สติเจตสิก คืออะไร และเป็นนามขันธ์ชนิดใด

 
apiwit
วันที่  22 ก.พ. 2559
หมายเลข  27478
อ่าน  4,747

การสนทนาธรรมเมื่อสักครู่ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้มีผู้ฟังท่านหนึ่งได้สนทนาใน 2 ประเด็นคือ เรื่องสติ และ ขันธ์

1. เมื่อกล่าวถึงสติ สติคืออะไร อยากให้ท่านอาจารย์แสดงความละเอียดในคำว่าสติ

2. ขันธ์ คือ สภาพธรรมที่มีจริง มีความเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา ดังนั้น สติย่อมเป็นขันธ์ในส่วนของนามขันธ์ แต่นามขันธ์นั้นแยกออกเป็น 4 ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และ วิญญาณขันธ์ ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายว่า สติเป็นนามขันธ์ชนิดใด


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 ก.พ. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติ ตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นเจตสิก สติเป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเกิดกับจิตที่ดีงาม ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย สติ ทำหน้าที่ระลึกเป็นไปในทางที่ดี และ สติเป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้นกระแสกิเลส

สติ มีหลายอย่าง หลายชนิด แต่ สติ ก็ต้องกลับมาที่ สติเป็น สภาพธรรมฝ่ายดี ครับ สติ แบ่งตามระดับของกุศลจิต เพราะเมื่อใด กุศลจิตเกิด สติจะต้องเกิดร่วมด้วย กุศลจิต มี 4 ขั้น คือ ขั้นทาน ศีล สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

สติจึงมี ๔ ขั้น คือ สติที่ระลึกเป็นไปในทาน สติที่ระลึกไปในศีล สติที่ระลึกเป็นไปในสมถภาวนา และ สติที่ระลึกเป็นไปในวิปัสสนาภาวนา

สติขั้นทาน คือ เมื่อสติเกิดย่อมระลึกที่จะให้ สติขั้นศีล คือ ระลึกที่จะไม่ทำบาป งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ สติขั้นสมถภาวนา เช่น ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า และสติขั้นวิปัสสนา คือ สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ เกิดพร้อมปัญญารู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ดังนั้น สติ จึงเป็นสภาพธรรม ที่ระลึกเป็นไปในกุศลทั้งหลาย และ ขณะใดที่สติเกิดขณะนั้น อกุศลไม่เกิด เพราะ กั้นกระแสกิเลสในขณะนั้น

ขอเพิ่มเติมความละเอียดของสติดังนี้ ครับ

โดยมาก คนไทย นำภาษาบาลีมาใช้ โดยไม่ตรงกับความหมายของภาษาบาลี และไม่ตรงกับความหมายของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ อย่างเช่น คำว่า สติ

สติในภาษาไทย ก็เข้าใจกันว่า ทำอะไร ก็รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ เดินก็รู้ว่าเดินอยู่ ซื้อของก็ให้มีสติ น้ำท่วมก็ให้มีสติ สรุปว่า คนไทยที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เข้าใจว่า สติคือรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ชื่อว่า มี สติ ความหมายสตินี้ไม่ตรงตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ

สติ ที่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ สติ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นเจตสิกเกิดกับจิตที่ดีเท่านั้น ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ดังนั้นขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่มีสติ ขณะใดที่เป็นกุศล ไม่ว่าระดับใด ขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยครับ สติทำหน้าที่ระลึก และกั้นกระแสกิเลสที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้นในขณะที่สติเกิดครับ

ขันธ์ หมายถึง สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ขันธ์ ทั้งหมด มี ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ (รูปทั้งหมด) เวทนาขันธ์ (ความรู้สึก) สัญญาขันธ์ (ความจำ) สังขารขันธ์ (ได้แก่เจตสิก ๕๐ มี ผัสสะ เจตนา เป็นต้น) และวิญญาณขันธ์ ได้แก่ จิตทั้งหมด ดังนั้น ขันธ์ มี ๕ ไม่ขาด และ ไม่เกิน

ดังนั้น ต้องเป็นกุศล จึงจะมีสติ และขณะที่รู้ว่าจะต้องทำอะไรในขณะนั้น รู้ว่าเดินอยู่นั่งอยู่ แต่จิตไม่ได้เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ไม่เป็นกุศล หรือ เพียงรู้ว่าจะต้องทำอะไร ไม่ใช่สติ ครับ

สติเป็นเจตสิก เป็นเจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 22 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 22 ก.พ. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตประจำวัน เป็นธรรม มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด เป็นขันธ์ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์บุคคล ตัวตน สติ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพรู้ (นามธรรม) เป็นขันธ์ เป็นสังขารขันธ์ [สังขารขันธ์ หมายถึงเจตสิกที่ปรุงแต่งจิต มี ๕๐ ประเภท เพราะ เจตสิกทั้งหมด มี ๕๒ เฉพาะเจตสิก ๕๐ เท่านั้น ที่เป็นสังขารขันธ์ เนื่องจากว่า สัญญาเจตสิก เป็นสัญญาขันธ์ และเวทนาเจตสิก เป็นเวทนาขันธ์ เจตสิกที่เหลือเป็นสังขารขันธ์ทั้งหมด เช่น เจตนา โลภะ โทสะ โมหะ ศรัทธา สติ วิริยะ ปัญญา เป็นต้น] สติเป็นสภาพธรรมที่งาม เป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศลธรรม เป็นสภาพที่ปรุงแต่งจิต สติจะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต เลย กุศลกับอกุศล เป็นธรรมคนละประเภทกัน ไม่เกิดร่วมกันอย่างเด็ดขาด สติ เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามหตุตามปัจจัย

โดยปกติของปุถุชนแล้ว เป็นผู้ตกไปในฝักฝ่ายของอกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ เป็นผู้มีโทษมาก เพราะกาย วาจา และใจ เป็นไปกับด้วยอกุศล เมื่อสะสมมากขึ้นๆ มีกำลังมากขึ้น ก็ทำให้ล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดำ เป็นธรรมที่ไม่ดี เช่น โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ตามควรแก่อกุศลจิตประเภทนั้น โดยที่ไม่มีสติเลย ในขณะที่จิตเป็นอกุศล เพราะสติ ไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล ไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิตและการอบรมเจริญปัญญาแล้ว เป็นอกุศลทั้งนั้น (เมื่อไม่กล่าวถึงขณะที่เป็นวิบาก และ กิริยา) มีเพียงกุศลเกิดแทรกสลับกับอกุศล เท่านั้นจริงๆ ซึ่งขณะที่จิตเป็นกุศล ประกอบด้วยโสภณเจตสิกฝ่ายดีประการต่างๆ มี ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ สติ เป็นต้น [และที่ขาดไม่ได้เลย คือ สติ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล] ย่อมเป็นการกั้นกระแสของอกุศล เนื่องจากว่าในขณะที่เป็นกุศล อกุศลก็เกิดไม่ได้ โดยไม่มีตัวตนที่ไปกั้น แต่เป็นธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ซึ่งจะต้องค่อยๆ เจริญกุศล เห็นประโยชน์ของความดีประการต่างๆ [ไม่เห็นว่า อกุศลดีกว่ากุศล] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อละคลายกิเลส จนกระทั่งสามารถดับได้ในที่สุด ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Tommy9
วันที่ 23 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
apiwit
วันที่ 23 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Nitchare
วันที่ 23 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ชาญชัย.
วันที่ 23 ก.พ. 2559

สาธุๆ อนุโมทามิครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
wannee.s
วันที่ 24 ก.พ. 2559

สติเกิดประกอบด้วยปัญญาก็ได้ ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ เช่น ขณะที่ให้ทานสติเกิดไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ แต่ขณะที่สติปัฏฐานเกิดประกอบด้วยปัญญาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
j.jim
วันที่ 26 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
มาดามฮิต
วันที่ 25 ต.ค. 2565

ขอถาม สัมมาสติ กับ มิจฉาสติ แตกต่างกันยังไง ในเมื่อสติเกิดกับกุศลเท่านั้น ทำไมจึงมีคำว่า สัมมาสติ โผล่มาด้วย อย่างนี้เมื่อก่อนคงมี มิจฉาสติ เพราะอยู่ในอริยะมรรคมีองค์แปด

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 30 พ.ย. 2565

เรียน ความคิดเห็นที่ 14 ครับ

ข้อความบางตอนจาก...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 14

ใน ปฐมกุกกุฏารามสูตร กับ ทุติยกุกกุฏารามสูตร ที่ท่านพระอานนท์กับพระภัททะอยู่ที่กกุธตาราม ใกล้นครปาฏลีบุตร แล้วท่านพระภัททะก็ออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ปราศัยแล้วถามว่า ที่เรียกว่า "อพรหมจรรย์ อพรหมจรรย์ ดังนี้ อพรหมจรรย์เป็นไฉน" ถ้าไม่มีการที่จะเห็นผิดไปบ้าง หรือว่าคลาดเคลื่อนไปบ้าง ท่านพระภัททะก็คงไม่ต้องไปถามท่านพระอานนท์ แต่ถึงท่านพระภัททะ ท่านก็ยังถามท่านพระอานนท์ว่า "พรหมจรรย์เป็นไฉน" ซึ่งท่านพระอานนท์ก็ไม่ได้ตอบว่าเป็นอย่างอื่นเลย แต่ได้กล่าวว่า อพรหมจรรย์ นั้นคือ มิจฉามรรค อันประกอบไปด้วยองค์ ๘ คือ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉาวายามะ มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ

และเวลาที่ท่านพระภัททะถามถึง สัมมามรรค ไม่ใช่มิจฉามรรค ท่านพระอานนท์ก็กล่าวว่า อริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นพรหมจรรย์ บุคคลผู้ประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ เรียกว่า พรหมจารีย์ ความสิ้นราคะ โทสะ โมหะเป็นที่สุดของพรหมจรรย์ และใน อสัปปุริสสูตร ที่กล่าวว่า อสัตบุรุษ เห็นผิด แล้วก็ดำริผิด ผิดไปหมด จนกระทั่งถึงมิจฉาสมาธิ และอสัตบุรุษ ยิ่งกว่า อสัต บุรุษ นั้นก็คือ รู้ผิด พ้นผิด ส่วน สัตบุรุษ นั้นเป็นผู้ที่เห็นชอบ และเป็นสัมมามรรคมีองค์อื่น จนกระทั่งถึงสัมมาสมาธิ และสัตบุรุษยิ่งกว่าสัตบุรุษ นั้นก็คือ ผู้ที่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นผู้ที่เห็นชอบเป็นต้น จนถึงสัมมาสมาธิและรู้ชอบ พ้นชอบด้วย นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่ามีได้ ความเห็นผิดและความคลาดเคลื่อนต่างๆ ในเรื่องของการปฏิบัติ ซึ่งความเห็นผิดนั้น ไม่ใช่อยู่ที่คนอื่น อยู่ที่ตัวเอง เพราะฉะนั้น ตัวเองที่จะเป็นผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐานนั้น ก็เป็นผู้ที่จะต้องรู้ว่า มีความเข้าใจผิด มีความคลาดเคลื่อนในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานบ้างหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น แต่ว่าเป็นเรื่องของตัวเองที่จะต้องพิจารณาเรื่องของข้อปฏิบัติให้ตรง เพื่อว่าเมื่อมีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ก็สามารถที่จะเจริญปัญญายิ่งขึ้น

และใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มีข้อความว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือน เดือยข้าวสาลี หรือเดือยข้าวยะวะ ที่บุคคลตั้งไว้ผิด มือหรือเท้าย่ำเหยียบแล้ว จักทำลายมือหรือเท้า หรือว่าจะให้ห้อ เลือด ข้อนี้มิใช่ฐานะจะมีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเดือย บุคคลตั้งไว้ผิด ฉันใดก็ดี ภิกษุนั้นแล ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักทำลายอวิชชา จักยังวิชชาให้เกิดขึ้น จักทำนิพพานให้แจ้ง ด้วยความเห็นที่ตั้งไว้ผิด ด้วยการเจริญมรรคที่ตั้งไว้ผิด ข้อนี้มิใช่ฐานะจะมีได้ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะความเห็นตั้งไว้ผิด เป็นพระพุทธวจนะที่เตือนพุทธบริษัท อาจจะมีความเข้าใจผิด การเจริญผิด การปฏิบัติผิด แต่ว่าถ้าได้พิจารณาและได้เหตุผล ได้รู้ทางที่ปฏิบัติที่ถูก ก็ย่อมจะมีโอกาสที่จะทำลายอวิชชา แล้วก็ยังวิชชาให้เกิดได้ เพราะว่าทุกท่านเป็น ผู้ตรงว่าสิ่งที่ท่านเคยปฏิบัติมานั้น ทำให้ปัญญาเกิดขึ้น หรือว่าไม่ได้ทำให้ปัญญา เกิดขึ้น เพราะว่า ถ้าไม่ได้ทำให้ปัญญาเกิดขึ้น ก็เหมือนการตั้งเดือยข้าวไว้ผิด เพราะฉะนั้น ถึงแม้เท้าจะเหยียบย่ำลงไปก็ไม่บาด หรือว่าไม่ทำให้ห้อเลือดขึ้นได้ฉันใด ข้อปฏิบัติผิดนั้น ก็ไม่ยังวิชชาให้เกิดขึ้น แล้วก็ไม่ทำให้อวิชชาหมดไปด้วย นี่ก็เป็นเรื่องของเหตุผล ที่ท่านจะต้องเป็นผู้ตรงต่อตัวของท่านเอง มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ