ความงาม
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอเรียนถามดังนี้ค่ะ
๑. ความงามมีหรือไม่มี ความไม่งามมีหรือไม่มี วัดหรือประเมินได้หรือไม่ ใข้ความพอใจในการวัด หรือใช้อะไรเป็นเครื่องวัด เห็นสิ่งไม่งามว่างาม เห็นสิ่งที่งามว่าไม่งาม เป็นทิฏฐิ หรือเป็นธรรมอะไรอย่างไร
๒. ความงามความละเอียดประณีตของรูปธรรมต่างๆ เช่น ความงามของสี ของเสียง (ไพเราะ) ของกลิ่น (หอม) ของรส (กลมกล่อม) ของสัมผัส (นุ่มนวล) ความทรามความหยาบความเลวของรูปธรรมต่างๆ ก็มีลักษณะที่ตรงข้ามกัน ควรพิจารณาว่าความจริงเกี่ยวกับธรรมนี้เป็นอย่างไร
๓. ความงามหรือไม่งามของนามธาตุ เกี่ยวกับ จิต เจตสิก พิจารณาอย่างไรในเชิงวิชาการ (ที่สุดแล้วก็คงเป็นปัญญาที่จะรู้ได้)
(ขออภัยหากคำ-ข้อความ ไม่ถูกต้องภาษาธรรม นะคะ ช่วยอธิบายความถูกต้องด้วยค่ะ)
ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
-ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็อยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก ความเป็นจริงของธรรม ไม่เคยเปลี่ยนแปลง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น สภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวันนั้น ไม่พ้นไปจากนามธรรม กับ รูปธรรม, นามธรรม ก็ได้แก่จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ส่วนรูป เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร เกิดขึ้นตามสมุฏฐานต่างๆ แล้วก็ดับไป ทั้งหมด ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จากประเด็น "งาม" นั้น อะไรที่งาม เมื่อพูดทั่วไป สิ่งที่ประณีต สวย ก็เรียกว่า งาม อย่างพระรูปกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า งาม โดยไม่มีสิ่งใดเปรียบได้ ความเป็นจริงก็ต้องเป็นอย่างนี้ สภาพจิตที่เป็นกุศล ก็เป็นสภาพธรรมที่งาม ดีงามเกิดกับใคร ก็เป็นผู้งาม งามด้วยคุณความดี เพราะเป็นสภาพธรรมที่ไม่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยใดๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เมื่อเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้ว ไม่งาม เพราะเกิดแล้วดับ ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน แต่ที่เห็นว่างาม จะด้วยความติดข้องต้องการก็ได้ ด้วยความเห็นผิดที่เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงก็ได้
- ความหยาบ ความละเอียด ความประณีตของรูปธรรม ก็มีแตกต่างกัน ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งก็คือ ธรรมที่มีจริง ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย สำคัญที่ความเข้าใจว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่เรา
-สภาพธรรมที่งามจริงๆ ก็ต้องเป็นนามธรรม ได้แก่ กุศลจิต และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย จะเห็นได้ว่าเจตสิกที่ดีงาม มี ศรัทธา หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) อโลภะ (ความไม่ติดข้อง) อโทสะ (ความไม่โกรธ) เป็นต้น ก็ปรุงแต่งให้จิตเป็นจิตที่ดีงาม เป็นกุศล เป็นธรรมที่ไม่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยใดๆ เลย และถ้าเป็นกุศลขั้นสูงแล้ว ก็สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นจนหมดสิ้นไม่มีกิเลสใดๆ เกิดอีกเลย ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นอกุศลแล้ว ไม่งาม เลย ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ก็ไม่งาม ตามสภาพธรรมที่เป็นอกุศล นั้นๆ เพราะฉะนั้น จึงสำคัญที่ความเข้าใจ ไม่ใช่การไปติดที่คำ ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ความงาม ความดี
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...