เจตสิก พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสถึงเจตสิก?
เป็นพุทธพจน์หรือไม่ครับ พอจะมีหลักฐานไหมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 182
๕๖-๒. จิตตทุกะ
จิตฺตา ธมฺมา ธรรมเป็นจิต
โน จิตฺตา ธมฺมา ธรรมไม่เป็นจิต
๕๗-๓. เจตสิกทุกกะ
เจตสิกา ธมฺมา ธรรมเป็นเจตสิก
อเจตสิกา ธมฺมา ธรรมไม่เป็นเจตสิก
ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจก่อนว่า พระอภิธรรม เป็นธรรมที่มีจริง ละเอียดโดยความเป็นธรรม ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้สภาพธรรมที่เป็นพระอภิธรรม ตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงให้สัตว์โลกได้เข้าใจตามความเป็นจริง พระอภิธรรม จึงไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน เป็นธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรสรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก กุศล อกุศล เป็นต้น นี้แหละ คือ พระอภิธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน พระอภิธรรมจึงไม่ได้อยู่ในตำรา
พระพุทธวัจนะ ที่เป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็รวม ทั้งพระอภิธรรมด้วย พระสุตตันตปิฎกด้วย และ พระวินัยด้วย ครับ
ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระนางมหาปชาบดีโคตมีว่า การจะตัดสินว่า ธรรมใด เป็นพระธรรมคำสั่งสอนของเราหรือไม่ ให้พิจารณาในคำสอนนั้นว่า คำสอนใด เป็นไปเพื่อเบื่อหน่าย คลายกำหนัดจากกิเลส ละกิเลส เป็นไปเพื่อความมักน้อย สันโดษ ขัดเกลาและ เจริญขึ้นของกุศลและปัญญา คำสอนนั้น เป็นคำสอนของเรา แต่ธรรมใด ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อละกิเลส แต่เป็นไปเพื่อได้ เพื่อติดข้อง ไม่รู้และไม่ทำให้เจริญขึ้นในกุศลและปัญญา คำสอนนั้น ไม่ใช่ คำสอนของเราที่เป็นพุทธพจน์ พุทธวัจนะ ครับ
ซึ่ง พระสุตตันตปิฎก เป็นคำสอนที่แสดงถึงเรื่องราวที่แสดงกับบุคคล แต่เป็นเรื่องราวที่ตรงตามความเป็นจริง ทำให้ผู้ฟังเกิดกุศลและเกิดปัญญา และ ละคลายกิเลส ดังนั้น พระสุตตันตปิฎก จึงเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นพุทธวัจนะ พุทธพจน์ครับ
ส่วนพระอภิธรรม ก็แสดงเพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจตามความเป็นจริง ว่ามีแต่ธรรม ไม่ใช่เรา อันเป็นไปเพื่อละกิเลส คือ ความไม่รู้ และ เจริญขึ้นของปัญญา เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นดังนี้ พระอภิธรรมก็เป็นพระพุทธพจน์ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเช่นกัน ดังเช่นที่พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า คำสอนใดเป็นไปเพื่อละคลายกิเลส มีความไม่รู้และเจริญขึ้นของกุศลและปัญญา เป็นคำสอนของเรา ดังนั้นการศึกษาธรรมจึงต้องเป็นผู้ละเอียดรอบคอบในการศึกษาพระธรรม จึงจะได้สาระจากพระธรรม คือ ความเห็นถูก และละคลายกิเลส ครับ
พระพุทธวัจนะ ที่เป็นคำสอน ของพระพุทธเจ้า ก็เป็นพระอภิธรรมด้วย หากไม่ศึกษาพระอภิธรรมให้เข้าใจ ที่เป็นพุทธวัจนะแล้ว ก็จะเข้าใจธรรมส่วนอื่นผิดไปได้เช่น ศึกษาพระสูตร พระวินัย อย่างเดียว ที่เป็นการแสดงโดยนัย สัตว์ บุคคล มีเรา มีเขา ที่กล่าวโดยสมมติ เมื่อไม่ศึกษาพระอภิธรรมก็เข้าใจผิดว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคลจริงๆ อันเป็นผลมาจากการไม่เข้าใจพระอภิธรรม ครับ ดังนั้น การศึกษาพระอภิธรรม ก็คือ การฟังเรื่องสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ที่ไม่ได้เป็นวิชาการเลย ขณะนี้ มี เห็น ได้ยิน คิดนึก โลภ โกรธ หลง ไม่รู้ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่ เป็นอภิธรรม ควรเข้าใจว่าเป็นธรรม ก็ชื่อว่า เป็นการศึกษาพระอภิธรรม ก็จะเป็นประโยชน์ ต่อการเข้าใจในพระธรรมส่วนอื่นๆ ด้วย ครับ เพราะ ถ้าไม่ศึกษาอภิธรรม ก็ไม่สามารถละกิเลส ที่ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ก็ไม่มีทางบรรลุธรรมได้เลย ครับ พระธรรมทุกคำ มีประโยชน์ ควรค่าแก่การศึกษาเพราะเป็นเหตุให้เกิดปัญญา
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้สภาพธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการตามความเป็นจริง เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระมหากรุณาที่จะเกื้อกูลสัตว์โลกให้เข้าใจธรรมตามพระองค์ด้วย จึงทรงแสดงพระธรรมประกาศพระศาสนา ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว คำสอนทั้งหมดพระองค์ทรงแสดงให้เข้าใจความจริง ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งเมื่อจะกล่าวให้สั้นกว่านั้น คือ ไม่พ้นไปจากนามธรรม กับ รูปธรรม และ สั้นที่สุด คือ ธรรม นั่นเอง ธรรมทั้งหมด เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ แต่ต้องใช้ชื่อ เพื่อให้รู้ว่ากำลังพูดถึงธรรมอะไร อันจะเป็นเครื่องส่องให้ผู้ฟังได้เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แต่ไม่ใช่ให้ไปติดที่ชื่อ เมื่อได้ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับแล้ว ก็จะเข้าใจว่า ธาตุรู้ หรือ สภาพรู้นั้น มี ๒ อย่าง คือ อย่างแรก เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ (จิต) และอย่างที่ ๒ คือ สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิตดับพร้อมกันกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ด้วย (เจตสิก) ตัวอย่างเจตสิก เช่น ความโ ลภ ความโกรธ ความไม่รู้ ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัว ความระลึกได้ ความเลื่อมใส ความเข้าใจถูกเห็นถูก ความเพียร ความไม่โลภ ความไม่โกรธ เป็นต้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงไว้มากมาย ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เมื่อเป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ประกอบกับจิต จึงชื่อว่า เจตสิก
ประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เพื่อละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิดและ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ บุคคลผู้ที่ตั้งใจศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ ย่อมจะได้ประโยชน์จากพระธรรม ธรรม เป็นเรื่องยาก จึงต้องตั้งใจฟังตั้งใจศึกษา ความรู้ความเข้าใจจึงจะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...