องค์ประกอบแห่งการลักทรัพย์ที่เป็นอาบัติปาราชิก

 
แต้ม
วันที่  28 พ.ค. 2559
หมายเลข  27829
อ่าน  9,327

ผมได้อ่านพระวินัยปิฎก เรื่อง องค์ประกอบแห่งการลักทรัพย์ที่ต้องอาบัติปาราชิก ซึ่งมีองค์ประกอบอยู่ข้อหนึ่ง ว่า ทรัพย์นั้นผู้อื่นหวงแหน ตามความเข้าใจของผม หมายความว่า หากภิกษุนั้นลักทรัพย์ไปแล้ว เจ้าของทรัพย์นั้นยังหวงแหนอยู่ ก็ยังไม่อาบัติปาราชิก แต่ถ้าเจ้าของทรัพย์นั้นไม่หวงแหนแล้วคือ ทอดธุระไม่สนใจติดตามทรัพย์นั้นแล้ว หรือไม่คิดที่จะเอาคืนเป็นของตนเองอีกแล้ว ถึงจะเป็นอาบัติปาราชิก ผมเข้าใจถูกต้องหรือเปล่าครับ

ขอเรียนถามด้วยความเคารพครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 28 พ.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ในส่วนที่เป็นอาบัติปาราชิกข้อลักทรัพย์ มุ่งหมายถึงกรณีที่ภิกษุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย จะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม ถ้าได้ราคา ๕ มาสก [พิจารณา ๕ มาสก คือ น้ำหนักทองคำกับข้าวเปลือก ๒๐ เมล็ด หมายความว่า เอาข้าวเปลือก ๒๐ เมล็ดมาชั่ง ได้น้ำหนักเท่าไหร่ น้ำหนักทองคำเท่านั้นตีเป็นเงินออกมา] เป็นอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันทีตั้งแต่ลักขโมยเสร็จ แม้ว่าจะนำทรัพย์มาคืนในภายหลังก็ไม่สามารถทำให้กลับมาเป็นพระภิกษุได้อีก แสดงถึงเจตนาที่มีกำลังและมีโทษมากจริงๆ ไม่ดีตั้งแต่เริ่มคิด เดินไปที่จะไปลักขโมย เป็นอาบัติทุกกฏ ทุกย่างก้าว ลูบคลำสิ่งของนั้น เป็นอาบัติทุกกฏ ทำสิ่งของให้ไหว เป็นอาบัติถุลลัจจัย ถ้าทรัพย์นั้นเคลื่อนจากฐานที่ตั้ง เป็นอาบัติปาราชิก ซึ่งในอรรถกถาแสดงไว้ว่า ทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ หมายถึง เจ้าของยังไม่ได้สละให้ ยังไม่ได้สละให้ด้วยอาการทางกาย หรือ ทางวาจา และ ที่เขาหวงแหน หมายถึง ของนั้น เป็นของมีเจ้าของ ผู้นั้นยังเป็นเจ้าของในสิ่งของสิ่งนั้น ยังครอบครองถือเป็นกรรมสิทธิ์ในสิ่งนั้น

จากประเด็นคำถาม คงจะต้องพิจารณาแล้วพิจารณาอีกว่าตรงตามพระธรรมวินัยหรือไม่ เพราะเหตุว่า เมื่อใดก็ตามถ้าภิกษุมีจิตคิดจะลักในสิ่งของที่ผู้อื่นหวงแหน คือ เป็นสิ่งของที่มีเจ้าของ ถ้าได้ราคา ๕ มาสก เป็นอาบัติปาราชิก ทันที ถึงแม้ว่าในภายหลังเจ้าของทรัพย์นั้น จะทอดธุระ ไม่สนใจแล้วก็ตาม แสดงถึงความละเอียดของจิตใจที่ไม่ดีจริงๆ มีกำลังถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรมในข้อลักทรัพย์ของผู้อื่น

ข้อความจากพระวินัยปิฎก มีว่า

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๓๐

อาการ ๕ อย่าง

[๑๒๒] ปาราชิกอาบัติ พึงมีแก่ภิกษุผู้ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการ ๕ อย่าง คือ

ทรัพย์อันผู้อื่นหวงแหน

มีความสำคัญว่าทรัพย์อันผู้อื่นหวงแหน

ทรัพย์มีค่ามากได้ราคา ๕ มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสก

ไถยจิต (จิตคิดจะลัก) ปรากฏขึ้น

ภิกษุลูบคลำ ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ให้เคลื่อนจากฐาน ต้องอาบัติปาราชิก ๑.

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 29 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ