กลัวบาป จากการยึดมั่นความคิด

 
นัตถิ
วันที่  31 มี.ค. 2559
หมายเลข  27615
อ่าน  1,414

กล่าวคือ ผมเป็นผู้รอบวช (ปะขาว) โดยได้อยู่ศึกษากับ สมณรูปหนึ่ง ซึ่งจากการสัมผัสตลอด 2 เดือน ก็มั่นใจในศีล ในวัตร ของท่าน แต่ปัญหาคือ การอบรม สั่งสอน และการตีความ พระสูตร หรือพยัญชนะ ในการอ่านศึกษาพระไตรปิฎก ซึ่งมักขัดกับความรู้สึก หรือความเข้าใจของตัวผม ทำให้จิตเกิดความคิดเป็นอกุศล ต่อต้าน แง่ลบ ซึ่งก็เกรงว่าจะเกิดบาป โดยบางครั้งได้เคยแสดงความเห็นแย้งไปบ้าง แต่ผลสะท้อนกลับมาไม่ดีเลย จึงหยุดได้แต่เก็บไว้ในใจ บางครั้งคิดว่าเราอาจเข้าใจผิดเอง แต่ก็ไม่ทำให้ดีขึ้นใจยังหยุดคิดไม่ได้ ยกตัวอย่าง เช่น "การออกบวชจากเรือน เป็นผู้ไม่มีเรือน" ท่านแปลว่าไม่มีญาติ ไม่จำเป็นไม่ต้องติดต่อญาติ" แต่ผมแย้งว่าเรือนในที่นี้หมายถึง นิวรณ์ 5 รูป รส กลิ่น เสียง โผฐัพผะ ท่านก็แจ้งให้ผมไปใคร่ครวญใหม่ หรือ อ่านบทที่ พระพุทธเจ้าอุปมาว่า บุรุษจะข้ามแม่น้ำ โดยเห็นว่าฝั่งโน้นน่าจะอยู่สบาย ฝั่งนี้น่าจะมีอันตราย แต่ไม่มีเรือ ไม่มีสะพาน จึงหาหญ้า เศษไม้ ใบไม้ต่อเป็นแพ ใช้มือ และเท้าพุยน้ำข้ามไป" ท่านให้ผมไปพิจารณาใคร่ครวญว่า แสดงว่านิพพาน ทางพ้นทุกข์ไม่ได้อยู่ห่างใกล้เกินไป หรือยากเกินกว่าที่แพต่อเองด้วยกิ่งไม้จะข้ามไปได้ เปรียบเป็นแม่น้ำแคบ ไม่ใช่มหาสมุทรกว้างใหญ่. ซึ่งในบทพยัญชนะนี้ มุ่งหมายว่า คือบุคคลนี้เมื่อข้ามน้ำได้แล้วกลับ มีความคิดว่า แพนี้มีคุณแก่เรา เราจะยกแพนี้ขึ้นเทินหัวแบกไปด้วย เป็นความคิดที่ถูกหรือฯลฯ ยังมีอีกหลายบทที่ท่านตีความทำนองนี้....ปัญหาคือ ความรู้สึกที่ติด ที่แย้งในใจ ก่อกวน ทำให้วิตก ในบาปอกุศล ทำให้บ้างครั้งการเจริญ สติ สมาธิ ไม่ก้าวหน้า จะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร เพราะต้องอยู่กับท่านอีกเป็นปีๆ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 มี.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า “บวช” เป็นคำที่คนไทยนิยมใช้ มาจากภาษาบาลี “ปพฺพชฺชา” ซึ่งหมายถึงบรรพชา มีรากศัพท์มาจาก ป (ปะ) แปลว่า ทั่ว และ วช (วะชะ) แปลว่า เว้น มาเป็นคำว่า “บรรพชา” แล้วกลายมาเป็นคำว่า “บวช” ในที่สุด คำว่า “ปพฺพชฺชา” หรือ “บรรพชา” แปลว่า เว้นทั่ว หมายถึง การงดเว้นจากความชั่วทั้งปวง หรือ หมายถึง ออกไป คือ ออกไปจากธุระการงานทุกประเภทของคฤหัสถ์ ผู้ที่ถือบวชในพุทธศาสนา จะได้นามว่า พระบ้าง ภิกษุบ้าง บรรพชิตบ้าง
ในปัจจุบันคำว่า “การบวช” ที่เราพูดกันนั้น มิได้หมายเอาเฉพาะความหมายที่ตรงกับคำว่า “บรรพชา” เท่านั้น แต่หมายถึงคำว่า “อุปสมบท” ด้วย เพราะตามความหมายเดิม บรรพชา หมายถึง การบวชเป็นสามเณรเท่านั้น ดังนั้น คำว่า “บวช” จึงใช้เป็นคำกลางๆ หากต้องการจะสื่อสารให้รู้ว่าบวชเป็นอะไรก็เพิ่มคำใหม่ต่อท้าย เช่น บวชเณร บวชพระ บวชชี เป็นต้น
บวช คือ การสละเพศคฤหัสถ์สู่ความเป็นเพศบรรพชิต บวชเพื่ออะไร การบวชเพราะบุคคลนั้นมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา และที่สำคัญ เป็นผู้เห็นโทษ ในการครองเรือนจริงๆ จึงเป็นผู้สละ อาคารบ้านเรือนทั้งหมด ไม่ว่าเงินและทอง ทุกๆ อย่างที่สมควรกับคฤหัสถ์ ดังนั้นการบวช จึงไม่ใช่เพื่อตอบแทนพระคุณมารดา บิดา ไม่ใช่เพื่อว่าบวชแล้วจะเป็นบุญ (บุญอยู่ที่จิตไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มที่ใส่) ถ้าบวชหนึ่งครั้งก็ถือว่าประเสริฐ ไม่ใช่เป็นเรื่องประเพณีดังเช่นปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นโทษของกามคุณ โทษของการครองเรือน และมีศรัทธาที่จะประพฤติตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ทั้งพระวินัยและการศึกษาธรรมอย่างแท้จริงเพื่อถึงการดับกิเลส

การบวช เป็นเรื่องที่ยากมาก และการยินดีในการบวช ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน เพราะการบวช เป็นการเว้นทั่ว เว้นจากอกุศล เว้นจากสิ่งที่ทำให้ติดข้องต้องการ เป็นต้น แสดงถึง เพศที่แตกต่างไปจากคฤหัสถ์อย่างสิ้นเชิง ถ้าหากล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่รักษาพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ขาดความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัย ย่อมเป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้าเท่านั้น เมื่อต้องอาบัติแล้ว ไม่กระทำคืนตามพระวินัย ก็เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพาน กั้นการไปสู่สุคติด้วย แทนที่จะได้กระทำกิจที่ควรทำ ที่จะเป็นที่พึ่งสำหรับตนเอง แต่กลับไปเพิ่มอกุศล เพิ่มความไม่รู้ เพิ่มเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง ที่จะทำให้ได้รับผลที่ไม่ดีในอนาคตข้างหน้า เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาเป็นอย่างมากทีเดียว

บุคคลในครั้งพุทธกาล ท่านได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรมจาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เห็นโทษของการอยู่ครองเรือน ว่า คับแคบ (คับแคบด้วยอกุศล คับแคบด้วยกิเลส) มีแต่จะเป็นเครื่องพอกพูนกิเลสให้หนาแน่นขึ้น แล้วมีอัธยาศัยน้อมไปที่จะขัดเกลากิเลสให้ยิ่งกว่าเพศคฤหัสถ์ จึงสละทุกสิ่งทุกอย่าง สละทรัพย์สมบัติ สละวงศาคณาญาติ แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต ด้วยความจริงใจ ด้วยความตั้งใจที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ จนกระทั่งสูงสุด ถึงความเป็นพระอรหันต์ [ไม่ใช่บวชด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่บวชตามๆ กัน ไม่ใช่บวชเพราะอยากจะบวช เป็นต้น] ความเป็นบรรพชิต ความเป็นสมณะ ถ้ารักษาไม่ดี มีแต่จะฉุดคร่าไปสู่นรกโดยส่วนเดียว ไม่ควรเห็นว่า พระภิกษุ จะไม่ตกนรก เพราะถ้าประพฤติไม่ดี เที่ยวย่ำยีสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ก็ล้วนแล้วแต่ กำลังทำทางที่จะทำให้ตนเองไปสู่อบายภูมิ ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลยจริงๆ ที่สำคัญความเป็นบรรพชิตไม่ได้อยู่ที่เพศ หรือ เครื่องแต่งกาย หรือ บริขารเครื่องใช้สอย แต่อยู่ที่ความเป็นผู้จริงใจในการขัดเกลากิเลส

ดังนั้น การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ จะเป็นหญิงหรือชาย ก็ตาม ถ้าหากว่ามีโอกาสที่จะได้ศึกษาพระธรรมฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา พร้อมทั้งเจริญกุศลทุกประการ นั่นย่อมเป็นชีวิตที่มีค่าเป็นอย่างมาก เพราะเหตุว่า ไม่มีใครสามารถทราบได้ว่า จะจากโลกนี้ไป (ตาย) เมื่อใด และเมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว จะไปเกิด ในภพภูมิใด ถ้าหากไปเกิดในอบายภูมิ ย่อมหมดโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรม ไม่มีโอกาส ที่จะอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ฉะนั้นแล้ว ทุกๆ วันจึงเป็นโอกาสที่ดี ที่จะทำชีวิตที่ยังมีอยู่ ยังเหลืออยู่นี้ ให้เป็นชีวิตที่มีค่ามากที่สุด เท่าที่จะมากได้ และควรที่จะได้พิจารณาว่า ไหนๆ ก็จะต้องตายอยู่แล้ว การเป็นคนดี และฟังพระธรรมให้เข้าใจขึ้น ย่อมเป็นการดีกว่าที่จะไปทำอะไรอย่างอื่นด้วยความไม่รู้ เพราะการที่จะเป็นคนดี ก็สามารถที่จะเป็นได้ แม้ไม่ได้บวช.

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวถึงความต่างระหว่างเพศบรรพชิตกับคฤหัสถ์ ไว้ น่าพิจารณาทีเดียว ว่า

ความต่างกันของผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน พุทธบริษัท ระหว่างผู้ที่บวชกับผู้ที่ไม่บวชคือว่าพุทธบริษัทที่ไม่บวช เพราะว่าไม่ได้สะสมอัธยาศัยที่จะบวช ไม่มีอัธยาศัยใหญ่ถึงกับสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตได้ แต่ว่าคฤหัสถ์ผู้นั้นก็เป็นพุทธบริษัทที่ดี สามารถอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา และท่านอื่นๆ อีกมาก ท่านก็เป็นผู้ที่เป็นพุทธบริษัทที่อบรมเจริญปัญญาในเพศคฤหัสถ์แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 31 มี.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นบรรพชิตจะต้องมีความจริงใจที่จะศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาในเพศที่สูงยิ่งจริงๆ ที่จะต้องศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจ และน้อมประพฤติตามพระธรรมวินัยด้วย ตามความเป็นจริงแล้วความเป็นบรรพชิตจะต้องสละอาคารบ้านเรือน วงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติทั้งหมด ไม่อาลัยในเงินทองทรัพย์สมบัติ ประดุจก้อนน้ำลายที่ถ่มทิ้งแล้ว ไม่ติดข้องที่จะนำกลับมาอีก ดังนั้น พระภิกษุจึงไม่มีบ้านเรือน ไม่มีทรัพย์สมบัติ ไม่มีครอบครัว เป็นผู้มีวงศ์ญาติใหม่ คือ พระภิกษุในพระธรรมวินัยด้วยกัน แต่ในความเป็นจริง ความเป็นญาติ ความเป็นบิดามารดาของพระภิกษุก็ไม่ได้สูญหายไปไหน อย่างเช่น พระภิกษุ อาหารที่ได้มาสามารถให้กับบิดามารดาได้ ไม่เป็นอาบัติ หรือแม้แต่บิดามารดาหรือญาติที่เจ็บป่วย พระภิกษุสามารถที่จะประกอบยาพยาบาลรักษาท่านได้ เป็นต้น ซึ่งควรจะเป็นไปด้วยสภาพจิตที่ดีงาม ไม่ใช่ด้วยความผูกพัน ติดข้อง
การที่จะข้ามฝั่งของสังสารวัฏฏ์ซึ่งเป็นฝั่งของกิเลสและสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ ไปอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นฝั่งที่ปลอดภัย คือฝั่งของพระนิพพาน เป็นเรื่องยากและยาวไกลมาก ข้อความในอาสีวิสสูตร ก็ได้ทรงแสดงไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า เปรียบเทียบอะไรกับอะไร กล่าวคือ ห้วงน้ำใหญ่ มุ่งหมายถึง โอฆะ (ห้วงน้ำคือกิเลส ๔ ที่ทำให้หมู่สัตว์จมลงในสังสารวัฏฏ์ ได้แก่ ความยินดีพอใจในกาม ความติดข้องในภพ, ความเห็นผิด และ อวิชชา) , ฝั่งนี้ ได้แก่ กายของตน ซึ่งยังมีการเวียนว่ายตายเกิด มีสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมรูปธรรมเกิดขึ้นเป็นไป เป็นทุกข์, ฝั่งโน้น ได้แก่ นิพพาน, แพ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘, ความพยายามที่จะข้ามถึงฝั่งโดยใช้มือและเท้า ได้แก่ การปรารภความเพียร, เป็นพราหมณ์ หมายถึงเป็นพระอรหันต์ ผู้หมดจดจากกิเลส เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญ คือ จะต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 1 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
doungjai
วันที่ 2 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
aurasa
วันที่ 3 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 4 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Sea
วันที่ 19 ก.พ. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ