ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๓๔ -.-.-

 
khampan.a
วันที่  14 ก.พ. 2559
หมายเลข  27457
อ่าน  2,017

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๓๔

~ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แล้วทรงแสดง ทรงพระมหากรุณาให้ผู้ฟัง เกิดปัญญาด้วยตนเอง นี่คือพระคุณที่สูงสุด คือ ทำให้ผู้มีอวิชชา (ความไม่รู้) เกิดมีวิชชา (ความรู้) ขึ้น ไม่หลง ไม่งมงาย ไม่ตื่นเต้นในข่าวต่างๆ ฉะนั้น แม้คำว่าปฏิบัติธรรม ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วย ถ้ามีคนนั่งหลับตาแล้วบอกว่าปฏิบัติธรรม แล้วเราก็บอกว่าเขาปฏิบัติธรรม ใครๆ ก็บอกว่าเขาปฏิบัติธรรม ก็เป็นสิ่งที่เหลวไหล เพราะเหตุว่า ยังไม่เข้าใจเลยว่าปฏิบัติธรรมจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร ต่อเมื่อใดเข้าใจแล้ว จึงจะรู้ว่าปฏิบัติธรรมหรือไม่ใช่ปฏิบัติธรรมซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจที่ถูก

~ ถ้าในชาตินี้ยังไม่เป็นผู้ที่ตรง ยังไม่เป็นผู้ที่อ่อนน้อม ยังไม่เป็นผู้ที่อดทน ยังไม่เป็นผู้ที่มีวาจาอ่อนหวาน ยังไม่เป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อ คือ ว่าง่ายเมื่อถูกกล่าวสอนโดยธรรม ก็ควรที่จะพิจารณาแล้วเริ่มตั้งแต่ในชาตินี้ ซึ่งย่อมเป็นการกระทำตามอย่างพระอริยเจ้าในอดีตชาติทั้งหลาย ที่ท่านยอมรับฟังคำของบัณฑิต และประพฤติตามคำของบัณฑิต แม้ว่าเป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็จะต้องเป็นผู้ที่ตรง เห็นว่าอกุศลเป็นอกุศล แล้วเริ่มขัดเกลาจริงๆ

~ สำหรับความเห็นผิด ตราบใดที่ยังไม่ละทิ้งให้หมดสิ้น และยังไม่อบรมเจริญความเห็นถูกขึ้น ผู้นั้นก็ย่อมจะวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ฎ์ โดยที่ว่าไม่มีการกำหนดได้ว่า เมื่อไรจึงจะพ้น เพราะเหตุว่ายังมีความเห็นผิดอยู่

~ กว่าที่จะดับกิเลสของตนเองได้ ก็จะต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงทุกอย่าง เพราะเหตุว่าที่ยึดถือว่าเป็นตัวตน หรือเป็นเรา แท้ที่จริงก็คือ การสะสมของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ถ้าสะสมโลภะมา มีกำลังที่จะพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สภาพธรรมที่กระทบสัมผัสทางกาย) ก็จะยินดีในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข จนกระทั่งสามารถที่จะหลอกลวง หรือกระทำทุจริตต่างๆ ได้

~ กิเลสที่มีมาก ใครบังคับไม่ได้ ไม่มีชื่อด้วย เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะมีการกระทำทางกาย วาจาอย่างไร ก็เป็นไปด้วยกำลังของกิเลสนั้นๆ ที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่ได้ดับ ก็ต้องมีปัจจัยที่เกิดขึ้นอีก แต่เมื่อมีหิริ ความละอาย ความรังเกียจ ความเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เกิดขึ้นบ้าง ก็จะทำให้มีความเพียรที่จะขัดเกลา

~ ทุกคนเคยโกรธมาแล้วทั้งนั้น ก็พอที่จะเปรียบเทียบได้ว่า ขณะที่โกรธต่างกับขณะที่ไม่โกรธ เวลาที่ไม่โกรธก็รู้สึกสบายดี ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก็เป็นปกติ แต่พอเวลาที่เกิดโทสะขึ้น ขณะนั้นจะเห็นได้ว่า มีความดุร้ายเป็นลักษณะ ราวกับอสรพิษที่ถูกตี เปลี่ยนสภาพของปกติแล้ว ใช่ไหม ในขณะที่ความโกรธเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความขุ่นเคืองเล็กๆ น้อยๆ หรือว่าเป็นแต่เพียงความหงุดหงิด ความไม่แช่มชื่น ความไม่พอใจ จนกระทั่งถึงความรู้สึกน้อยใจ เสียใจ เดือดร้อนใจ จนกระทั่งเป็นทุกข์โศกเศร้า ในขณะนั้นให้เห็นลักษณะสภาพของจิตซึ่งประกอบด้วยโทมนัสเวทนา ซึ่งต่างกับขณะที่โทมนัสเวทนาไม่เกิด

~ น่าสงสารคนที่ทำไม่ดีบ้างไหม แม้แต่คนอื่นจะมาทำดีด้วย ก็โกรธ ไม่อยากที่จะให้คนอื่นมาทำดีกับคนนั้น กับคนที่ตนไม่ชอบ เพราะเหตุว่าเมื่อไม่ชอบคนนั้นอยู่แล้ว แล้วคนอื่นมาทำดีกับคนนั้นก็เลยไม่ชอบคนที่ทำดีกับคนที่ตนไม่ชอบด้วย เคยเป็นอย่างนี้บ้างหรือเปล่า ยังเป็นอย่างนี้อยู่หรือเปล่า และต่อไปจะเป็นอย่างนี้อีกหรือเปล่า? นี่เป็นเรื่องที่แต่ละท่านจะพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง ว่าสิ่งใดที่เป็นอกุศล ควรละ ถ้าไม่รู้ก็อาจจะหลง เป็นไปเหมือนเดิม แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่า อกุศลเป็นอกุศล ก็ควรที่จะได้ละอกุศลทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ท่านชอบ หรือเป็นผู้ที่ท่านไม่ชอบ ก็ควรที่จะพิจารณาในทางที่จะทำให้กุศลจิตเกิด ไม่ใช่พิจารณาในทางที่จะทำให้อกุศลจิตเกิด


~ ถ้าไม่โกรธ จะดุร้ายไหม? เพราะฉะนั้น ใครที่ดุ ให้ทราบว่าเพราะความโกรธ จึงเป็นคนดุ ลักษณะของโทสะ ต้องเป็นลักษณะที่ดุร้าย

~ จะเป็นประโยชน์มากที่จะรู้จักตัวเอง ซึ่งสามารถจะเริ่มเข้าใจจากการฟังพระธรรม ซึ่งเป็นการสะสมใหม่ เพราะเหตุว่าการสะสมเดิม คือ อวิชชาและโลภะ แต่ว่าเมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรม จะเป็นการสะสมใหม่ คือ สะสมปัญญา ซึ่งตรงกันข้ามกับอวิชชา แล้วก็สะสมอโลภะ อโทสะ ซึ่งตรงกันข้ามกับโลภะ โทสะ

~ เมื่อได้ฟังพระธรรมส่วนละเอียดมากขึ้น ก็จะรู้ว่าอกุศลธรรมมีหลายขั้น อกุศลอย่างหยาบเป็นเหตุให้เกิด กายทุจริต วจีทุจริต ทางกายมีประหัตประหารเบียดเบียน ยึดถือทรัพย์ของคนอื่นที่เจ้าของไม่ได้ให้เอามาเป็นของตน ทางวาจา ก็มีกิเลสขั้นหยาบที่ทำให้พูดเท็จ คำพูดที่น่าฟังกับคำพูดที่ไม่น่าฟัง เกิดจากจิตที่ต่างกัน คำพูดหยาบ ต้องเกิดจากอกุศลจิตที่มีกำลังมาก คำพูดที่แสดงถึงความสำคัญตน ก็เกิดจากอกุศลที่ตรงกันข้ามกับสภาพจิตใจที่อ่อนโยน มีเมตตา มีความเป็นเพื่อน อย่างจริงใจ

~ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้ว่า ความเห็นมี ๒ อย่างคือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ๑ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ๑ ความเห็นถูก คือ เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ไม่คลาดเคลื่อน ไม่เข้าใจผิด เห็นว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นถูกหรือเห็นผิด? เห็นว่าสภาพธรรมไม่มีปัจจัย เกิดขึ้นมาลอยๆ นั้น เห็นถูกหรือเห็นผิด?

~ พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้แล้วเป็นศาสดาแทนพระองค์ ผู้ที่ศึกษาพระธรรมเข้าใจแล้วรู้ว่า การปฏิบัติถูกคืออย่างไร การปฏิบัติผิดคืออย่างไร

~ ถูกคือถูก ผิดคือผิด ไม่ว่าในศาสนาไหนความกตัญญู เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดี เอาชื่อศาสนาออก สภาพธรรมนั้น ก็คงเป็นอย่างนั้น คือเป็นกุศลธรรม ความลบหลู่หรือความอกตัญญู ถ้าใครบอกว่าดี ก็ต้องเป็นความเห็นผิดแน่ ในเมื่อเป็นอกุศลจะดีได้อย่างไร

~ ปฏิบัตินั้น ไม่ใช่นั่งหลับตา ไม่ใช่เดินผิดปกติ แต่ขณะใดที่ปัญญา เกิดพร้อมสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมด้วยความเข้าใจ ขณะนั้นสติปัญญาปฏิบัติกิจของสติปัญญา คือระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดแล้วค่อยๆ เข้าใจ สะสมความรู้ความเข้าใจไปจนกว่าจะถึงกาลที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งจะเป็นขณะไหนก็ได้

~ สำหรับในพระพุทธศาสนาแล้ว ปัญญาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเหตุว่าด้วยปัญญาพระผู้มีพระภาคจึงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและทรงแสดงพระธรรมทั้งหมดเพื่อเกื้อกูลพุทธบริษัทให้เกิดปัญญาของตัวเองด้วย

~ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนสัตว์บุคคล ฉะนั้น ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ต้องไม่ใช่เราและก็ไม่ใช่ตัวตนด้วย เป็นเพียงจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คือเมื่อมีจักขุปสาทแล้วมีสิ่งที่กระทบตา มีการเห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะเหตุว่าจิตที่เห็นไม่ใช่จิตที่ได้ยิน นี่แสดงให้เห็นความต่างกันว่า คนหนึ่งๆ จะมีจิตซ้อนกัน ๒ - ๓ ขณะไม่ได้

~ การอบรมเจริญปัญญานั้นเป็นจิรกาลภาวนา (ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน) เป็นการที่จะต้องอบรม เจริญไปจนกว่าปัญญาจะสมบรูณ์ ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่นานมากทีเดียว เพราะส่วนใหญ่แล้ว จะตอบว่ามีจิต แต่ไม่ทราบว่าขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน แต่ถ้าทราบว่ากำลังเห็นเป็นจิต กำลังได้ยินเป็นจิต กำลังคิดนึกเป็นจิต ตลอดวันเป็นจิต ซึ่งเกิดดับสืบต่อตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ และจิตที่ดับไปแล้ว ก็ดับไปเลย ไม่ใช่กลับมาเกิดอีก

~ ระหว่างธรรม กับธรรมชาติต่างกันอย่างไร? ถ้าพูดถึงธรรมชาติ บางคนอาจคิดถึงภูเขา ต้นไม้ น้ำทะเล ดาว แต่ถ้าพูดถึงธรรมแล้ว เป็นสิ่งซึ่งหมายถึงสิ่งที่มีจริงๆ เป็นสิ่งซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับ ไป เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงธรรมชาติก็จะต้องเข้าใจด้วยว่า ธรรมชาติในทางธรรมหรือธรรมชาติในทางโลก ธรรมชาติในทางธรรมก็คือธรรม หมายถึงไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นธรรมะ เป็นธาตุ ใช้คำว่าธาตุก็ได้หรือธรรมก็ได้

~ ความไม่รู้ ไม่มีประโยชน์

~ ถ้าตั้งต้นด้วยความไม่รู้ แล้วความดีจะมีมาแต่ที่ไหน.

ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๓๓

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachuabc
วันที่ 14 ก.พ. 2559

อนุโมทนา มากๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
jirat wen
วันที่ 14 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
j.jim
วันที่ 14 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
swanjariya
วันที่ 14 ก.พ. 2559

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านวิทยากรและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Boonyavee
วันที่ 14 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 14 ก.พ. 2559

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 14 ก.พ. 2559

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
rrebs10576
วันที่ 14 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wirat.k
วันที่ 15 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
kullawat
วันที่ 15 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Noparat
วันที่ 15 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
jaturong
วันที่ 15 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
thilda
วันที่ 16 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
worrasak
วันที่ 17 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
เมตตา
วันที่ 17 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนา อ.คำปั่น ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
นิคม
วันที่ 20 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ