การเวียนเทียนในเทศกาลวันสำคัญทางศาสนา
ประเพณีการเวียนเทียนที่ขณะนี้จะมีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ หรือพระเจดีย์ในสถานที่ต่างๆ มีมาตั้งแต่สมัยใดคะในสมัยพุทธกาลมีใหม หรือมามีทีหลัง พุทธชาติอื่นๆ เขามีการเวียนเทียนแบบเราหรือไม่หรือเราไปเอาของพุทธชาติอื่นเขามา ควรจะไปเวียนเทียนไหมคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สมัยครั้งพุทธกาลไม่มีการเวียนเทียน แต่มีข้อความหลายสูตรแสดงว่าผู้ที่เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเมื่อจะลากลับ แสดงความเคารพโดยการกระทำประทักษิณ (เดินเวียนขวา) หรือเดินให้ขวา (หันด้านขวาให้ท่าน) ชื่อว่าเป็นการแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง แต่สมัยปัจจุบันการเวียนเทียนเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวพุทธ
ในสมัยพุทธกาล เมื่ออุบาสก อุบาสิกา ฟังพระธรรมเสร็จเรียบร้อยจากพระพุทธเจ้า เมื่อจะกลับไป ก็จะเดินเวียนขวา ๓ รอบ แสดงถึงความเคารพ และอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ แม้ในขณะที่เดิน ก็ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ตามความเป็นจริง อันแสดงถึงความเคารพในขณะนั้นครับ มาในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว แต่มีศาสนสถาน มี พระเจดีย์ เป็นต้น ที่เป็นเหมือนตัวแทนของพระพุทธเจ้า การกระทำความเคารพและระลึกถึงพระคุณของพระองค์ก็ด้วยการเดิน วน ๓ รอบ แต่ไม่ใช่เดินวนเฉยๆ เท่านั้น แต่ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ตามความเป็นจริง จึงเป็นการเดินเวียน ๓ รอบด้วยความเคารพ ด้วยการะลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยครับ นี่คือวัตถุประสงค์ของการเดินวน ๓ รอบที่แท้จริง ซึ่งก็จะได้ประโยชน์จากเดินวน ๓ รอบด้วยกุศลจิต คือ การเคารพ พระรัตนตรัย และการระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยในขณะที่เดินครับ
คำว่า ประทักษิณ โดยความหมายทั่วไปแล้ว หมายถึง การเวียนขวา คือ การเวียนไปทางขวา ซึ่งเป็นการแสดงซึ่งความเคารพ
ดังเช่นข้อความจากพระไตรปิฎก ดังนี้
[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๓๑
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปเข้าไปถึงมกุฏพันธนเจดีย์ของพวกเจ้ามัลละในเมืองกุสินารา และถึงจิตกาธารของพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วกระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี กระทำประทักษิณจิตกาธาร ๓ รอบ แล้วเปิดทางพระบาทถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้น ก็กระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี กระทำประทักษิณ ๓ รอบแล้วถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 122
[๑๑๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณแล้ว เก็บเสนาสนะแล้ว ถือบาตรและจีวรหลีกจาริกไปทางสุนาปรันตชนบท เมื่อเที่ยวจาริกไปโดยลำดับก็บรรลุถึงสุนาปรันตชนบท
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น อุปการะเกื้อกูลเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส เพราะกิเลสที่มีมาก ถ้าไม่ได้อาศัยการขัดเกลา ด้วยกุศลธรรม แล้ว ก็ไม่สามารถจะทำให้กิเลสเบาบางลงได้เลย การเวียนเทียน แม้จะมีขึ้นในภายหลัง แต่ก็ต้องมุ่งที่จุดประสงค์คือ ความเคารพสักการะบูชาต่อพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ โดยมีกุศลจิต เป็นเครื่องบูชา ขณะที่น้อมบูชาสักการะในสิ่งที่ควรบูชา นั้น เป็นกุศลจิต เป็นสภาพจิตที่อ่อนโยน สำคัญจึงอยู่ที่สภาพจิตจริงๆ เพื่อน้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย อันเป็นรัตนะที่ประเสริฐ ๓ ประการ ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และ พระอริยสงฆ์ ซึ่งเป็นการนอบน้อมสักการะบูชาในสิ่งที่ควรแก่การสักการะบูชา
สิ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุด คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าแล้ว แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม เพราะเมื่อมีความเข้าใจมากขึ้น กุศลธรรมก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน ตามระดับขั้นของความเข้าใจ ความเข้าใจพระธรรม จะเป็นเครื่องนำทางชีวิตให้น้อมไป ให้เป็นไปในทางที่เป็นกุศล ยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของตนเอง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...