อุเบกขา

 
nattawan
วันที่  24 เม.ย. 2559
หมายเลข  27708
อ่าน  2,278

อุเบกขาเจตสิกและอุเบกขาเวทนา เหมือนหรือต่างกัน อย่างไรคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 เม.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อุเบกขาเจตสิก ไม่มี อุเบกขาเวทนา คือ เวทนาเจตสิก ครับ

อุเบกขาไม่ได้หมายถึงเพียงเวทนาที่เป็นความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ เท่านั้น ยังมีความหมายอย่างอื่น มุ่งหมายถึงสภาพธรรมอย่างอื่นด้วย ดังข้อความบางตอนที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวไว้ในเรื่องของอุเบกขา ๑๐ ดังต่อไปนี้

"ฉฬงคุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่วางเฉยในอารมณ์ ๖ ของพระอรหันต์ผู้ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว

พรหมวิหารุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งวางเฉยเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย

โพชฌังคุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่เป็นองค์ คือ ส่วนประกอบที่ทำให้ตรัสรู้อริยสัจธรรม

วิริยุเปกขา ได้แก่ วิริยเจตสิกที่เป็นความเพียรถูก ซึ่งไม่ตึงนักไม่หย่อนนักในการเจริญภาวนา

สังขารุเปกขา ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่วางเฉยเมื่อประจักษ์ไตรลักษณะของสังขารธรรม

เวทนุเปกขา ได้แก่ เวทนาเจตสิกที่ไม่รู้สึกเป็นทุกข์หรือเป็นสุข

วิปัสสนูเปกขา ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่เป็นกลางในการพิจารณาอารมณ์ที่เกิดตามเหตุปัจจัย

ตัตรมัชฌัตตุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่เป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยอคติ

ฌานุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกในฌาน ซึ่งคลายความฝักใฝ่ในธรรมอื่นที่ทำให้ไม่สงบมั่นคง โดยเฉพาะได้แก่ตติยฌาน (โดยจตุกกนัย) ซึ่งคลายปีติแล้ว

ปาริสุทธุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกในจตุตถฌาน (โดยจตุกกนัย) ซึ่งสงบหมดจดแล้วจากข้าศึกทั้งปวง ไม่ต้องทำกิจละองค์ฌานใดอีก" ทั้งหมดนั้น เป็นเจตสิกธรรมแต่ละประเภทๆ ตามความเป็นจริงของธรรม

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 เม.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นการค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ตามความเป็นจริง เพราะสิ่งที่กำลังฟังกำลังศึกษาให้เข้าใจนั้น ล้วนมีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แต่เพราะไม่รู้ จึงต้องฟัง ต้องศึกษาให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง จากที่มากไปด้วยความไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลย ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจขึ้นในสิ่งที่มีจริงๆ ตั้งแต่ขั้นฟังว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่เรา เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริงได้ในที่สุด แม้แต่ อุเบกขา คำเดียว มีความหลากหลายมาก
อย่างเช่น อุเบกขา ที่เข้าใจกันซึ่งเป็นความเที่ยงตรง มีความเป็นกลางไม่เอนเอียงไปด้วยความรักหรือความชัง มีความเป็นกลางไม่ยินดียินร้าย ว่า โดยสภาพธรรมแล้วก็ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตาเจตสิกนั่นเอง เจตสิกนี้เป็นสภาพธรรมที่ไม่เอนเอียง เที่ยงตรง เป็นกลาง ซึ่งเป็นการยาก ลองพิจารณาดูถึงการที่จะเป็นผู้ที่ตรง ไม่เอนเอียง ในเมื่อยังเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แล้วจะเป็นอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องพิจารณาและจะต้องเป็นผู้ตรงต่อสภาพของจิตจริงๆ ซึ่งทุกขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้น ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก เกิดร่วมด้วยเสมอ
แต่ถ้ากล่าวถึง อุเบกขาเวทนา ต้องเป็นความรู้สึกที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ ซึ่งก็คือ เฉยๆ นั่นเอง เป็นเจตสิกอีกอย่างหนึ่ง ที่เกิดร่วมกับจิต ตามควรแก่จิตขณะนั้นๆ เช่น เกิดร่วมกับจิตเห็น จิตได้ยิน เป็นต้น แต่ไม่ใช่ตัตรมัชฌัตตาเจตสิก
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ให้เข้าใจตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมแต่ละหนึ่งๆ ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nattawan
วันที่ 24 เม.ย. 2559

ขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 26 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เฉลิมพร
วันที่ 19 ม.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ