อกุศลกรรมจากการได้ยินเสียงคนพูดจาส่อเสียด ว่าร้ายให้เราทุกข์ใจ
การที่เรามักจะได้ยินคนพูดจาส่อเสียดว่าร้ายบ่อยๆ ทั้งๆ ที่เราไม่เคยทำอะไรให้กับเขา เลย ซึ่งดิฉันก็เข้าใจว่าคงเกิดจากเหตุปัจจัยที่เราเคยว่าร้ายเขาไว้ในอดีต แต่พอได้ยิน ได้ฟังบ่อยๆ เข้า บางทีเราก็เกิดความทุกข์ใจ ช่วยแนะนำด้วยค่ะว่าควรจะทำอย่างไรดี
การมีชีวิตอยู่ในวัฏฏะที่ยังเป็นไปกับโลก ย่อมประสบกับธรรมประจำโลกหรือโลกธรรม การส่อเสียดว่าร้ายเป็นธรรมประจำโลก มีทุกยุคทุกสมัย แม้แต่พระพุทธองค์ยังไม่พ้นการว่าร้ายจากอัญญะเดียรถี ที่สำคัญเราคงไม่สามารถไปแก้หรือห้ามเขาไม่ให้พูดว่าร้ายได้ แต่เราแก้ใจของเราไม่ให้ทุกข์ไปตามคำพูดของเขาได้ด้วยการอบรมเจริญปัญญา
กุศลวิบาก หรืออกุศลวิบากให้ผลได้ 5 ทวาร ทางตา เห็นรูปดีหรือไม่ดี ทางหูได้ ยินเสียงดีหรือไม่ดีทางจมูกได้กลิ่นดีหรือไม่ดี ทางลิ้นลิ้มรสดีหรือไม่ดีทางกายกระทบ สัมผัสดีหรือไม่ดี แต่ทุกข์ทางใจไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นกิเลสของเราเองที่สะสม มา ถ้าเรามีปัญญาเราจะไม่ทุกข์ เพราะรู้ว่าเป็นผลของกรรมที่ได้ทำไว้แล้วในอดีต แต่เราสามารถทำเหตุใหม่ ด้วยการไม่เบียดเบียนคนอื่น ทำความดีอนุเคราะห์ เกื้อกูลเขา แนะนำสิ่งที่ดีให้เขา เพราะเขาพูดส่อเสียดจะเป็นเหตุให้เขาไป อบายภูมิ วิบากอย่างเบาหลังจากเกิดเป็นมนุษย์ทำให้แตกจากมิตร เป็นต้น
ขณะที่ได้ยิน เสียงที่ไม่น่าพอใจ เป็นโสตวิญญาณอกุศลวิบาก เป็นจิตที่เป็นผลจาก อกุศลกรรมที่เราได้กระทำไว้แล้วในอดีตชาติ หรือปัจจุบันชาติ จึงไม่มีสัตว์ บุคคลตัวตนที่ได้ยินเสียง แต่เป็นเพียง อกุศลวิบากจิต ซึ่งเกิดขึ้นได้ยิน แล้วก็ดับไปทันที จิตเกิดขึ้นที่ไหน ก็ดับที่นั่น จิตได้ยิน เกิดขึ้นที่หู ก็ดับที่หู จึุงไม่เป็นไปตามความต้องการของเรา แต่เป็นไปตามผลของกรรม ที่ได้กระทำไว้แล้วนั่นเอง
จะโทษใครได้ครับ ในเมื่อเราทำเหตุมา เมื่อเหตุมีผลก็ต้องมีครับ จะขอยกต้วอย่าง ที่พระพุทธเจ้า สอนเรื่องความอดทน ที่มีต่อคำหยาบครับ ลองอ่านดูนะ
[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 83
"เธออย่าได้กล่าวคำหยาบกะใครๆ ชนเหล่าอื่น ถูกเธอว่าแล้ว จะพึงตอบเธอ, เพราะการกล่าวแข่งขัน กันให้เกิดทุกข์ อาชญาตอบพึงถูกต้องเธอ ผิเธอ อาจยังตนไม่ให้หวั่นไหวได้ ดังกังสดาลที่ถูกกำจัด แล้วไซร้ เธอนั่นย่อมบรรลุพระนิพพาน, การกล่าว แข่งขันกัน ย่อมไม่มีแก่เธอ."
[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ 774
ข้อความบางตอนจาก ติสสสูตร
พ. จริงอย่างนั้น ติสสะ เธอว่าเขาข้างเดียว แต่เธอไม่อดทนต่อ ถ้อยคำ ข้อที่เธอว่าเขาข้างเดียว ไม่อดทนต่อถ้อยคำนั้น ไม่สมควรแก่ เธอผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา แต่ข้อที่เธอว่าเขาด้วย อดทนต่อถ้อยคำได้ด้วย นั่นแล สมควรแก่เธอผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็น บรรพชิตด้วยศรัทธา.
[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 63
"บุคคลไม่ควรทำคำแสยงขนของคนเหล่าอื่นไว้ในใจ, ไม่ควรแลดูกิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของคนเหล่าอื่น, พึงพิจารณากิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของตนเท่านั้น."
ขออนุโมทนาทุกความเห็นค่ะ
คงเป็นเรื่องธรรมดาที่ปุถุชนอย่างเราจะมีความรู้สึกทุกข์ใจ เมื่อได้ยินได้ฟังการว่า ร้ายส่อเสียด เนื่องจากความเข้าใจจริงๆ ในเรื่อง ไม่มีตัวตน สัตว์ และบุคคล ยังไม่ เกิดแก่เรา จึงมีเราอยู่ตลอดเวลา ที่ได้รับรู้เสียงหรือรับรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น จึงเดือด ร้อนใจ
เมื่อดิฉันฟังพระธรรม และไตร่ตรองเพื่อความเข้าใจทีละเล็กละน้อยแล้ว เมื่อเกิด ผัสสะที่ไม่น่าพอใจขึ้นพบว่ามีความคิดพิจารณาที่เปลี่ยนไปจากแต่ก่อน (ก็ยังมีตัวตน ในขณะที่พิจารณา) กล่าวคือ มีความเข้าใจระดับหนึ่งได้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิด ขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีการตั้งอยู่ของสภาพนั้น และไม่นานก็ดับไป ไม่เคยอยู่กับเรา ได้นานโดยที่เราอยากจะบังคับหรือควบคุมก็ทำไม่ได้
จึงมีความคิดว่า ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วจะเดือดร้อน กับสภาพธรรมที่เกิดขึ้นไปทำไมแต่กลับคิดได้ว่า นี่แหละเป็นธรรมะ ที่จะให้เราได้ศึกษา เหมือนที่ท่านอาจารย์ว่าธรรมะคืออะไร ไม่ได้อยู่ไกลจากตัวเราเลย ถ้าเราสามารถเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าเป็นสภาพธรรม จริงๆ โดยที่เราไม่ต้องคิดที่จะไปควบคุมบังคับ หรือปรุงแต่ง ความนึกคิดต่อ ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่า การพิจารณาตามความรู้ที่ได้จากการฟัง ธรรมะ แม้ยังคงมีเราอยู่ แต่ความคิดที่เปลี่ยนไปในทางที่ถูกต้องกว่าเก่าก่อน ก็อาจทำ ให้ละคลายจากอารมณ์ที่มักเกิดเสมอๆ ได้โดยแม้มีอารมณ์ใดเกิดขึ้น ก็ให้ทราบว่านั่นก็ คือ สภาพธรรมะอีกนั่นแหละค่ะ สิ่งสำคัญ ก็คือ การศึกษาธรรม ฟังธรรม ต่อไปโดยไม่ ย่อท้อ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏมากขึ้นแม้จะทีละเล็กทีละน้อยค่ะ