เห็นบัญญัติธรรม กับ เห็นปรมัตถธรรม

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  29 มี.ค. 2559
หมายเลข  27609
อ่าน  1,160

ขอนอบน้อมแด่พระผู้พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. เห็นบัญญัติธรรม เช่น เห็น แล้วรู้ว่า เป็นคนสัตว์วัตถุสิ่งต่างๆ ตาม บัญญัติ ที่รู้ตรงกัน เป็นการทั่วไป..ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะ ธรรมกระทำกิจแต่ละอย่าง เป็นไปอย่างนั้น (ต้องรู้-ต้องจำ-ต้องคิด ฯ) ใช่ไหมคะ ปุถุชนจนถึงพระอริยะ ก็คงเห็น ในลักษณะอย่างนี้ เหมือนกัน อย่างนี้ เป็นความเห็นผิด หรือยังคะ ช่วย อธิบาย องค์ประกอบของความเห็นผิด ด้วยค่ะ

๒. เห็นปรมัตถธรรม เช่น เห็น แล้วก็รู้ว่า เป็นธาตุ เป็นธรรม เป็นอนัตตา ไม่มี-ไม่เป็น ตัวตนสัตว์บุคคลวัตถุสิ่งใดๆ กรณีนี้ จะต้องมี ปัญญาความรู้ความเข้าใจ ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งปริยัติปฏิบัติปฏิเวท ใช่ไหมคะ ซึ่งต้องถึง ระดับพระโสดาบัน ใช่ไหมคะ ถึงจะ เห็นปรมัตถธรรม ดับความเห็นผิด ว่า เป็นตัวตนแล้ว (ดับเป็นสมุจเฉท) หรือ เพียง ค่อยๆ เป็น ผู้ที่ มี สติและสัมปชัญญะ เกิดขึ้น ระลึกรู้ ลักษณะสภาพธรรม ทีละเล็กทีละน้อย นานๆ ครั้ง.. ไปจน บ่อยๆ ครั้ง (ยังไม่ใช่ พระโสดาบัน) ผู้ที่ รู้บ้าง อย่างนี้ มี ชื่อเรียก เป็นบัญญัติ ว่าอะไร ไหมคะ (เช่น ผู้เจริญสติปัฏฐาน) จนกระทั่ง ทุกครั้ง ที่ สภาพธรรมใด เกิดขึ้นปรากฏ ไม่ว่าทวารใด ก็เห็นปรมัติถธรรม ตลอด เสมอไป .. อย่างนี้ ถึงจะ เป็นพระโสดาบัน ใช่ไหมคะ พระอริยะ ก็เห็น ทั้งสองแบบ คือ เห็นบัญญัติธรรม กับ เห็นปรมัตถธรรม ใช่ไหมคะ

ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 มี.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การเห็นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้แต่พระอริยเจ้าและพระพุทธเจ้า ผู้ที่ดับความเห็นผิดจนหมดสิ้นก็ยังจะต้องเห็นเป็นสิ่งนั้น เห็นเป็นดอกไม้ เป็นพระอานนท์ เพราะเหตุใด เพราะตามธรรมชาติของวิถีจิตที่จะต้องเป็นอย่างนั้น คือ เกิดทางปัญจทวาร แล้วก็เกิดทางมโนทวารต่อ ที่คิดในรูปร่างสัณฐานของสิ่งนั้น จึงเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเห็นแล้ว คิดนึกเป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ ด้วยกุศลจิตก็ได้ เช่น เห็นขอทานแล้วเกิดชวนจิตที่เป็นกุศลที่มีเจตนาจะให้ โดยมีบัญญัติ เรื่องราว สัตว์ บุคคล หรือขอทานเป็นอารมณ์ แม้จะเห็นเป็นสัตว์บุคคล แต่ไม่ได้มีความเห็นผิด แต่เกิดกุศลจิตแทนครับ

ดังนั้น การเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ไม่จำเป็นจะต้องมีความเห็นผิด เพราะเห็นแล้วเกิดกุศลจิต ขณะนั้นก็ไม่ได้เห็นผิด เห็นแล้วโกรธ ขณะที่โกรธ ไม่ได้มีความเห็นผิดเกิดขึ้นมาว่า มีคน มีสัตว์จริงๆ คือ ไม่ได้เกิดความเห็นผิดขึ้นในจิตใจ ก็ไม่ได้เห็นผิด

ทิฏฐิเจตสิกคือความเห็นผิดเป็นนามธรรม เกิดร่วมกับจิต ขณะใดที่มีความเห็น ต้องย้ำคำว่าความเห็นนะครับ คือมีความเห็นเกิดขึ้นที่ใจด้วยคิดว่า เที่ยง เป็นสุข และเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ขณะใดที่มีความเห็นเช่นนั้นเกิดขึ้นก็มีความเห็นผิดแล้ว ซึ่งอาจแสดงออกมาทางวาจา ก็ได้ แต่ก็ต้องคิดในใจก่อน ซึ่งขณะนั้นก็มีความเห็นผิดเกิดแล้ว

เพราะฉะนั้น สรุปได้ว่า ขณะที่มีสัตว์บุคคล มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องมีความเห็นผิด ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ครับ ความเห็นผิด เป็นเหตุนำมาซึ่งอกุศลธรรมอย่างมากมาย เพราะเหตุว่าเมื่อมีความเห็นผิดแล้ว อะไรๆ ก็ผิดตามไปด้วย กล่าวคือ ความประพฤติทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ ก็ผิดไปด้วยตามความเห็นที่ผิด นั่นเอง ผลที่ตามมา คือ เป็นผู้มีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวและ จะประมาทไม่ได้เลยจริงๆ

ขณะที่ฟังพระธรรม เป็นการสะสมความเข้าใจถูก เริ่มที่จะมีความเห็นถูก จนกว่าจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ โดยที่ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญาอย่างแท้จริง การที่ค่อยๆ เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นๆ นั้น ดีกว่าที่จะไม่มีหนทางเลย ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ขณะที่เรายังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ นั้น การที่เราไม่มีหนทาง ก็เหมือนกับการที่เราตกไปในเหวลึก ที่ไม่มีทางขึ้นและมืดสนิท เมื่อเราตกไปในเหวลึกแล้ว เราไม่ควรที่จะอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเลย แต่ควรอย่างยิ่งที่เราจะค่อยๆ ไต่ขึ้นมาทีละนิดทีละหน่อย ซึ่งก็เหมือนกับการที่เราเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จากการฟัง การศึกษาในชีวิตประจำวัน นั่นเอง จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างยิ่ง, ประการที่สำคัญ เราไม่สามารถที่จะทราบได้เลยว่า โอกาสที่เราจะเข้าใจธรรมในภพนี้ชาตินี้ จะเหลืออีกเท่าใด เพราะฉะนั้นแล้ว เวลาที่เหลืออยู่นี้จึงเป็นเวลาที่มีค่าที่สุดในการที่จะให้ตนเอง มีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลส มีความเห็นผิด เป็นต้น ได้ในที่สุด เพราะ ขณะที่เข้าใจ ปัญญาเกิด ก็คุ้มครองไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด แล้ว และในขณะนั้นอกุศลก็เกิดไม่ได้ด้วย ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 29 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 29 มี.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของสภาพธรรม ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น แต่ละคน แต่ละชีวิต ก็เป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมเลย ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีเรา ไม่มีเขา มีแต่ธรรมเท่านั้นเมื่อเป็นธรรมที่มีจริงแต่ละอย่างๆ จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเป็นใครได้อย่างไร เพราะเป็นธรรม ธรรมที่เป็นสภาพรู้ธาตุรู้นั้น มี ๒ ประะภท คือ จิตและเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ เมื่อจิตเกิดขึ้น (พร้อมด้วยเจตสิก) ก็ย่อมรู้อารมณ์ ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ โดยที่จิตเท่านั้นที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ส่วนเจตสิกก็เกิดร่วมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต ทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป ชีวิตประจำวัน จิต (และเจตสิก) จึงรู้ได้ทั้งปรมัตถ์ และ บัญญัติ ซึ่งเมื่อศึกษาไปตามลำดับก็จะเข้าใจได้ว่า ปรมัตถ์ คือ สิ่งที่มีจริงๆ เช่น สี เสียง เสียง กลิ่น รส กุศล อกุศล เป็นต้น ส่วนสมมติบัญญัติ ไม่มีมีจริง จิตรู้บัญญัติได้โดยจิตคิดถึง ชื่อสัณฐาน เรื่องราวของปรมัตถธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้และทรงแสดงความจริงของสภาพธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง

ธรรมดาของวิถีจิต (จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใด เช่น ทางตา ทางหู เป็นต้น) คือ เมื่อวิถีจิตทางปัญจทวารเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ดับไป ย่อมเป็นปัจจัยให้วิถีจิตทางมโนทวารเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่อจากปัญจทวาร และมีคิดถึงชื่อสัณฐานของสิ่งที่เห็นเป็นต้น ไม่ยกเว้นว่าเป็นปุถุชนหรือเป็นพระอริยบุคคล หรือพระอรหันต์ สรุปคือทุกบุคคลเมื่อเห็น เมื่อได้ยิน เป็นต้น แล้วย่อมมีการคิดนึกต่อทางมโนทวาร ความจริงเป็นอย่างนี้ แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ก็จะไม่เห็นผิดว่าบัญญัติมีจริง แต่เข้าใจถูกต้องว่ามีแต่ปรมัตถธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป และ การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นกิจของปัญญาที่เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tookta.siri
วันที่ 31 มี.ค. 2559

สาธุนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ