จิตโพล่งออกมาเอง แบบไม่ต้องสงสัย
มีอยู่วันหนึ่ง ขณะเดินจูงมือหลาน หลานเอามือโดนแก้วกาแฟที่อยู่มุมโต๊ะ เห็นแก้วกาแฟตกลงพื้นแบบช้าๆ เมื่อแก้วกาแฟตกถึงพื้นแก้วแตก เสียงดังเหมือนเสียงฟ้าผ่าดังเปรี้ยง สะท้อนเข้ามาในใจ จิตโพล่งออกมาเองว่า อ้อ... หายสงสัยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เลยทีเดียว ยกมือขึ้นกราบพระพุทธรูป ภาพพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อ วันเสาร์ที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๖ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๒ หลังจากนั้นไม่นานก็ได้มีโอกาสอธิษฐานยกช้างที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน โดยยกครั้งแรก " พระธรรมใดของพระพุทธเจ้าถ้ากระผมจะได้เห็นในชาตินี้ ขอให้ยกช้างขึ้น" ผลปรากฏว่า ยกช้างขึ้น แล้วก็วางช้างลง แล้วอธิษฐานใหม่ว่า " พระธรรมใดของพระพุทธเจ้าถ้ากระผมจะได้เห็นในชาตินี้ ขอให้ยกช้างไม่ขึ้น" ผลปรากฏว่า ยกช้างไม่ขึ้น (เหมือนยักษ์มาเหยียบไว้) ส่วนครั้งที่ ๒ ที่วัดพระเจ้านั่งดิน จ.พะเยา ก็อธิษฐานเหมือนเดิม ผลปรากฏว่า เหมือนครั้งแรก (ถ้ามีโอกาสก็ลองอธิษฐานดูกันนะครับ)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
วิจิกิจฉา มีลักษณะที่สงสัย ลังเลใจ ตัดสินใจไม่ได้ในเรื่องของสภาพธรรม มีความคิดเห็นเป็น ๒ อย่าง อุปมาเหมือนทาง ๒ แพร่ง เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีคุณจริงหรือไม่ นรก สวรรค์ ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ บาปบุญมีจริงหรือไม่ และผลของบาปบุญให้ผลได้จริงหรือไม่ วิจิกิจฉาเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตประเภทโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์เพียงดวงเดียวเท่านั้น
วิจิกิจฉา โดยทั่วไป จึงมุ่งหมายถึง ความลังเลสงสัย ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ในสิกขา สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีต สงสัยในขันธ์ที่เป็นอนาคต สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีตและอนาคต สงสัยในปฏิจจสมุปบาท ดังนั้นจึงมุ่งหมายถึง ความลังเลสงสัยในเรื่องสภาพธรรมด้วยเป็นสำคัญ แต่ถ้าสงสัยในเรื่องทั่วๆ ไป เช่น เรื่องราวทางโลกที่ไม่เกี่ยวกับสภาพธรรม เช่น สงสัยว่า 4 บวก 5 เป็นเท่าไหร่ ความสงสัยนี้ไม่ใช่วิจิกิจฉาครับ เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...วิจิกิจฉา ๘ อย่าง
ซึ่งผู้ที่จะละ ความลังเลสงสัยจนหมดสิ้น คือ พระโสดาบัน แต่ก่อนจะถึงความเป็นพระโสดาบัน ก็อาศัยพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และปัญญาที่เจริญขึ้น ก็ค่อยๆ ละ ความลังเล สงสัยได้ ทีละเล็กละน้อย
ก่อนอื่นก็เข้าใจ คำว่า อธิษฐานในพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องก่อนครับ
ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ตรง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น คำว่า อธิษฐานในภาษาไทยที่เข้าใจกันนั้น หมายถึง การขอ แต่ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว หมายถึง ความตั้งใจมั่น ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหว ในการที่จะสะสมคุณความดีประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศลธรรมด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจากการฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของกุศลทั้งหมด และเป็นไปในการสละกิเลสทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศลทั้งนั้น ถูกอกุศลกลุ้มรุมจิตใจอยู่เกือบจะตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่มีความตั้งใจมั่น ก็เป็นผู้ที่รู้ตัวว่ามีกิเลสมาก มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องอาศัยความตั้งใจมั่นจริงๆ ในการเจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลส มิฉะนั้นแล้วก็พลาดให้กับอกุศลทุกที อธิษฐาน ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล จึงเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดขึ้นและสำเร็จได้ เป็นบารมี (ความดี) ที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเป็นขออยากได้ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดนั้น เป็นอกุศลจิต ที่ประกอบด้วยโลภะ ความติดข้องต้องการ ไม่ใช่อธิษฐานในพระพุทธศาสนา ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งต้นที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจ เพราะพระธรรมละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง แต่ละคำๆ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลย, กล่าวได้เลยว่า แต่ละคน ทำอะไรด้วยความไม่รู้ มามาก พูดคำที่ไม่รู้จักอีกมาก ด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นโอกาสที่สำคัญที่ผู้สะสมเหตุที่ดีมา จะได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง หนทางที่จะทำให้เข้าใจธรรม ไม่ใช่การไปทำอย่างอื่น แต่ต้องฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ด้วยความเคารพ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กระจ่างแจ้งในครับตอบดีครับต้องฟังก่อนแล้วจึงเข้าใจนะครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
กรณีตามข้างต้นไม่ทราบจะเกี่ยวไหม แต่การเห็นภาพช้ากว่าปกติมีผู้ที่มีประสบการณ์แบบนี้หลายคนเมื่อกำลังจะเกิดอุบัติเหตุโดยที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเจริญสติในทางพระพุทธศาสนาเลยและอธิบายได้ในทางวิทยาศาสตร์ค่ะ ลองค้นคำว่า "การเห็นภาพช้ากว่าปกติ", "Slow motion perception" ใน Google ดูค่ะ