ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มูลนิธิฯ มาฆบูชา ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  8 มี.ค. 2559
หมายเลข  27542
อ่าน  2,513

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันจันทร์ ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้จัดให้มีการสนทนาธรรม โดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากรของมูลนิธิฯ เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซอยเจริญนคร ๗๘ ถนนเจริญนคร กรุงเทพมหานคร

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 55

ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์

[๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงสวดพระปาติโมกข์ในที่ประชุมพระภิกษุสงฆ์ดังนี้-
ขันติคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่น ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย.
การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑ หกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

ข้อความการสนทนาธรรมในวันนี้ เป็นสิ่งที่บุคคลที่ชื่อว่าชาวพุทธควรอย่างยิ่งที่จะได้อ่านและพิจารณาโดยละเอียด เพื่อความเข้าใจของตนเอง เป็นการสนทนาในเรื่องของพระธรรมวินัย ซึ่งจะเกื้อกูลแก่ความเข้าใจในเหตุการณ์ความเป็นไปของพระพุทธศาสนาในสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดียิ่ง ดังข้อความการสนทนาที่จะขออนุญาตนำมาเสนอให้ทุกๆ ท่านได้อ่านและพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

อ.วิชัย ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย กราบท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ คณะวิทยากรและผู้ร่วมสนทนาธรรมทุกท่านครับ ก็เป็นการสนทนาธรรมเนื่องในวันมาฆบูชา วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๙ เป็นวันที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นคำสอนที่เป็นหลักสำคัญ ในช่วงแรกก็ขออัญเชิญโอวาทปาฏิโมกข์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทาน เพื่อเป็นเหตุที่จะให้ได้มีการสนทนาธรรมะ เพื่อความรู้ความเข้าใจในพระธรรมคำสอนในแต่ละคำให้ละเอียดยิ่งขึ้น มีข้อความว่า "...ความไม่ทำบาปทั้งสิ้น ความยังกุศลให้ถึงพร้อม ความทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความอดทน คือ ความอดกลั้น เป็นธรรมเผาบาปอย่างยิ่ง ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ย่อมกล่าวพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยม ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ ความไม่กล่าวร้าย ๑ ความไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ ความประกอบโดยเอื้อเฟื้อในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย..."

ดังนั้นคำสอนนี้ ไม่ใช่เฉพาะพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้เท่านั้น แม้ในอดีตที่ผ่านมาแล้ว พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงประทานโอวาทที่เป็นโอวาทปาฏิโมกข์นี้เหมือนกัน ไม่มีความต่างกันในโอวาทปาฏิโมกข์เลย ดังนั้น ก็เป็นโอกาสที่ได้มีการร่วมกันศึกษาและสนทนาธรรม เพื่อเป็นความรู้ความเข้าใจในธรรมะ ไม่ทราบว่าในช่วงแรกนี้ จะมีท่านผู้ใดร่วมสนทนาก่อน ขอเชิญครับ เชิญคุณปริญญาครับ

คุณปริญญา กราบท่านอาจารย์สุจินต์ กราบอาจารย์วิทยากร และผู้ร่วมสนทนาทุกท่านครับ ท่านอาจารย์ครับ เช้านี้ผมขออนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์และคณะวิทยากรเกี่ยวกับพระวินัย จะเป็นการสมควรหรือไม่ครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ ค่ะ เป็นการสมควรค่ะ เพราะว่าพุทธบริษัทก็ควรที่จะได้เข้าใจพระวินัย ถ้าพุทธบริษัทไม่เข้าใจพระวินัย พระศาสนาก็ไม่สามารถที่จะดำรงต่อไปได้ เพราะเหตุว่า พุทธศาสนาที่จะดำรงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องบริษัททั้ง ๔ คือในอดีต ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แต่ปัจจุบันก็มีแต่ ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา

คุณปริญญา กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับ ก็จะมีประเด็นคำถามสองคำถามครับ คำถามแรกก็คือ การประพฤติเป็นไปของพระภิกษุในสมัยนี้ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ได้มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งออกมาประชุมและเรียกร้องในสิ่งที่ท่านคิดว่าเหมาะสม แต่การออกมาประชุมเรียกร้องนั้น ประกอบด้วยความเห็นผิด และความเห็นผิดของท่านนี้ก็ทำให้เกิดมีการโต้แย้ง และถึงการใช้กำลังต่อสู้กันกับเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฏหมาย การกระทำเช่นนี้ ถูกต้องตามพระวินัยอย่างไรครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ ก่อนอื่น ต้องเข้าใจว่า พระภิกษุคือใคร? มิฉะนั้น เราก็จะไม่รู้เลย คิดว่าผู้ที่ครองผ้ากาสาวพัตร์ ที่เราเรียกว่าผ้าเหลือง เป็นพระภิกษุ แต่ภิกษุ คือ ผู้ที่มีศรัทธาที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต "เพื่อละกิเลส" เพื่อให้ถึงความสงบจากกิเลส นี่จึงจะเป็นพระภิกษุ และพระภิกษุแต่ละท่าน เมื่อบวชก็ต้องปฏิญาณตนว่า จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหมด มีพระวินัยเป็นที่สิกขา คือ ศึกษา คือ ประพฤติปฏิบัติตาม จะประพฤตินอกธรรมวินัยไม่ได้!!!

คุณปริญญา แล้วการกระทำเช่นนี้ ก็เป็นการผิดกับพระวินัยบัญญัติใช่ไหมครับ?

ท่านอาจารย์ พระวินัยก็ยังมีเป็นที่รู้ว่ายังคงดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรู้ว่าผู้ใดเป็นพระภิกษุในเพศบรรพชิตที่อบรมเจริญปัญญา โดยการที่ต้องทั้งศึกษาธรรมะและประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัยด้วย ก็ยังมีข้อความที่สามารถจะศึกษาให้เข้าใจได้ว่า พระภิกษุนั้นต้องประพฤติอย่างไร มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นการขัดต่อพระธรรมวินัย

คุณปริญญา มาถึงประเด็นที่สอง ซึ่งชาวบ้านหลายท่านได้ยินข้อเรียกร้องของกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ที่เสนอเกี่ยวกับเรื่องจะให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ชาวบ้านหลายส่วนซึ่งไม่มีความเข้าใจก็คิดว่า เห็นดีไปกับสิ่งเหล่านั้น ผมอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์และคณะอาจารย์วิทยากรว่า สิ่งเหล่านี้ คือว่า การที่จะให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้น เป็นการเหมาะสมประการใดครับ

ท่านอาจารย์ เป็นเพียงชื่อ หรือว่า เป็นการที่ทุกคนศึกษาพระธรรมและประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าทุกคนศึกษา เข้าใจพระธรรมวินัยและประพฤติปฏิบัติตาม ไม่จำเป็นต้องมีชื่อ เพราะเหตุว่าทุกคน ใครก็ได้ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ทั่วโลก เมื่อได้มีการศึกษา เข้าใจธรรมะ และประพฤติตามพระธรรมวินัย ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

แล้วเพื่ออะไร? การเรียกร้อง เพื่อให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ต้องคิดถึงว่า เพื่ออะไร? เป็นความต้องการ เป็นโลภะ เป็นความติดข้อง หรือว่า เป็นการสละ การที่จะต้องยึดถือว่า นี่ของฉัน นั่นของคนอื่น หรือว่าจริงๆ แล้วก็คือว่า ศาสนาเป็นคำสอนที่จะทำให้ทุกคน ได้เข้าใจถูกตามความเป็นจริง เพื่อรู้ความจริงว่า สิ่งใดไม่ดี ควรละ สิ่งใดดี เป็นสิ่งที่ควรจะอบรม

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องของการที่จะจำกัด เรียกร้อง หรือใช้เพียงชื่อ แต่ว่าไม่มีการศึกษาให้เข้าใจพระธรรมโดยถูกต้อง ถ้ามีเพียงชื่อ จะมีประโยชน์อะไร? และเพื่ออะไร?

คุณปริญญา อีกประเด็นหนึ่ง คือว่า การที่พระภิกษุและบุคคลทั่วไปหลายคนที่ไม่มีความเข้าใจ ก็เพราะว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ท่านพูดออกทีวี ชักชวนให้ประชาชนไปลงทะเบียนหรือช่วยแสดงความคิดเห็นว่า พระพุทธศาสนาควรจะมีการบรรจุในรัฐธรรมนูญ ถ้าอย่างนั้น พระภิกษุผู้นี้ซึ่งท่านไม่ได้มีความเห็นถูกต้องเลย ท่านกระทำผิดทางพระวินัยไหมครับ?

ท่านอาจารย์ กิจของสงฆ์คืออะไร? กิจของพระภิกษุซึ่งบวชในสำนักพระพุทธเจ้าคืออะไร? ทำไมจึงบวช? บวชเพื่ออะไร? บวชเพื่อขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น ก็ต้องศึกษาพระธรรมด้วย เพราะเหตุว่า พระธรรมเท่านั้นที่จะทำให้รู้ความจริงว่า การที่สามารถที่จะขัดเกลากิเลสได้นั้น ต้องอบรมเจริญอย่างไร ทั้งกาย วาจา และใจ

เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เป็นไปเพื่อการได้ มักมาก ต้องการ ไม่ใช่ชีวิตของพระภิกษุ ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย เพราะว่า ภิกษุในธรรมวินัย เป็นผู้ที่มีพระบรมศาสดาเป็นบิดา เป็นผู้ให้กำเนิด เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีการเคารพอย่างยิ่ง ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

อ.วิชัย ครับท่านอาจารย์ ดังนั้น การที่จะรักษา ช่วยให้พระธรรมคำสอนให้ดำรงอยู่ ก็ต้องมีการศึกษาให้เข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อน

ท่านอาจารย์ ค่ะ ถ้าอยากจะให้ประเทศไทยเป็นเมืองของพระพุทธศาสนา ไม่ต้องใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะเหตุว่า ใครก็ตามที่เข้าใจพระธรรม ผู้นั้นก็เป็นชาวพุทธ แต่ถ้ามีแต่เพียงชื่อ แต่ว่าชีวิตประจำวันทั้งหมดไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจพระธรรม แล้วการประพฤติเป็นไปในทางทุจริตกรรมต่างๆ มากมาย แล้วจะให้คนอื่นบอกว่าเมืองไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ถูกต้องไหม? เพราะเหตุว่า ทุกอย่างต้องตรง และ จริง ไม่มีว่าประเทศไหนจะมีศาสนาอะไรเป็นศาสนาประจำชาติ ถ้าคนในชาตินั้นไม่ได้เข้าใจธรรมะที่ตนได้กล่าวว่าเป็นศาสนานั้นแล้ว มีไหม? ในประเทศไหนที่กล่าวว่า ประเทศไหนบ้างที่ศาสนาหนึ่งศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ และเพื่ออะไร?

ถ้าคนที่ได้เข้าใจคำว่า "พุทธะ" ต้องรู้ว่า ทั้งหมด เป็นเรื่องของปัญญาเท่านั้น!!! เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาคือคำสอนของผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริงซึ่งคนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่เมื่อได้ตรัสรู้แล้วก็ทรงพระมหากรุณาให้คนอื่นได้เข้าใจความจริงด้วย และความจริงทั้งหมดตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไปเพื่อละความชั่วทั้งหมด ทุจริตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา ทางใจ

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงชื่อ ว่านับถือพระพุทธศาสนา แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรงด้วย ว่าเมื่อได้ยินคำว่าพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาคืออะไร? ถ้าบอกว่านับถือพระพุทธศาสนาแต่ยังไม่เข้าใจว่าพระพุทธศาสนาคืออะไร อย่างนั้นจะชื่อว่านับถือหรือเปล่า?

เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ความถูกต้อง ความจริง ต้องเป็นความตรง ปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง ไม่คด ไม่โกง แต่ว่าตรงต่อความเป็นจริง ทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็เข้าใจว่าอะไรถูกอะไรผิด ซึ่งก่อนฟังจะไม่มีความเข้าใจถูกต้องได้เลย

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ หน้าที่ 448
๒. คัทรภสูตร
ภิกษุไร้ไตรสิกขาเปรียบเหมือนลาในฝูงโค

[๕๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาติดตามไปเบื้องหลังฝูงโค มันร้องว่า ข้าฯ เป็นโค ข้าฯ เป็นโค แต่สีของมันไม่เหมือนโค เสียงก็ไม่เหมือน รอยเท้าก็ไม่เหมือน มันได้แต่เดินตามฝูงโค ร้องไปว่า ข้าฯ เป็นโค ข้าฯเป็นโค เท่านั้น ฉันใดก็ดี

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุลางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เดินตามหมู่ภิกษุ แม้ประกาศไปว่า ข้าฯ เป็นภิกษุ ข้าฯ เป็นภิกษุ แต่ฉันทะในการสมาทานอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ของภิกษุรูปนั้น ไม่มีเหมือนภิกษุอื่นๆ ภิกษุนั้นก็ได้แต่เดินตามหมู่ภิกษุประกาศไปว่า ข้าฯ เป็นภิกษุ ข้าฯ เป็นภิกษุ เท่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน

เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกในข้อนี้ว่า ฉันทะของเราจักมีอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขาและอธิปัญญาสิกขา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
จบคัทรภสูตรที่ ๒

คุณอัญญมณี วันนี้ก็เป็นวันมาฆบูชา ก็เป็นโอกาสอันดีที่พวกเราทุกคนจะมาทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งคิดว่าพวกเราทุกคนก็คงทราบกันดีว่า ขณะนี้ มีเรื่องที่ไม่ค่อยงดงามในวงการพระสงฆ์ ขอความกรุณาท่านอาจารย์ช่วยแนะนำเราในฐานะที่เป็นชาวพุทธ ในกรณีที่เราเห็นพระประพฤติผิดพระวินัย ที่มีข่าวต่างๆ ออกมาทางหน้าหนังสือพิมพ์บ้าง ตามทีวีบ้าง ซึ่งพระดูทีวีที่ไม่สมควร หรือว่าพระมีทรัพย์สมบัติ มีที่ดิน มีเงินฝาก หรือเสพของมึนเมาอะไรต่างๆ รวมทั้งสะสมข้าวของต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนี้มีมากมาย จนไม่ทราบว่า เดี๋ยวนี้พระสามารถมีเงินฝากในบัญชีได้แล้วหรือ? ถูกต้องแล้วหรือ? ในฐานะที่ดิฉันก็เป็นชาวพุทธแล้วก็ศึกษามากับท่านอาจารย์ยาวนาน ก็อยากจะกราบเรียนท่านอาจารย์ได้แสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นแนวทางที่พวกเราจะยึดถือปฏิบัติต่อไปค่ะ

ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้ว ทุกคนก็รู้ว่า ขณะนี้พระพุทธศาสนา มีผู้ที่ศึกษาและเข้าใจ มากหรือเปล่า? หรือว่า มีน้อยมาก เพราะเหตุว่า ถ้าไม่ได้เข้าใจธรรมะ ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ก็จะไม่รู้จักอะไรเลย แม้แต่ว่าพระภิกษุคือใคร ตอบได้ไหม? พระภิกษุคือใคร? ลึกซึ้งมาก คือ เป็นผู้ที่เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ ภัยก็คือการที่จะมีชีวิตอยู่ซึ่งเต็มไปด้วยกิเลส ทางตาเห็น ติดข้อง ไม่รู้ แล้วก็นำมาซึ่งกิเลสอีกมากมาย

เพราะฉะนั้น บุคคลในครั้งพุทธกาล เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็เห็นประโยชน์ เพราะท่านสะสมมาที่จะเห็นโทษของอกุศล และรู้ว่า รู้กับไม่รู้ รู้ต้องดีกว่า ระหว่างความดีกับความชั่ว ความดีต้องดีกว่า แต่อะไร ที่จะละความชั่วได้? ไม่ใช่มีใครไม่รู้จักความชั่ว ใช่ไหม? ทุกคนก็รู้ทั้งนั้น ทำอะไรที่ผิด ที่ไม่ถูกต้อง ทุจริตต่างๆ เป็นความชั่วทั้งหมด แต่ อะไรจะละความชั่วนั้นได้? เพราะว่ามีความไม่รู้ และทุกคนก็ยังมีกิเลสอยู่ทั้งนั้น แล้วกิเลสที่ทุกคนมีนี้ มากน้อยต่างกัน นี่เป็นเหตุที่อัธยาศัยของคนต่างกันมาก

เพราะฉะนั้น ในครั้งพุทธกาล เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ผู้ที่จะบวช เป็นผู้ที่จริงใจที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต ซึ่งสูงกว่าเพศคฤหัสถ์ เพราะว่าก่อนจะบวชก็มีกิเลส คฤหัสถ์ก็มีกิเลส แล้วคนที่บวชก็ต้องเห็นโทษว่าเพราะกิเลสที่ละยากในเพศของคฤหัสถ์ และสะสมอัธยาศัยใหญ่ ที่จะ "สละ" ไม่ลืมคำนี้นะคะ "สละ ละ ทุกอย่างที่เคยติดข้อง" สละหมดด้วย ไม่เหลือเลย ครอบครัว มารดา บิดา วงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติ ถ้าจะเป็นในครั้งโน้น ธุรกิจต่างๆ พ่อค้าหรืออะไรๆ ก็ตาม อาชีพต่างๆ ทั้งหมด เพราะเห็นว่า ไม่สามารถที่จะขัดเกลากิเลสเท่ากับการที่จะไม่ผูกพัน ไม่ติดข้อง ในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น

เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตาม ที่มีการที่จะขออุปสมบท บรรพชาอุปสมบท สละทรัพย์สมบัติทุกสิ่งทุกอย่าง (ที่เป็น) ชีวิตของคฤหัสถ์ เพื่อเข้าใกล้ความสงบ อุปสมบท เพื่อถึงความสงบจากกิเลส เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่า พระภิกษุคือผู้ที่เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ แล้วก็มีปัญญาพอที่จะเห็นโทษของอกุศล แล้วยังรู้หนทางที่ตนเองได้สะสมมาว่าจะอบรมเจริญปัญญาในเพศไหน เพราะว่าผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ที่เป็นพุทธบริษัท ท่านอนาถบิณฑิกะ หรือวิสาขามิคารมารดา ท่านเป็นพระโสดาบัน แต่ท่านไม่ได้อุปสมบท นี่แสดงถึงอัธยาศัยที่ต่าง ที่ควรแก่การที่จะเป็นบุตรที่เกิดจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศากยบุตร

เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ตั้งแต่วันแรกที่บวชว่า เป็นผู้ที่สละทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรเลย นอกจากสิ่งที่จำเป็น มีที่อยู่อาศัย จีวร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัยต้องมีใช่ไหม? แต่ที่อยู่อาศัยของพระภิกษุในครั้งนั้น เป็นป่า เป็นร่มไม้ เป็นเขา เป็นซอกเขา เพราะเหตุว่า ละอาคารบ้านเรือนแล้ว จะไปมีอาคารบ้านเรือนอีกหรือ เพราะฉะนั้น ท่านก็มีชีวิตที่ไม่ติดข้อง และแม้แต่สิ่งที่จำเป็น เช่นอาหาร พระภิกษุหุงหาอาหารไม่ได้ เพราะสละแล้ว

เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผู้ที่เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ ชีวิตที่บริสุทธิ์คือ เมื่อมีผู้ที่มีศรัทธาที่จะให้อาหารแก่ผู้ที่ไม่ได้ทำอาหารก็สามารถที่จะให้ได้ สละให้ได้ เพื่อชีวิตของผู้นั้นจะดำรงอยู่ เพื่อศึกษาพระธรรม ประพฤติปฏิบัติตาม ขัดเกลากิเลส จนถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม นี่คือจุดประสงค์ของการบวช ไม่ใช่จุดประสงค์อื่นเลยทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น เมื่อมีศรัทธามั่นคงอย่างนี้ ท่านก็ดำรงชีวิตตามที่ได้ปฏิญาณไว้ คือ สละทั้งหมด มีที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ยารักษาโรค เท่าที่จำเป็น เกินกว่านั้นไม่ได้ ไม่ว่าท่านจะมีอะไรทั้งสิ้น ต้องตามพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้!!!

เพราะฉะนั้น สำหรับบรรพชิต นอกจากจะมีชีวิตที่แตกต่างจากชาวบ้านธรรมดาที่มีกิเลสแล้ว ยังต้องอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิตด้วย ซึ่งถ้ากระทำผิด ก็มีโทษตั้งแต่เบาจนถึงหนัก คือ ไม่เป็นพระภิกษุอีกต่อไป เหมือนคนที่ศีรษะขาด ต่ออีกไม่ได้ บวชอีกไม่ได้ เป็นภิกษุอีกไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าภิกษุใด ไม่รู้จักพระธรรมวินัย ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย

คุณอัญญมณี ท่านอาจารย์คะ พูดก็ลำบากว่า ท่านก็อ้างว่า...

ท่านอาจารย์ ขอโทษนะคะ ความจริงเป็นสิ่งที่พูดได้ เพื่อแก้ไข

คุณอัญญมณี ค่ะ อย่างท่านรับรถราคาแพงๆ แล้วก็บอกว่าเอาไปไว้สะสม

ท่านอาจารย์ ค่ะ ขอโทษนะคะ ต้องไม่ลืมว่า พระภิกษุมีอะไรได้บ้าง? บ้านมีได้ไหม? ที่ดินมีได้ไหม? เงินทองมีได้ไหม? สละแล้ว จะกลับมาอีกได้อย่างไร? กลับมาอีกก็คือพ้นจากการที่จะเป็นพระภิกษุ สู่ความประพฤติอย่างคฤหัสถ์ แล้วก็ไม่ยำเกรงต่อพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ซึ่งใครก็เปลี่ยนไม่ได้ ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคฯทรงบัญญัติไว้ได้เลย!!! พระภิกษุทุกรูปในครั้งพุทธกาล ทั้งหมด ทุกสมัย ต้องเคารพในพระวินัย ที่พระผู้มีพระภาคฯทรงบัญญัติไว้

เมื่อการกระทำสังคายนาครั้งที่ ๑ โดยพระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงพระวินัยเลย เพราะว่าเป็นผู้ที่เคารพอย่างยิ่งในพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคฯได้ประชุมสงฆ์ แล้วก็ให้ลงความเห็น ว่าการกระทำอย่างนั้นเหมาะควรแก่ภิกษุไหม? แล้วต้องเป็นผู้ตรง ถ้าไม่ใช่ผู้ตรง จะไม่ได้สาระจากพระธรรมวินัยเลย

และสำหรับพุทธบริษัท ก็มี ๔ ในครั้งโน้น ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยุคนี้ไม่มีภิกษุณี ก็มีภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ก่อนที่จะปรินิพพาน ไม่ได้มอบหมายให้บริษัทใดเป็นผู้ดำรงรักษาพระศาสนา แต่พุทธบริษัททั้ง ๔ เมื่อมีความเข้าใจธรรมะดีทุกประการ ก็เป็นบริษัทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะต้องดูแลซึ่งกันและกันตามธรรมวินัย

ในครั้งโน้น เวลาที่พระภิกษุรูปใดทำผิด ชาวบ้านรู้ "เพ่งโทษ" ให้เห็นว่าเป็นโทษ "ติเตียน" เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะเหตุว่าเป็นการไม่ประพฤติตามพระวินัย แล้วก็ "โพนทะนา" ประกาศให้รู้ทั่วกันว่า การกระทำอย่างใดสมควร การกระทำอย่างใดไม่สมควร เพราะฉะนั้น เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท มิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่มีการที่จะเข้าใจว่าพระภิกษุคือใคร ต้องศึกษาพระธรรมและต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย

คุณอัญญมณี สมัยนี้ก็เหมือนไม่มีใครจะไปชี้ขาด ทั้งๆ ที่หลักฐานก็...

ท่านอาจารย์ พระธรรมวินัยได้แสดงไว้ดีแล้วนะคะ เพราะฉะนั้น ไม่มีใครที่สามารถไปทำอะไรได้ เพราะพระวินัยได้แสดงไว้ชัดเจนว่า ถ้าไม่ประพฤติอย่างนี้ ไม่ใช่พระภิกษุในธรรมวินัย ไม่ต้องหาใครมาชี้อีก!!! พระธรรมวินัยทุกข้อเป็นสิ่งที่พระภิกษุจะต้องปฏิบัติ ตั้งแต่กาย วาจา และ ใจ กายจะประพฤติอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ คึกคะนองอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ ขับเสียงเหมือนเสียงเพลงไม่ได้ ทุกอย่างหมด มีไว้ในพระวินัยปิฎกพร้อมที่จะให้ชาวพุทธได้เข้าใจถูกต้องว่าผู้ใดเป็นภิกษุในพระธรรมวินัย และผู้ใดไม่ใช่พระภิกษุในพระธรรมวินัย ไม่จำกัดเพศ ฐานะ วัย ใดๆ ทั้งสิ้น ขึ้นชื่อว่าพระภิกษุแล้ว ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยทุกรูป ตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล ตลอดเรื่อยมา

คุณอัญญมณี แล้วพวกเราควรจะทำอย่างไรคะท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ ค่ะ เพ่งโทษ

คุณอัญญมณี เช่น...

ท่านอาจารย์ เมื่อเข้าใจ โทษเป็นโทษ เราอยากให้พุทธบริษัทมีโทษหรือ? พุทธบริษัทก็เหมือนวงศาคณาญาติ เพราะฉะนั้น อยากให้ญาติประพฤติผิด ชั่ว เป็นภัยต่อทั้งตนเองและต่อพระศาสนาหรือ? ไม่เป็นที่เลื่อมใส ชาวบ้านติเตียน เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่กล่าวไว้แล้ว แสดงไว้แล้วชัดเจนในพระวินัย ก็กล่าวชี้แจงให้เห็นว่าพระวินัยกล่าวไว้ว่าอย่างนี้ โดยเฉพาะก็คือว่า เมื่อเริ่มที่จะสละเพศคฤหัสถ์ สละทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เมื่อสละแล้ว จะรับได้อย่างไร? จะมีเพศอย่างคฤหัสถ์อีกต่อไปได้อย่างไร? เพราะฉะนั้น เมื่อสละ คือสละจริงๆ ถ้าไม่สละ ก็คือคฤหัสถ์ ไม่ใช่บรรพชิต ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย

คุณอัญญมณี เท่าที่พวกเราทำได้คือเพ่งโทษเฉยๆ ใช่ไหมคะ?

ท่านอาจารย์ ติเตียนค่ะ เพ่งโทษแล้วก็ติเตียน เหมือนพุทธบริษัทในครั้งโน้นเลย ทำหน้าที่ของคฤหัสถ์ ที่จะช่วยกันรักษาดำรงพระศาสนาให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งว่า พระวินัยได้แสดงไว้ว่าอย่างไร? ไม่เว้นเลยสักรูปเดียว สำหรับพระภิกษุทุกรูป!!!

อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์คะ แสดงว่า คฤหัสถ์ที่อยู่ในครั้งพุทธกาลเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรมวินัย

ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ พระโสดาบันก็มี พระสกทาคามีก็มี พระอนาคามีก็มี แล้วจะให้ท่านเหล่านั้นเพิกเฉยหรือ? ในเมื่อสมควรที่จะให้ผู้ที่ประพฤติผิด ได้แก้ไข ไม่ใช่แก้ไขไม่ได้ แก้ไขได้ ผู้ใดประพฤติผิด ต้องสำนึก สำนึกก็คือแสดงโทษที่ได้กระทำแล้ว ปลงอาบัติ ถ้าไม่สามารถจะดำรงเพศภิกษุได้ ก็ลาสิกขาบท ไม่มีใครห้ามเลย!!!

อ.กุลวิไล ชาวพุทธยุคนี้ไม่ศึกษาพระธรรมวินัย ก็เลยเป็นเหตุให้ไม่รู้ว่าอะไรที่สมควรหรือว่าไม่สมควรแก่เพศบรรพชิต

ท่านอาจารย์ แต่ไม่สนับสนุนแน่นอนนะคะ มีคำถามว่า แล้วพระภิกษุท่านจะฉันอะไร? ถ้าไม่มีใครใส่บาตร ลองคิด!!!...ถ้าใส่บาตรให้บุคคลที่ไม่ประพฤติตามพระวินัย ไม่ศึกษาพระธรรมวินัย "คำของท่านเหล่านั้น" ทำลาย "คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" เพราะท่านไม่ได้เข้าใจธรรมวินัย

เพราะฉะนั้น ใส่บาตรให้บุคคลที่จะทำลายพระธรรมวินัยหรือ?

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 8 มี.ค. 2559

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Boonyavee
วันที่ 8 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัย ภู่งามค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
napachant
วันที่ 9 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 9 มี.ค. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
thilda
วันที่ 10 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 10 มี.ค. 2559

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย ภู่งาม
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
j.jim
วันที่ 10 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Noparat
วันที่ 10 มี.ค. 2559

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย ภู่งาม
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jaturong
วันที่ 14 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เอริน
วันที่ 15 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ