อาบัติของภิกษุที่รับและครอบครองรถยนต์

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  30 มี.ค. 2559
หมายเลข  27612
อ่าน  1,298

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

อาบัติของภิกษุที่รับและครอบครองรถยนต์มีประการใดบ้าง แล้วควรจะปฏิบัติอะไรอย่างไร ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส ขอหลักฐานอ้างอิงตามพระไตรปิฎกด้วยค่ะ

ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 30 มี.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเข้าใจเบื้องต้น คือ ยานพาหนะของบรรพชิตคือรองเท้าเท่านั้น ยานอย่างอื่นไม่สมควรแก่บรรพชิตเลย ดังข้อความจากอรรถกถาดังนี้

[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๐๘

..ที่ชื่อว่า ยาน ได้แก่ ล้อเลื่อน รถ เกวียน รถมีเครื่องประดับ วอรถเข็น. นี้มิใช่ยานของบรรพชิต. บรรพชิตมียานอย่างเดียวคือ รองเท้า

ข้อความจากอรรถกถากินททสูตร ([เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า ๒๔๐) มีว่า

บทว่า ยานโท ได้แก่ ยานทั้งหลายมีหัตถิยาน (ยานช้าง) เป็นต้น ก็แต่ว่าในบรรดายานเหล่านั้น ยานช้าง ยานม้า ย่อมไม่สมควรแก่สมณะ การให้ไปด้วยรถก็ไม่สมควรเหมือนกัน ยานที่สมควรแก่สมณะ ก็คือ รองเท้าสำหรับสมณะผู้รักษาอยู่ซึ่งศีลขันธ์

ดังนั้น การรับรถยนต์ของพระภิกษุไม่ควรโดยประการทั้งปวง ผู้รับย่อมอาบัติมีโทษ ส่วนผู้ให้ ก็ให้ในสิ่งที่ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต เป็นเหตุให้ภิกษุต้องอาบัติ และ ถ้าพระภิกษุ ยังมีอาบัติติดตัว ไม่ได้กระทำคืนให้ถูกต้องตามพระวินัย ถ้ามรณภาพลง (ตาย) ก็ไปอบายภูมิอย่างเดียว พระภิกษุก็เกิดเป็นสัตว์นรกได้ เกิดเป็นเปรตได้ เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานได้ ลงไปสู่ที่ต่ำอย่างเดียว ผู้ที่เป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ต้องปฏิเสธการรับรถยนต์ ตลอดจนถึงสิ่งที่ไม่ควรแก่เพศบรรพชิตอย่างอื่นๆ เช่น เงิน ทอง เป็นต้น เพราะไม่ใช่สิ่งที่บรรพชิตจะรับได้ และ ยังควรอย่างยิ่งที่จะกล่าวความจริงให้คฤหัสถ์ได้รับรู้ว่า พระภิกษุในพระธรรมวินัย ไม่รับรถยนต์ ต้องกล้าที่จะกล่าวความจริง ไม่ใช่ว่าเอาอะไรมาให้ก็จะรับหมด เพราะมีแต่โทษโดยส่วนเดียว เป็นผู้ไม่เคารพในพระรัตนตรัย ไม่มีความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสของตนเอง ไม่ได้น้อมประพฤติตามพระธรรมวินัย ถ้าอยากจะมีรถยนต์ อยากจะครอบครองรถยนต์ อยากจะมีเงิน มีทรัพย์สมบัติ ก็ต้องลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ควรแก่เพศบรรพชิต

ความจริงแล้ว รถยนต์ ก็คือ ทรัพย์สิน ที่เป็นมูลค่า เมื่อพระภิกษุรับแล้ว ก็จะต้องเห็นโทษ ยอมรับในความผิดที่ได้กระทำ ซึ่งจะต้องสละสิ่งนั้น แล้วแสดงอาบัติ มีความจริงใจที่จะไม่กระทำผิดอย่างนั้น ถ้าประสงค์จะประพฤติตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะต้องน้อมประพฤติตามพระธรรมวินัยจริงๆ ไม่ทำในสิ่งที่ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง

สำหรับผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ก็จะต้องมีความรู้ด้วยว่า อะไรที่ควรถวายแก่พระภิกษุ และ อะไรที่ไม่ควรถวายแก่พระภิกษุ อาหาร น้ำ จีวร ยารักษาโรค เป็นต้น ควรถวายแก่พระภิกษุ ส่วนเงินทอง ไม่ควร รถยนต์ ไม่ควร เป็นต้น เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็จะเกื้อกูลให้ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ทำในสิ่งที่ผิด และถ้าเคยทำผิดมาก่อน เมื่อได้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ต่อไปก็จะได้ไม่ทำผิดอีก ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 31 มี.ค. 2559

อาบัติวินัยกลุ่มไหน ครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 7 เม.ย. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ