ศรัทธาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา

 
pdharma
วันที่  26 เม.ย. 2559
หมายเลข  27719
อ่าน  2,619

ศรัทธาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นกุศลหรือไม่ และจะให้ผลอย่างไร

ขอขอบพระคุณ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 เม.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัทธา เป็นภาษาบาลี ส่วน ศรัทธา ก็มีความหมายเดียวกับ สัทธา เพราะมาจากคำเดียวกัน คือ สัทธา ครับ ซึ่ง สัทธา หรือ ศรัทธา ในคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นธรรมฝ่ายดี (โสภณธรรม) ที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม คือจิตที่ไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วย ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และ การอบรมเจริญปัญญา จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต และสัทธา หรือ ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ศรัทธาเป็นปรมัตถธรรม เป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเป็นเจตสิก ที่เกิดร่วมกับโสภณจิตทุกประเภท ศรัทธา จึงเปรียบเหมือนสารส้มหรือแก้วมณีที่ทำให้น้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัว เพราะเหตุว่าเมื่อศรัทธาเจตสิกเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเปรียบเหมือนกับโคลนตมย่อมจมลง คือเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น เมื่อศรัทธาเกิดขึ้น อกุศลธรรมประการต่างๆ จะเกิดร่วมไม่ได้เลย เพราะศรัทธาเป็นธรรมฝ่ายดีจะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

ศรัทธามีปัญญาเกิดร่วมก็ได้ ไม่มีปัญญาเกิดร่วมก็ได้ แต่ ศรัทธาแล้ว จะต้องเป็นเจตสิกที่ดีงาม เกิดแล้วย่อมมีแต่คุณไม่มีโทษแม้ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยเลย ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 26 เม.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงว่า ธรรม เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แม้แต่ศรัทธาก็เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ศรัทธาเกิดเมื่อใด อกุศลธรรมทั้งหลายเกิดไม่ได้เลย

การศึกษาพระธรรมประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ว่าจะกล่าวถึงคำอะไรก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ เลย แม้แต่คำที่กล่าวถึงคือศรัทธา ศรัทธา ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา นั้น เป็นธรรมฝ่ายดี เป็นความผ่องใสสะอาด เกิดกับจิตที่ดีงามทั้งหมด ความเป็นจริงของศรัทธา จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

ความเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรมฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ละเว้นบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา คบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีศรัทธา ย่อมเกื้อกูลให้ศรัทธาเจริญยิ่งขึ้นได้

บุคคลผู้ที่มีศรัทธา จึงมีการเจริญกุศลประการต่างๆ มีการคบหากัลยาณมิตรผู้มีปัญญา มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไตร่ตรองพระธรรม อบรมเจริญปัญญาเมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ เพราะอาศัยศรัทธา เป็นเบื้องต้น นั่นเอง ดังนั้น ศรัทธา จึงเป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งประโยชน์เท่านั้น นำมาซึ่งประโยชน์ทั้งในโลกนี้ ในโลกหน้า และอุปการะเกื้อกูลให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ด้วย ไม่นำมาซึ่งโทษเลยแม้แต่น้อย ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 27 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pdharma
วันที่ 29 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ