สติคำไทย? สติคำบาลี?

 
JYS
วันที่  9 เม.ย. 2559
หมายเลข  27659
อ่าน  3,810

สมมติว่า ผมทำงานอยู่แล้วผมจะใช้ดินสอ จะหยิบดินสอ ผมรู้ว่าผมจะหยิบ บางครั้งผมก็นึกถึงก่อนถึงจะหยิบดินสอ บางครั้งเห็นแล้วก็จะหยิบใช้เลย นี่ไม่ใช่สติในทางพระพุทธศาสนาใช่มั้ยครับ?

แล้วสติในความหมายของภาษาไทย กับ สติในทางภาษาบาลีหรือในพระพุทธศาสนา แตกต่างกันอย่างไรครับ?

แล้วมันคืออะไรครับ เป็นโลภะหรือว่าอะไรยังไงครับ ขอความกระจ่างชัดด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 เม.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติ ตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นเจตสิก สติเป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเกิดกับจิตที่ดีงาม ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย สติ ทำหน้าที่ระลึกเป็นไปในทางที่ดี และ สติเป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้นกระแสกิเลส

สติ มีหลายอย่าง หลายชนิด แต่ สติ ก็ต้องกลับมาที่ สติเป็น สภาพธรรมฝ่ายดี ครับ สติ แบ่งตามระดับของกุศลจิต เพราะ เมื่อใด กุศลจิตเกิด สติจะต้องเกิดร่วมด้วย กุศลจิต มี 4 ขั้น คือ ขั้นทาน ศีล สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

สติจึงมี 4 ขั้น คือ สติที่ระลึกเป็นไปในทาน สติที่ระลึกไปในศีล สติที่ระลึกเป็นไปในสมถภาวนา และ สติที่ระลึกเป็นไปในวิปัสสนาภาวนา

สติขั้นทาน คือ เมื่อสติเกิดย่อมระลึกที่จะให้ สติขั้นศีล คือ ระลึกที่จะไม่ทำบาป งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ สติขั้นสมถภาวนา เช่น ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า และสติขั้นวิปัสสนา คือ สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ เกิดพร้อมปัญญารู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ดังนั้น สติ จึงเป็นสภาพธรรม ที่ระลึกเป็นไปในกุศลทั้งหลาย และ ขณะใดที่สติเกิดขณะนั้น อกุศลไม่เกิด เพราะ กั้นกระแสกิเลสในขณะนั้น

ขอเพิ่มเติมความละเอียดของสติดังนี้ ครับ

โดยมาก คนไทย นำภาษาบาลีมาใช้ โดยไม่ตรงกับความหมายของภาษาบาลี และไม่ตรงกับความหมายของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ อย่างเช่น คำว่า สติ

สติในภาษาไทย ก็เข้าใจกันว่า ทำอะไร ก็รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ เดินก็รู้ว่าเดินอยู่ซื้อของก็ให้มีสติ น้ำท่วมก็ให้มีสติ สรปุว่า คนไทยที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เข้าใจว่า สติคือรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ชื่อว่า มี สติ ความหมายสตินี้ไม่ตรงตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ

สติ ที่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ สติ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นเจตสิกเกิดกับจิตที่ดีเท่านั้น ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ดังนั้นขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่มีสติ ขณะใดที่เป็นกุศล ไม่ว่าระดับใด ขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยครับ สติทำหน้าที่ระลึก และกั้นกระแสกิเลสที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้นในขณะที่สติเกิดครับ

ดังนั้นต้องเป็นกุศล จึงจะมีสติ และขณะที่รู้ว่าจะต้องทำอะไรในขณะนั้น รู้ว่าเดินอยู่นั่งอยู่ แต่ จิตไม่ได้เป็นไปในในทาน ศีล ภาวนา ไม่เป็นกุศล หรือ เพียงรู้ว่าจะต้องทำอะไร ไม่ใช่สติ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 9 เม.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นการเข้าใจธรรม จากคำที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่ติดที่คำ และต้องเป็นไปตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ด้วย

สติ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็น สภาพธรรม ที่ระลึกเป็นไป ในกุศล ประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ขณะที่กุศลจิตเกิด ย่อมไม่ปราศจากสติ และ สภาพธรรม ฝ่ายดีอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เช่น ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น แต่สภาพธรรม เหล่านี้ จะเกิดร่วมกับอกุศลจิตไม่ได้ เพราะเป็น ธรรม คนละประเภทกัน ตรงกันข้ามกัน อย่างสิ้นเชิง

สติ เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท สติ จึงมีหลายระดับขั้น ทั้งที่เป็นไปใน ทานการสละวัตถุสิ่งของ เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น เป็นไปใน ศีล คือ การวิรัติ งดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ เมื่อสติเกิดขึ้นก็ทำให้งดเว้นจากอกุศลธรรม สติที่เป็นไปในการอบรมเจริญ สมถภาวนา อบรมความสงบของจิต และ สติที่เป็นไปใน การอบรมเจริญปัญญาที่เข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
JYS
วันที่ 9 เม.ย. 2559

อนุโมทนาครับ ^_^

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 10 เม.ย. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 13 เม.ย. 2559

สติทางโลกกับสติทางธรรมไม่เหมือนกัน เช่น สติทางโลก ขับรถให้มีสติ ระวังชน ฯลฯ ส่วนสติทางธรรม เช่น สติที่ระลึกถึงกุศลทุกประการค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Lastseason
วันที่ 14 เม.ย. 2559

อนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ