วิบากจิต กิริยาจิต สติปัฏฐาน

 
Jumzper
วันที่  23 ก.พ. 2559
หมายเลข  27482
อ่าน  5,992

วิบากจิต คือ จิตที่เกิดจากผลของกรรมหรือผลของจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศล ส่วนกิริยาจิตเป็นยังไงแล้วเหมือนกับสติปัฏฐานหรือเปล่า แล้วทั้งวิบากจิต กิริยาจิต และสติปัฏฐาน มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันหรือไม่

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 ก.พ. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เมือจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกที่มี มี ๕๒ เจตสิก ประกอบกับจิตเกิดร่วมกับจิต ทำให้จิตมีความแตกต่างกันไป ตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ครับ จิต จึงแบ่งเป็นชาติ มี ๔ ชาติ ครับ ซึ่งก่อนอื่นก็เข้าใจ คำว่า ชาติ ก่อน ครับ

ชาติ ไม่ได้หมายความว่า เป็นชาติต่างๆ เช่น ชาติไทย ชาติจีน ฯลฯ และ ไม่ใช่ ชนชั้น วรรณะ แต่ เป็น "สภาพของจิต" ชาติ (ชา- ติ) จึงหมายถึงการเกิด คือ การเกิดขึ้นของจิตและเจตสิก เกิดขึ้น ต้องเป็นชาติหนึ่ง ชาติใด คือ กุศลชาติ อกุศลชาติ วิบากชาติ กริยาชาติ จะไม่เป็นชาติหนึ่งชาติใดไม่ได้เลย ครับ

ชาติของจิต หรือ ประเภทของจิตที่มีการเกิดขึ้น มี ๔ ชาติ ดังนี้ ครับ

1. กุศลจิต หรือ กุศลชาติ

2. อกุศลจิต หรือ อกุศลชาติ

3. วิบากจิต หรือ วิบากชาติ

4. กิริยาจิต หรือ กิริยาชาติ

วิบากชาติ วิปาก (ความสุกวิเศษ ผล) ชาติ (การเกิด จำพวก) คือการเกิดเป็นวิบาก , จำพวกวิบาก หมายถึง วิบากจิต ๓๖ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็นชาติที่เป็นผลของกรรม คือ กุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม อกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรม เช่น ขณะที่เกิด ปฏิสนธิจิต เป็นผลของกรรม ขณะที่ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส เป็นต้น เป็นวิบากจิต ที่เป็นผลของกรรมในชีวิตประจำวัน

กิริยาชาติ กิริยา (สักว่ากระทำ) + ชาติ (การเกิด จำพวก หมู่ เหล่า ชนิด) การเกิดเป็นกิริยา จำพวกกิริยา หมายถึง กิริยาจิต ๒๐ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็นชาติที่ไม่ใช่ เหตุ และไม่ใช่ ผล เพียงเกิดขึ้นกระทำกิจการงาน แล้วก็ดับไปเท่านั้น เช่น จิตของพระอรหันต์ ขณะที่เกิดจิตที่ดี ของท่าน แต่เป็นกิริยาจิต เป็นต้น

การศึกษา เรื่องชาติของจิต หรือ ประเภทของจิต จึงเป็นไป เพื่อเข้าใจความจริงของจิต ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทำให้รู้จักตนเองตามความเป็นจริง เพราะ ตน หรือ เราก็คือ จิต เจตสิกที่เกิดขึ้นเป็นไป และ เมื่อเข้าใจว่า เป็นแต่เพียงความเป็นไปของจิตแต่ละชาติ แต่ละประเภท ปัญญาที่เข้าใจดังนี้ ก็ค่อยๆ เป็นไป เพื่อไถ่ถอนความยึดถือว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคล ละความเห็นผิด เป็นสำคัญ นี่คือ ประโยชน์ของการศึกษาเรื่องชาติของจิต คือ เข้าใจว่ามีแต่ธรรม ไม่ใช่เรา ครับ

สติปัฏฐาน คือ สติและปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา อันเป็นการเจริญวิปัสสนา

สติปัฏฐาน ก็ไม่พ้นจากความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิกที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา และ เจตสิกอื่นๆ อีกมายมาย ดังนั้น ก็ประกอบด้วยสภาพธรรมที่เป็น จิต ที่เป็นใหญ่ในการรู้ และ ประกอบด้วยเจตสิก อย่างน้อย 19 ดวง ที่เป็นโสภณสาธารณะเจตสิก และประกอบด้วย สัพพจิตสาธารณะเจตสิก อีก 7 ดวง และ ปกิณณกเจตสิก และที่ขาดไม่ได้เลย คือ ปัญญา ที่เป็นอโมหเจตสิก ที่เป็นสภาพธรรมที่รู้เห็นตามความเป็นจริง

ดังนั้น สติปัฏฐาน จึงไม่ใช่วิบากจิต หรือ กิริยาจิต แต่เป็น กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Nitchare
วันที่ 23 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 23 ก.พ. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่พ้นไปจากขณะนี้เลยที่กล่าวถึงชาติของจิต ก่อนอื่นต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า จิต คือ อะไร จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ จิตมีความหลากหลายแตกต่างกัน เพราะเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วยบ้าง แตกต่างกันเพราะอารมณ์บ้าง แตกต่างกันโดยชาติ (การเกิดขึ้น) บ้าง เป็นต้น แต่ละขณะเป็นจิตที่เกิดขึ้น ไม่พ้นจากจิตแม้แต่ขณะเดียว จิต เกิดขึ้นเป็นกุศล ก็มี เกิดขึ้นเป็นอกุศล ก็มี เกิดขึ้นเป็นวิบาก ก็มี เกิดขึ้นเป็นกิริยา (เพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ไม่มีเหตุที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า) ก็มี การเกิดขึ้นเป็นไปของจิต หรือการเกิดขึ้นของจิต เรียกว่า ชาติของจิต จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ก็เป็นอกุศลชาติ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ก็เป็นกุศลชาติ จิตเกิดขึ้นเป็นวิบาก ก็เป็นวิบากชาติ จิตเกิดขึ้นเป็นกิริยาก็เป็น กิริยาชาติ ไม่พ้นไปจาก ๔ ชาติ นี้ ซึ่งทั้งหมดเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้

และการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ด้วยการไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความอยากความต้องการ แต่ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ปัญญาเจริญขึ้น ก็สามารถที่สติพร้อมด้วยปัญญาจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ก่อนจะถึง...สติ-ปัฏฐาน !

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jumzper
วันที่ 23 ก.พ. 2559

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 23 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 25 ก.พ. 2559

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 27 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ