อะไรคือตัวตัดสินว่ารสนี้ดีหรือไม่ดี
ขอเรียนถามอาจารย์ว่า รสที่ไม่ดี คือ รสขม หลักนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ใช่มั้ยคะ รสขมไม่มีทางเป็นรสที่ดีในทางปรมัตถธรรมใช่หรือไม่ แล้วถ้าหากมีคนที่ชอบกินอาหารขม อย่างเช่น กาแฟขมๆ ช็อกโกแล็ตขมๆ ผักขมๆ แต่เพราะว่าชอบ สะสมมาที่จะชอบลิ้มรสไม่ดีเช่นนี้ นั่นหมายถึงว่า ผู้นั้นกำลังรับอกุศลวิบากด้วยการลิ้มรสขม แต่เกิดพอใจในอกุศลวิบากนั้นหรือคะ? อะไรคือตัวตัดสินว่ารสนี้ดีหรือไม่ดี เพราะบางคนก็บอกว่ารสขมเป็นรสที่ดี หรือว่ารสขมนั้นเป็นรสที่ไม่ดี ตามปรมัตถธรรม จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบส่วนตัวได้
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
รสมีจริง เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏได้ทางลิ้น ซึ่ง ลักษณะของรส จะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามความชอบ และ ไม่ชอบ รสขม เป็นรสที่ไม่ดี เรียกว่า อนิฏฐารมณ์ ส่วน รสที่ดี เรียกว่า อิฏฐารมณ์ ครับ
อิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าพอใจ หมายถึง อารมณ์ที่ดีปานกลาง เช่น สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่สวยงาม เป็นที่น่าปรารถนาของคนทั่วไป แต่ไม่ถึงกับ ประณีตจนเป็นทิพย์ เป็นอารมณ์ของจิตได้ทั้ง ๔ ชาติ แต่สำหรับชาติวิบาก กรรม จัดสรรให้เฉพาะ "กุศลวิบากที่เกิดจากกุศลกรรมที่ปานกลางเท่านั้น" ที่มีอิฏฐารมณ์เป็น อารมณ์ (กุศลวิบากที่เกิดจากกุศลกรรมที่ประณีต มีอติอิฏฐารมณ์เป็นอารมณ์ อกุศล วิบากซึ่งเกิดจากอกุศลกรรม มีอนิฏฐารมณ์เป็นอารมณ์)
อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ หมายถึง อารมณ์ที่ไม่ดี เป็นสภาพที่หยาบทราม ไม่ประณีต เช่น สีที่ซากศพ เสียงด่า กลิ่นเหม็น รสเผ็ดจัด โผฏฐัพพะแข็งไป อ่อนไป ร้อนไป เย็นไป อนิฏฐารมณ์เป็นอารมณ์ของกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต หรือกิริยาจิตก็ได้ แต่สำหรับวิบากจิต อนิฏฐารมณ์เป็นอารมณ์ของอกุศลวิบากเท่านั้น เพราะอกุศลกรรมจัดสรรให้อกุศลวิบากรู้เฉพาะอนิฎฐารมณ์
การประสบกับ อิฏฐารมณ์ หรือ อนิฏฐารมณ์ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย การไดัรับสิ่งที่น่าปรารถนา เป็นผลของกุศลกรรม แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้ว จะทำให้ได้รับในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจไม่มีใครทำให้เลย ต้องมาจากเหตุ คือกรรมที่แต่ละคนได้กระทำแล้ว
อารมณ์ที่น่าปรารถนา กับ ไม่น่าปรารถนา เป็นธรรมที่มีจริง โดยที่ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ ถ้าเกิดความยินดี พอใจติดข้องในสิ่งใดหรือ เกิดความไม่พอใจ ในสิ่งใด ขณะนั้นเป็นผู้ถูกกิเลสทั้งหลายครอบงำ แล้ว ที่ติดข้อง ยินดีพอใจ หรือ แม้กระทั่ง ไม่พอใจ นั้น เพราะการได้สั่งสมกิเลสประเภทนั้นๆ มาแล้ว เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย กิเลสก็เกิดขึ้น เป็นธรรม ไม่ใช่เรา
ซึ่งจะเห็นได้ว่าเพราะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงมีการรู้อารมณ์ต่างๆ มี รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น และโดยปกติของผู้ที่เป็นปุถุชนจะห้ามไม่ให้ติดข้อง จะห้ามไม่ให้ยินดีในสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จะห้ามไม่ให้โทสะเกิดก็เป็นไปไม่ได้ เพราะสะสมมากิเลสประเภทนั้นๆ มาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ฎ์ อีกทั้งยังไม่เห็นโทษของอกุศล ยังไม่เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง จึงถูกกิเลสอกุศลครอบงำอยู่เป็นประจำ เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยกิเลสก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ส่วนผู้ที่ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาดแล้ว กิเลสย่อมไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะประสบกับอารมณ์ประเภทใดๆ ก็ตาม ดังนั้น ผู้ที่หมดกิเลสแล้ว กับ สัตว์โลกผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ครับ
ดังนั้น รสขม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความชอบ ไม่ชอบของเรา แต่ขึ้นอยู่กับสภาพธรรมนั้นครับ ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความเป็นจริงของธรรมไม่เปลี่ยนแปลงเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ขณะลิ้มรส เป็นวิบากจิต ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นผลของกรรมใดที่เป็นอกุศลกรรม หรือ กุศลกรรม ถ้าถึงคราวที่กุศลกรรมให้ผล ขณะที่ลิ้มรส ก็ได้ลิ้มรสที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ทำให้ได้ลิ้มรสที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ โดยไม่มีใครทำให้เลย หลังจากนั้น ถ้าชอบ ติดข้องต้องการ ก็เป็นอกุศล ที่เป็นไปกับโลภะ แต่ถ้าไม่ชอบ ไม่พอใจในสิ่งนั้น ก็เป็นอกุศลที่เป็นไปกับโทสะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...