็หาไม่ นี้โยชนาแก้ไว้ว่า ใครๆ ย่อมไม่ถึงความสงบทางใจด้วยการร้องไห้หรือด้วยความเศร้าโศก. อีกอย่างหนึ่ง ทุกข์ย่อมเกิดแก่บุคคลนั้นยิ่งกว่าความร้องไห้และความเศร้าโศก และสรีระของผู้นั้นย่อมถูกเบียดเบียนด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณซูบซีด เป็นต้น.

บทว่า น เตน เปตา สัตว์ทั้งหลายผู้ละไปแล้วย่อมรักษาตนไม่ได้ ความว่า ด้วยความคร่ำครวญนั้นสัตว์ทั้ง หลายผู้ตายไปแล้ว ย่อมรักษาตนไม่ได้ คือยังตนให้เป็นไปไม่ได้ ความคร่ำครวญนั้นไม่เป็นประโยชน์แก่คนเหล่านั้น เพราะฉะนั้น การคร่ำครวญไม่มีประโยชน์. ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้น ยังนำความพินาศมาอีกด้วยเพราะเหตุไร. เพราะคนผู้ทอดถอนใจถึงบุคคลผู้ทำกาละแล้ว ยังละความเศร้าโศกไม่ได้ ตกอยู่ในอำนาจแห่งความเศร้าโศก ย่อมถึงทุกข์ยิ่งขึ้น.

ในบทเหล่านั้นบทว่า อนุตฺถุนนฺโต คือเศร้าโศกถึงอยู่.

บทว่า วสมนฺวคู คือไปสู่อำนาจ.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงถึงความที่ความโศกไม่มีประโยชน์และความที่ความโศกนำความพินาศมาให้แล้ว เมื่อจะทรงสั่งสอนเพื่อกำจัดความโศก จึงตรัสคำมีอาทิว่า อญฺเปิ ปสฺส ท่านจงเห็นคนแม้เหล่าอื่น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า คมิเน คือผู้ไป อธิบายว่าผู้เตรียมจะไปสู่ปรโลก.

บทว่า ผนฺทนฺเตวิธ ปาณิเน ได้แก่ สัตว์ในโลกนี้กำลังพากันดิ้นรนอยู่เพราะกลัวตาย.

บทว่า เยน เยน ได้แก่ สัตว์ทั้งหลายย่อมสำคัญด้วยอาการใดว่า จักเป็นผู้มีอายุยืน จักเป็นผู้ไม่มีโรค. อาการนั้นย่อมแปรเป็นอย่างอื่นไป สำคัญอย่างนี้แล้วย่อมตายบ้าง ย่อมมีโรคบ้าง ความพลัดพรากกันเช่นนี้ ย่อมมีได้ด้วยสำคัญว่า เป็นข้าศึก ดูก่อนอุบาสก ท่านจงดูสภาพของโลกเถิด พึงทราบโยชนาอธิบายไว้ในบทนี้ ด้วยประการฉะนี้

คำว่า อรหโต สุตฺวา บุคคลฟังธรรมเทศนาของพระอรหันต์เห็นปานนี้แล้ว.

คำว่า เนโส ลพฺภา มยา อิติ ความว่า บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น บัดนี้ เราไม่พึงได้ว่าจงเป็นอยู่อีกเถิด ท่านอธิบายว่า เมื่อกำหนด รู้ด้วยประการฉะนี้ พึงกำจัดความคร่ำครวญออกไป. มีอะไรจะกล่าวอีก. บุคคลพึงดับไฟที่ไหม้ลุกลามไปด้วยน้ำฉันใด นรชนผู้เป็นนักปราชญ์มีปัญญาเฉลียวฉลาด พึงกำจัดความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นเสียโดยพลันเหมือนลมพัดนุ่นปลิวไปฉะนั้น.

ในบทว่า ธีโร เป็นต้นนั้นพึงทราบดังนี้ ชื่อว่า ธีโร เพราะถึงพร้อมด้วยปัญญา. ชื่อว่า สปฺปญฺโญ เพราะมีปัญญาสะสมไว้มาก. ชื่อว่าปณฺฑิโต เพราะมีปัญญาเกิดจากการฟังมาก. ชื่อว่า กุสโล เพราะเป็นนักคิด. อีกอย่างหนึ่ง พึงประกอบด้วยจินตามยปัญญา (ปัญญาสำเร็จด้วยความคิด) สุตมยปัญญา (ปัญญาสำเร็จด้วยการฟัง) ภาวนามยปัญญา (ปัญญาสำเร็จด้วยการอบรม) มิใช่แต่ความโศกอย่างเดียวเท่านั้น คนผู้แสวงหาความสุขเพื่อตนพึงกำจัดความรำพัน ความทะยานอยากและความโทมนัสของตน พึงถอนลูกศรคือกิเลสของตนเสีย

ในบทเหล่านั้นบทว่า ปชฺปฺปํ คือ ตัณหา.

บทว่า โทมนสฺสํ คือทุกข์ทางใจ.

บทว่า อพฺพุฬฺเห คือ พึงถอน.

บทว่า สลฺลํ คือ ชื่อว่า สลฺลํ เพราะแทงเข้าไปภายในนำออกยากมีลักษณะแหลมคม หรือลูกศรมีราคะเป็นต้น ๗ อย่างดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในก่อน. เมื่อถอนลูกศรนี้ได้แล้ว เป็นผู้มีลูกศรคือกิเลสอันถอนขึ้นแล้ว อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้วถึงความสงบใจ ก้าวล่วงความเศร้าโศกได้ทั้งหมด เป็นผู้ไม่มีความเศร้าโศกเยือกเย็นฉะนี้แล.พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาลงด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัต

ในบทเหล่านั้นบทว่า อสิโต ได้แก่ อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว

บทว่า ปปฺปุยฺย แปลว่า ถึงแล้ว

บทที่เหลือในสูตรนี้มีความง่ายทั้งนั้นเพราะฉะนั้นท่านจึงไม่พรรณนาไว้

จบอรรถกถาสัลลสูตรที่ ๘


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 5 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ