การครอบครองทรัพย์สินของภิกษุ ผิดศีลหรือไม่

 
chatchai.k
วันที่  4 มี.ค. 2559
หมายเลข  27520
อ่าน  1,367

เมื่อไม่นานมานี้ดูข่าวทางทีวี มีภิกษุรูปหนี่งพูดว่า ภิกษุสามารถครอบครองรถยนต์ได้ ไม่ผิดศีล ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงตามพระธรรมวินัย เป็นอย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 มี.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนจะถึงคำถามว่า พระภิกษุ บรรพชิต มีทรัพย์สมบัติ ครอบครองรถยนต์ ทรัพย์สินได้หรือไม่ ก็ควรเข้าใจความหมายของ ภิกษุ และ บรรพชิต ที่ถูกต้อง ก็จะรู้ว่า ภิกษุ บรรพชิต มีทรัพย์สมบัติได้หรือไม่ตามพระธรรมวินัย ครับ

ภิกษุ โดยอรรถแล้ว หมายถึง ผู้ขอ ผู้เห็นภัยในวัฏฏะ ผู้ทำลายซึ่งกิเลสทั้งหลาย ผู้ดับกิเลสได้ ข้ามห้วงน้ำคือกิเลสได้ ไม่มีการเกิดในภพใหม่

คำว่า ภิกษุ หรือ ภิกขุ เป็นคำที่ใช้เรียก สำหรับผู้ที่บวชในพระศาสนานี้ คือ ในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง สละ คฤหัสถ์ ออกจากเรือน บวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกทั่วไปสำหรับผู้ที่บวชแล้ว แต่ก็ยังมีความหมายลึกซึ้งของคำว่าภิกษุ หรือ ภิกขุ ที่หมายถึง ผู้ขอ หรือผู้มีปกติขอ เพราะธรรมดา ผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาย่อมเลี้ยงชีพโดยการเป็นผู้ขอ ไม่ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง แต่ขอเพื่อความดำรงอยู่ เป็นไปในการดำรงชีวิต อันเป็นไปเพื่อดับกิเลส เป็นประโยชน์กับผู้ที่ถวายทานกับพระภิกษุที่จะได้บุญด้วยครับ ภิกขุจึงหมายถึงผู้เลี้ยงชีพโดยการขอเป็นปกติ

[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๐

บทว่า ภิกฺขุ เป็นบทกล่าวถึงบุคคลที่ควรจะได้ฟังพระเทศนา อีกอย่างหนึ่ง ในบทว่า ภิกฺขุ นี้ พึงทราบความหมายของคำโดยนัยเป็นต้นว่า ชื่อว่า ภิกขุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ คือ ชื่อว่า ภิกขุ เพราะอรรถว่า เข้าถึงการเที่ยวไปเพื่อภิกษา

ส่วน คำว่า บรรพชิต โดยทั่วไป บรรพชิต ก็เข้าใจว่า คือ บุคคลที่บวช สละเพศคฤหัสถ์ บรรพชา จึงชื่อว่า บรรพชิต

ส่วนคำว่า บรรพชิตจริงๆ หมายถึง ผู้เว้นทั่ว เว้นจากอกุศลโดยประการทั้งปวง เพราะการบวชเข้ามา ก็เพื่อละอกุศล ละกิเลสทั้งปวง เว้นทั่วทั้งทางกาย วาจา และใจ

อีกความหมายหนึ่งของบรรพชิต ในบทเหล่านั้น บทว่า ปพฺพชิเตน บรรพชิต คือ ผู้ตัดวัตถุกามอันเกี่ยวข้องด้วยคฤหัสถ์ออกบวช (พระไตรปิฎกเล่ม ๖๙ หน้า ๕๗๘)

ส่วนบรรพชิต อีกความหมาย คือ ผู้ที่งดเว้นจากบาปทางกาย วาจา และใจ ก็ชื่อว่า บรรพชิต เพราะเว้นทั่วจากอกุศลธรรม ครับ

ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า

อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดเข้าไปทำร้ายผู้อื่น เพราะไม่มีอธิวาสนขันติฆ่าสัตว์อื่น โดยที่สุดแม้เหลือบและยุง ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็น บรรพชิต เพราะเหตุไร เพราะยังเว้นมลทินไม่ได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า เพราะเว้นมลทินของตนได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าบรรพชิต ดังนี้ นี้คือลักษณะของบรรพชิต (มหาปทานสูตร เล่ม ๑๓ หน้า ๑๖๑)

เพราะฉะนั้น ภิกษุและบรรพชิต เป็นเพศที่สละอาคารบ้านเรือน ไม่ประพฤติดั่งเช่นคฤหัสถ์ ไม่มีทรัพย์สิน สมุดบัญชี เงินและทองแล้วดั่งเช่นคฤหัสถ์ ซึ่งการมีทรัพย์สมบัติ ที่ดิน ตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นผู้ต้องอาบัติในการมีทรัพย์สินเหล่านั้นและยินดีในสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็นข้าศึกศัตรูต่อการประพฤติเพื่อขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง ที่ได้ชื่อว่าบรรพชิต ครับ

เพศบรรพชิต เป็นเพศที่จะต้องขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง ถ้ามีการรับเงินรับทอง มีทรัพย์สิน ที่ดิน ก็ไม่ต่างอะไรกับคฤหัสถ์ที่ยังยุ่งเกี่ยวกับเงินทอง และการประพฤติผิดพระวินัย ได้ชื่อว่า ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ด้วยพระองค์เอง เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาอันจะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของผู้นั้น อีกทั้งการประพฤติผิดพระวินัย ก็ยังเป็นโทษเป็นภัยแก่ผู้ที่ประพฤติผิดอีกด้วย ความเป็นบรรพชิต ถ้ารักษาไม่ดี ก็มีแต่จะคร่าไปสู่อบายภูมิเท่านั้นจริงๆ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 4 มี.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระภิกษุ สละทรัพย์สมบัติทั้งหมด ก่อนบวชแล้ว ดังนั้น พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ จึงเว้นจากการรับเงินทอง เป็นผู้ไม่ยินดีในเงินและทอง รวมถึงทรัพย์สมบัติอื่นๆ มี รถยนต์ เป็นต้น ถ้ามีเงินทอง มีรถยนต์ ก็ไม่ต่างอะไรกับคฤหัสถ์ การไม่เอื้อเฟื้อต่อพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มีการล่วงสิกขาบทต่างๆ เช่น รับเงินทอง เป็นต้น เป็นการต้องอาบัติของพระภิกษุ มีโทษโดยส่วนเดียว เรียกอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า เป็นการผิดศีลของพระภิกษุ ดังนั้น การกระทำดังกล่าว ผิดพระวินัย ผิดศีลของพระภิกษุอย่างแน่นอน ไม่ใช่กิจของพระภิกษุเลยแม้แต่น้อย เป็นที่น่าติเตียน ไม่นำมาซึ่งความเลื่อมใส

ควรที่จะได้พิจารณาจริงๆ ว่า ในครั้งพุทธกาล เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว บุคคลผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย เป็นผู้ที่มีความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสของตนเองในเพศบรรพชิตซึ่งสูงกว่า­เพศคฤหัสถ์ เพราะว่าก่อนจะบวชก็มีกิเลส คฤหัสถ์ก็มีกิเลส และคนที่จะบวชก็จะต้องเห็นโทษกิเลสเป็นสิ่­งที่ละยากในเพศคฤหัสถ์ และสะสมอัธยาศัยใหญ่ที่จะสละ ไม่ลืมคำนี้ "สละ" ละทุกอย่างที่เคยติดข้อง สละหมดด้วย ไม่เหลือเลย ครอบครัว วงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติ ไม่ผูกพันไม่ติดข้องในสิ่งเหล่านั้น เพื่อถึงความสงบจากกิเลส ไม่ใช่บวชเพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่บวชเพื่อรวย หรือครอบครองทรัพย์สมบัติ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 4 มี.ค. 2559

ขออนุโททนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 4 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 4 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
j.jim
วันที่ 5 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jirat wen
วันที่ 5 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ผู้มีความประมาท
วันที่ 7 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
nong
วันที่ 14 มี.ค. 2559

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ