อนัตตา

 
natpe
วันที่  4 ก.พ. 2550
หมายเลข  2773
อ่าน  4,308

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา อยู่ส่วนไหนของพระไตรปิฎกครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 5 ก.พ. 2550

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไว้ในพระไตรปิฎกมากมาย

โปรดอ่านข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 574

๔. อุปปาทสูตร

ว่าด้วยธรรมนิยาย

[๕๗๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะพระตถาคตทั้งหลาย เกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธาตุ คือ สิ่งที่ทรงตัวเองอยู่ได้อันนั้น (ธัมมฐิตตา) ความตั้งอยู่โดยธรรมดาอันนั้น (ธัมมนิยามตา) ความแน่นอนโดยธรรมดาอันนั้น ตถาคตตรัสรู้บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ครั้นได้ตรัสรู้แล้ว ได้หยั่งรู้แล้วจึงบอกแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา.

จบอุปปาทสูตรที่ ๔

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 96

เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรม ทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 727

นิพพาน ไม่เกิด ไม่มี อันปัจจัยอะไรๆ ไม่แต่ง ไม่ปรุง มีอยู่. จริงอยู่ คำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ซึ่งมีอรรถไม่ผิดแผก ดังที่ตรัสไว้ว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 266

เมื่อเป็นอย่างนั้น ญาณย่อมต้องกันในข้อว่า ธรรมทั้งปวงย่อมเป็นวิสัยแห่งพระญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยรูปที่สลายไป ดุจโดยอาการเป็นอนัตตาของผู้เห็นว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ดังนี้. แม้ชนเหล่าใดกล่าวว่า พระญาณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเว้นการกำหนดอันเป็นวิสัยแห่งลักษณะไญยธรรมทั้งปวงดำรงอยู่ ย่อมเป็นไปตลอดกาล ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น จึงชื่อว่า สพฺพวิทู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑- หน้าที่ 408

ลักขณัตติกนิทเทส

[๗๙] ปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดธรรมที่ได้สดับมาแล้วนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ชื่อว่า สุตมยญาณ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pornchai.s
วันที่ 5 ก.พ. 2550

ธรรมทั้งหลาย คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
natpe
วันที่ 8 ก.พ. 2550

มีคนบอกว่า "ตอนนี้พวกท่านยังไม่เข้าใจหรอกครับ เพราะได้รับการเรียนการสอนมานานว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ โดยมิได้รู้ว่า พุทธพจน์นั้นหมายถึง ขันธ์ 5 บ้างสังขารบ้าง ในพระไตรปิฎกมีการใช้คำว่า สพฺเพ ธมฺมา มากมายเหลือเกิน คำๆ นี้คือธรรมทั้งหลายทั้งปวง (all) พวกท่านต้องดูที่เนื้อความว่า พระพุทธเจ้าหมายถึงสิ่งใดในประโยคนั้น เช่น สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา, สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ (สํ.ข. 17/233) แปลว่า: "สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา"

ข้อความนี้ สพเพ ธมมา หมายถึง สังขาร จึงเป็นอนัตตา สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ สพฺเพ เตภูมกสงฺขารา อนิจฺจา. สพเพ ธมฺมา อนตฺตาติสพเพ จตุภูมกธมฺมา อนตฺตา (สํ.อ. 2/346) แปลว่า: "สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง หมายความว่า สังขารในภูมิ 3 (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) ทั้งปวง ไม่เที่ยง ข้อความนี้ สพเพ ธมมา ก็หมายถึงภูมิ 3 ไม่ได้ หมายถึง พระนิพพาน ในพระวินัยปิฎกก็มีอรรถาธิบายว่า " ...นิพพานและบัญญัติ เป็นอนัตตา .."นั่นไม่ใช่ คำตรัสสอนของพระพุทธเจ้านะครับ แต่เป็นคำวินิจฉัยของกลุ่มสงฆ์ที่ยังไม่ถึงขั้นอรหันต์ แต่การตีความของสงฆ์ที่เข้าสู่อริยะแล้วไม่ได้ตีความอย่างนี้นะครับ

สงสัยว่า สพเพ ธมมา ก็หมายถึง ภูมิ 3 ไม่ได้หมายถึงพระนิพพาน จริงหรือครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
study
วันที่ 8 ก.พ. 2550

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 305

บทว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ความว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นไป ในภูมิ ๔ ทั้งหมด เป็นอนัตตา

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่...

ธรรมทั้งหลายป็นอนัตตา [ปฏิสัมภิทามรรค]

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nar
วันที่ 8 ก.พ. 2550

กรุณาอธิบายด้วยครับ

1. อนัตตา หมายถึง ไม่เป็นตัวตนที่เราเป็นเจ้าของบังคับบัญชาได้ หรือ ไม่เป็นตัวไม่เป็นตนเลย

2. เวลา เป็น สภาวะ หรือ สภาพธรรมะอย่างไร

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 8 ก.พ. 2550

อนัตตา หมายถึง ไม่เป็นตัวตนที่เราเป็นเจ้าของบังคับบัญชาได้ หรือไม่เป็นตัวไม่เป็นตนเลย?

อนัตตา เป็นสภาวะลักษณะอย่างหนึ่งของสภาพธัมมะ มีธัมมะ แต่ธัมมะนั้นเป็นอนัตตา คือ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพราะเป็นธัมมะ และบังคับบัญชาไม่ได้ด้วยครับ

เวลา เป็น สภาวะ หรือ สภาพธรรมะอย่างไร?

เวลาไม่ใช่ธัมมะ และไม่ใช่ลักษณะ สภาวะของสภาพธัมมะ (ที่ไม่เที่ยง..อนัตตา) แต่เวลามี เพราะมีสภาพธัมมะ เพราะเกี่ยวเนื่องกับสภาพธัมมะ เช่น ถ้าไม่มีจิต ก็ไม่มีเวลา เพราะจิต มีการเกิด และการดับ จึงมีเวลาครับ ถ้าไม่มีสภาพธัมมะใดก็ไม่มี เวลาเลยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kchat
วันที่ 3 มี.ค. 2550

การจะเริ่มศึกษาพระอภิธรรมเป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาล อย่างที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกับอะไรได้จริงๆ และเป็นสิ่งที่ยากมากๆ ต้องเริ่มที่ฟังให้เข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมะคืออะไร ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และบังคับบัญชาไม่ได้อย่างไร แล้วค่อยๆ สะสมความเข้าใจในรายละเอียดมากขึ้นๆ ตามกำลังของปัญญา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
suwit02
วันที่ 17 มี.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Nataya
วันที่ 7 ต.ค. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ก.ไก่
วันที่ 30 ส.ค. 2564

สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ