อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ
เรียนถามว่า "อโรคยา ปรมาลาภา" ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ที่ได้ยินบ่อยๆ เป็นพุทธพจน์หรือไม่
หากใช่ ร่างกายหิวก็ถือเป็นโรคอย่างหนึ่ง แสดงว่า ลาภอันประเสริฐนั้นก็คือ นัยสภาวะจิตที่เป็นบัณฑระใช่หรือไม่ เพราะไม่มีกิเลสในจิต จึงไม่เป็นโรค ถือเป็นลาภอันประเสริฐ
หากไม่ใช่ แสดงว่าการเกิดและการยึดถือในสังขารธรรม (ร่างกายแข็งแรง) นั้นเป็นทุกข์ ตรงตามคำสอน
ขอคำชี้แนะด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 496
[๒๘๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง บรรดาทางทั้งหลายอันให้ถึงอมตธรรม ทางมีองค์แปดเป็นทางอันเกษม
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม โดยนัยเบื้องต้น จนถึงสูงสุด เพราะฉะนั้น ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง เป็นพระพุทธพจน์ แต่ ปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ เอามาใช้กัน ก็เข้าใจเพียงโรคร่างกาย แต่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครอบคลุมทุกส่วน ทั้งการไม่มีโรค คือ โรคทางกาย เป็นสิ่งที่ดีประเสริฐ เพราะ การไม่มีโรคทางกาย ก็สามารถที่จะนำมาซึ่งสิ่งที่ดี ไม่ต้องเสียทรัพย์และอื่นๆ เพราะการมีโรคทางกาย และ มุ่งหมายถึง การไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นด้วย ย่อมนำมาซึ่ง ลาภ คือ ธรรมฝ่ายดี คือ กุศลธรรม ศรัทธา ปัญญา เป็นต้น และ ธรรมทุกอย่างเป็นทุกข์ เพราะเกิดขึ้นและดับไป ยกเว้นพระนิพพาน ที่เป็นสุข ครับ
ส่วนใหญ่แล้ว ก็มักจะคิดถึงโรคทางกาย แต่ก็ยังมีโรคอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ยากและรักษาได้ยาก นั่นก็คือ โรคทางใจ คือ กิเลสที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งเป็นเครื่องเสียดแทงจิตใจ ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ตราบใดที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่พ้นไปจากโรคทางใจ การที่จะรักษาโรคทางใจ ย่อมยากกว่าโรคทางกาย ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการสะสมปัญญาและความดีประการต่างๆ ที่จะค่อยๆ รักษาโรคทางใจไปทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะเป็นผู้ไม่มีโรคทางใจ คือ กิเลส อีกเลย เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่ต้องมีการเกิดอีก ไม่ต้องมีทั้งโรคทางกายและโรคทางใจ อีกต่อไป ครับ.
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้ โรค ๒ อย่าง เป็นไฉน? คือ โรคกาย ๑ โรคใจ ๑ ปรากฏอยู่ว่า สัตว์ทั้งหลาย ผู้ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกายตลอด เวลา ๑ ปีก็มี ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกายตลอดเวลา ๒ ปีก็มี ๓ ปีก็มี ๔ ปีก็มี ๕ ปีก็มี ๑๐ ปีก็มี ๒๐ ปีก็มี ๓๐ ปีก็มี ๔๐ ปีก็มี ๕๐ ปีก็มี ๑๐๐ ปีก็มี ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีก็มี แต่ว่าผู้ที่จะยืนยันว่า ไม่มีโรคทางใจแม้เพียงเวลาครู่เดียวนั้น หาได้ยากในโลก เว้นแต่พระขีณาสพ (พระอรหันต์) ”
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต โรคสูตร)
โรค หมายถึง สภาพที่เสียดแทง โรคทางกาย เสียดแทงกายให้ได้รับความเจ็บปวด ทรมาน แต่โรคทางใจ คือ กิเลส เป็นสภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง ย่อมเสียดแทงจิตใจของสัตว์ทั้งหลายให้เร่าร้อน และไม่ให้ออกไปจากวัฏฏะ
โรคที่สำคัญกว่าโรคทางกาย ก็คือโรคทางใจ (โรคทางใจ หมายถึง กิเลสที่เสียดแทงใจ) ซึ่งบางคนอาจจะไม่ได้พิจารณาเลยว่า โรคทางใจของตนเองมีอะไรบ้าง ซึ่งมีมากเหลือเกิน ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่พร้อมจะเกิดขึ้นเสียดแทงใจให้เร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา และเมื่อไม่ได้สังเกต ไม่ได้สำรวจ ไม่ได้พิจารณาก็ย่อมจะไม่ได้เห็นโทษของโรคทางใจนั้น เพราะโรคทางใจเป็นโรคที่เห็นได้ยาก เพราะฉะนั้นการที่จะรักษาโรคทางใจ ก็จะต้องรักษายากกว่าโรคทางกาย และจะต้องใช้เวลานานในการเจริญกุศล ซึ่งเป็นยาที่จะรักษาอกุศลซึ่งเป็นโรคทางใจ ซึ่งถ้าผู้ใดพิจารณาเห็นอกุศลธรรมที่ตนมีตามความเป็นจริง แล้วก็รีบแก้ไข คือ พิจารณาเห็นโทษ ก็คงจะดีกว่าการที่จะปล่อยให้โรคนั้นกำเริบหรือว่าทรุดหนัก จนกระทั่งถึงกับเป็นอัมพาตทางใจ คือ ไม่ยอมที่จะขัดเกลากิเลสเลย ถ้าอกุศลมากมายเพิ่มพูนเหนียวแน่นถึงอย่างนั้นก็ยากที่จะแก้ไขได้ เพราะไม่ยอมแม้แต่คิดที่จะขัดเกลากิเลสของตนเองเลย แล้วกิเลสจะน้อยลงได้อย่างไร?
เพราะฉะนั้น ขอให้พิจารณาตนเองเพื่อประโยชน์ว่า การที่แต่ละบุคคลจะมีพระธรรมเป็นที่พึ่งอย่างมั่นคง ก็จะต้องเจริญกุศลเพื่อขัดเกลาอกุศลไปเรื่อยๆ จึงควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ เพื่อรักษาโรคทางใจคือกิเลส ด้วยความเข้าใจพระธรรมอย่างถูกต้อง จนกว่าจะเป็นผู้ไม่มีโรคทางใจ คือ กิเลส อีกเลย เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ นั่นแหละ คือ ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง ที่แท้จริง ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...