วิถีจิตตอนที่สิ้นชีวิต

 
tmangkon
วันที่  18 พ.ค. 2559
หมายเลข  27800
อ่าน  1,174

ขอเรียนถามว่า ตอนที่คนเราหมดลม วิถีจิตจะดับไปในขณะใดก็ได้ในวิถีจิต หรือจะดับลงตรงตฑาลัมพนวิถีคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 พ.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า จุติจิต หมายถึงอะไร จุติจิต หมายถึง จิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ ที่ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ เมื่อดับแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป คือ ปฏิสนธิจิตในชาติต่อไปเกิดสืบต่อทันที (สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์) จุติจิต เรียกตามกิจของจิต เพราะจิตที่กระทำจุติกิจได้ เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว มี ๑๙ ดวง ตามสมควรแก่แต่ละบุคคล คือ มหาวิบาก ๘ (ดวงใดดวงหนึ่ง)

อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑

อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑

รูปาวจรวิบาก ๕

อรูปาวจรวิบาก ๔

อย่างเช่น ผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิดนั้น ต้องเป็นมหาวิบาก ๘ ดวงหนึ่งดวงใด ที่กระทำจุติกิจในชาตินั้น และจุติจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลยกล่าวคือ จุติจิต ไม่ใช่วิถีจิต ดังนั้น จุติจิตจะเกิดในขณะที่เป็นวิถีจิต ไม่ได้ แต่ก่อนตายต้องมีวิถีจิตเกิดขึ้น มีชวนจิตเกิด ๕ ขณะ อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นจิตที่มีกำลังอ่อนมากแล้ว ก่อนที่จุติจะเกิดขึ้น และประการที่สำคัญ จุติจิต เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ไม่สามารถบังคับบัญชาหรือยับยั้งได้เลย เมื่อสิ้นสุดวิถีจิตทางตา หรือ ทางหูเป็นต้นแล้ว จุติจิตสามารถเกิดได้ หรือ สิ้นสุดวีถีจิตทางหนึ่งทางใดแล้ว ภวังคจิตเกิดจุติจิตก็สามารถเกิดต่อจากภวังคจิต ได้

จุติกิจ

หน้าที่ของจิตคือเคลื่อนจากภพ หมายถึง กิจหน้าที่อย่างหนึ่งของจิตที่ทำให้พ้น
จากความเป็นสัตว์ บุคคลนั้น ในบรรดากิจทั้งหมด ๑๔ กิจ จิตทุกดวงจะต้องมีกิจการ
งานหน้าที่ จะเกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่ทำกิจการงานไม่ได้ จุติกิจเป็นหน้าที่ของวิบาก
จิต ๑๙ ดวง คือ...

อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต ๑ ดวง ทำจุติกิจ เคลื่อนจากความเป็นสัตว์ในอบายภูมิ ๔

อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต ๑ ดวง ทำจุติกิจ เคลื่อนจากความเป็นมนุษย์ที่พิการแต่กำเนิดหรือเกิดเป็นเทวดา ชั้นจาตุมหาราชิกา

มหาวิบาก ๘ ดวง ทำจุติกิจ เคลื่อนจากความเป็นมนุษย์หรือเทวดา ในกามสุคติภูมิ ๗

มหัคคตวิบากจิต ๙ ดวง ทำจุติกิจ เคลื่อนจากความเป็นรูปพรหมบุคคลใน ๑๕ ภูมิ และอรูปพรหมบุคคลใน ๔ ภูมิ

ขอยกคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ ครับ

"จุติจิตจะเกิดหลังการสิ้นสุดวิถีหนึ่งวิถีใดย่อมได้ คือ หลังจักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว จุติจิตเกิดก็ได้ หรือ หลังจากที่จักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏดับไปหมดแล้ว แล้วภวังคจิตยังไม่เกิด จุติจิตเกิดก็ได้ หรือ จะเป็นในขณะที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงทางโสตทวาร ดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิด แล้วจุติจิตเกิดก็ได้ หรือว่าเมื่อได้ยินเสียงแล้ว โสตทวารวิถีจิตเกิดดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตยังไม่เกิด จุติจิตเกิดก็ได้ หรือว่า บางท่านในขณะนี้กำลังคิดนึกเรื่องหนึ่งเรื่องใด แล้วมโนทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว จุติจิตเกิดก็ได้

นี่แสดงให้เห็นว่า จุติจิตซึ่งกระทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ จะเกิดในขณะไหนได้ทั้งสิ้น หลังจากวิถีจิตทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ หรือหลังจากภวังคจิตก็ได้" ดังนั้น จากประเด็นคำถามที่ว่า "จุติจิต สามารถเกิดได้ทุกขณะ เช่น จิตเห็น เห็นแล้ว สิ้นชีวิต หรืออาจจะสิ้นชีวิตลงในวิถีใดวิถีหนึ่ง ใช่หรือไม่อย่างไร หรือ เกิดใน ชวนวิถีจิตหรือไม่

ก็ควรจะได้เข้าใจตั้งแต่เบื้องต้นว่า ขณะที่เห็น เป็นวิถีจิต ยังไม่ตาย จุติจิตยังไม่เกิด แต่เมื่อสิ้นสุดวิถีจิตทางตาแล้ว จุติจิต สามารถเกิดได้ จุติจิตจะไม่เกิดใน ขณะที่เป็นวิถีจิต ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

จุติจิตและปฏิสนธิจิตหมายถึงอะไร

จุติจิต

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 19 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 19 พ.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ดูเพียงอาการภายนอกไม่สามารถบอกได้ว่าตายหรือไม่ตาย เพราะถ้าจะตายจริงๆ ก็ต้องเป็นในขณะที่จุติเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากภพนั้นชาตินั้น เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น การเกิดมาในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้น สั้นมาก ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวันนั้น ก้าวไปใกล้ความตายเข้าไปทุกทีๆ ในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง พระธรรมด้วยข้ออุปมาให้เห็นถึงความเล็กน้อย ของชีวิตไว้มากมาย เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจตามความเป็นจริง เพื่อจะได้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตอันมีประมาณน้อยนี้ เช่น ชีวิตเปรียบเหมือนน้ำค้างที่อยู่บนยอดหญ้า พอพระอาทิตย์ขึ้นมา ก็เหือดแห้งไป ชีวิตมนุษย์ ก็เป็นเช่นนั้น ชีวิตเปรียบเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ที่กลับเข้าหากันเร็วไม่ตั้งอยู่นาน ชีวิตมนุษย์ ก็เป็นเช่นนั้น หรือแม้กระทั่ง อุปมาเหมือนกับการทอผ้าของช่างทอผ้า ขณะที่ทอผ้า แผ่นผ้าก็จะค่อยๆ เต็มขึ้น ส่วนที่ยังทอไม่เสร็จก็จะเหลือน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเต็มผืนในที่สุด ชีวิตชีวิตมนุษย์ ก็เป็นเช่นนั้น ซึ่งในที่สุดก็จะต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งจะต้องสิ้นสุดลงที่ความตาย ก็ควรจะแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองจากการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด ก่อนที่ความตายจะมาถึง ด้วยการไม่ประมาทในการเจริญกุศล สะสมความดี และ ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 19 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tmangkon
วันที่ 19 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
thilda
วันที่ 19 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 20 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
udompowtong
วันที่ 18 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 6 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ