บ่นเพ้อ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ลักษณะอาการของการบ่นเพ้อธรรม เป็นอย่างไร คือ กล่าวธรรมโดยไม่รู้จักหรือประจักษ์ลักษณะสภาพธรรม ใช่หรือไม่ กรุณา ยกข้อความในพระไตรปิฏก และ คำอธิบายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ให้ด้วยค่ะ มี ที่ท่านอาจารย์ กล่าวว่า "อย่าพูดคำที่ไม่รู้จัก" หรือไม่คะ ถ้ามี อย่างนั้น ผู้ที่ร่วมสนทนาธรรม ที่ไม่รู้จักลักษณะสภาพธรรม ก็ไม่ควรสนทนาอะไร พูดไป ก็เข้าข่าย "บ่นเพ้อ" ใช่ไหมคะ จึง ควรฟังอย่างเดียว จนกว่า"รู้จัก" จึงพูด ใช่หรือไม่คะ
ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ไม่ผิด ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ใช่เพื่อจำชื่อ จำพยัญชนะ จำเรื่องราวต่างๆ แต่เพื่อเข้าใจถูกเห็นถูก ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง และก่อนการฟังพระธรรม ก็พูดคำที่ไม่รู้จักมากมาย แต่พอได้ฟังพระธรรม ก็ได้ค่อยๆ เข้าใจในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อาศัยคำแต่ละคำเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก
ซึ่งจะต้องเริ่มต้นด้วยความตั้งใจที่จะศึกษา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ ถ้ามีความตั้งใจจริงๆ เห็นประโยชน์จริงๆ ไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการศึกษาความรู้ความเข้าใจ ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นอย่างแน่นอน การศึกษาธรรม ก็คือ ศึกษาสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยรู้เลยว่า เป็นธรรม ทุกขณะเป็นธรรมจริงๆ ไม่พ้นไปจากนามธรรม กับ รูปธรรม ไม่พ้นไปจากจิตเจตสิก รูป เลย ฟังส่วนไหน ศึกษาส่วนไหน ก็ค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย การฟังบ่อยๆ เนืองๆ จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น ทำให้มีความมั่นคงในเหตุในผลของธรรม จนกว่าจะประจักษ์แจ้งได้จริงๆ ว่า ธรรม เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความจากพระไตรปิฎกได้ที่นี่ครับ
ข้อความจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ในประเด็นบ่นเพ้อธรรม เป็นประโยชน์มาก ดังนี้
"ขอกล่าวถึงคำว่า บ่นเพ้อ ก่อน ก่อนที่จะถึงธรรม เพราะเราก็ทราบอยู่แล้วว่าธรรมก็คือสิ่งที่มีจริงๆ ธรรมดาบ่นกันบ้างหรือเปล่า เรื่องนิดเดียว บ่นยาว บางคนครึ่งวันยังไม่จบ บางคนต่ออีกวันรุ่งขึ้น ซ้ำซากคนฟังเรื่องเดียวกันนั่นแหละ พูดทำไม บ่นทำไม มีประโยชน์หรือเปล่า นี้คือ บ่น แล้วก็เพ้อ อย่างคนที่ไม่รู้สึกตัว ป่วยหนัก เราเข้าใจคำนี้เลย เพ้อแล้วพูดอะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น แต่ละคนพูด รู้ตัวหรือเปล่า ว่ากำลังพูดอะไร?
จิต ละเอียดมาก มีทั้งกุศลจิต และ อกุศลจิต วาจาเกิดจากจิต ถ้าไม่มีจิต พูดไม่ได้ และขณะนี้เหมือนกับว่าไม่ได้มีความคิดใดๆ เลย แต่สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เสียงที่ได้ยินต้องมาจากจิตที่คิด แล้วแต่ว่าจิตนั้นคิดอะไรก็พูดเนื้อความของเสียงตรงกับความคิด เพราะฉะนั้นขณะนี้มีรูปที่ทำให้เกิดเสียง เพราะจิตเกิดขึ้นก็ไม่รู้ และเสียงขณะนี้บางเสียงเกิดขึ้นเพราะจิต บางเสียงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะจิต อย่างเสียงภายนอกไม่ได้เกิดขึ้นเพราะจิต ถึงแม้ในร่างกาย เสียงที่เกิดเพราะจิต คือขณะที่กำลังพูดก็มี เสียงที่ไม่ได้เกิดจากจิตก็มี เพราะฉะนั้น แม้แต่แต่ละคำพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงความจริงไว้ ละเอียดยิ่งเพื่อให้เห็นว่าเป็นธรรมจริงๆ แต่ละหนึ่ง
ก่อนฟังธรรมก็เพ้อกันไปด้วยการไม่รู้สึกตัวเลย เรื่องที่พูด ควรพูดไหม พูดแล้วมีประโยชน์ไหม แล้วพูดทำไม ขณะที่เป็นอกุศลจิตแล้วก็ไม่รู้สึกตัวแล้วแต่ว่าพูดเรื่องอะไร ถ้าพูดอย่างขาดสติกำลังป่วยหนัก นั่น เพ้อแน่ ทุกคนรู้ แต่ถึงไม่ป่วยหนักทางกาย ใจป่วยไหม เพราะว่ามีสองอย่าง กายป่วยกับใจป่วย กายป่วยรู้จักกันล่ะ เช่น ปวดหัวตัวร้อนเป็นไข้ต่างๆ นานา แต่ใจป่วยรู้หรือเปล่า เมื่อไหร่ กำลังป่วยก็ไม่รู้ ขณะใดก็ตามที่มีอกุศล ใจป่วยแล้ว บางคนเจ็บหนัก ใจหนักมาก เจ็บมาก เดือดร้อนมาก ป่วยก็ไม่รู้ ว่า ขณะนั้นโรคโทสะ หรือว่าโรคโลภะ และโรคโมหะนี้แน่ๆ อยู่แล้ว มีกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นชีวิตวันหนึ่งๆ ไม่รู้สึกตัวเลย ถ้าไม่ได้ฟังคำสอน ไม่รู้สภาพของจิตแต่ละขณะ แม้แต่แต่ละคำที่พูดก็ไม่รู้ว่าขณะนั้น อะไรเป็นปัจจัยให้พูดคำนั้นออกไป
ด้วยเหตุนี้ ถ้าคำนั้นเป็นคำที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลยทั้งสิ้น แล้วก็พูดมากๆ พร่ำเพ้อ เราก็บอกว่าคนนั้นเพ้อ พร่ำเพ้ออยู่ได้ ไม่ว่าจะด้วยโลภะ เพ้อได้ไหม พร่ำเพ้อออกมาอาจจะเป็นบทกลอน เป็นเพลง เป็นอะไรสารพัดที่จะเพ้อไป ก็ได้ ถ้าเป็นโทสะก็เพ้ออีกเหมือนกัน แรงด้วย มีแต่คำที่ไม่น่าฟัง ทั้งหมดก็มาจากอกุศลจิตซึ่งมีโมหเจตสิก สภาพที่ไม่สามารถเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ได้เลย ตรงกันข้ามกับปัญญาหรือวิชชา เพราะฉะนั้นสำหรับโมหะ ความไม่รู้ มีอีกคำหนึ่งคือ อวิชชา และสำหรับธรรมที่ตรงกันข้ามที่สามารถรู้และเข้าใจความจริงได้คือ วิชชา เพราะฉะนั้นเพียงเท่านี้ พอจะเห็นได้ไหมว่า คนพูดมาก พูดอะไร เพ้อหรือเปล่า? แต่ถ้ากล่าวธรรมมาก แล้วมีประโยชน์ เพ้อหรือเปล่า (ไม่เพ้อ) ตรงกันข้ามแล้ว แม้แต่คำว่าเพ้อ ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง สิ่งที่ไร้สาระไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะฉะนั้นเวลาเพ้อเรื่องอื่นมาหมดแล้ว
ตอนนี้ มาศึกษาธรรม เปลี่ยนเรื่องเพ้อแล้ว แต่ยังเพ้อได้เมื่อไม่ได้เข้าใจสิ่งที่พูด แต่ว่าก็พูดได้หมด มีผู้ศึกษาธรรมอย่างเป็นตำราเช่น พระอภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท หรือที่พม่าเองทราบว่า ท่องพระไตรปิฎกได้ น่าแปลกไหม ท่องได้ เราท่องได้ไหม (ไม่ได้) ไม่ได้ก็ไม่ต้องท่อง เข้าใจดีกว่า ท่องทำไมถ้าไม่เข้าใจ ใครก็ตามที่ไม่ได้เข้าใจ พูดไป เพ้อหรือเปล่า? เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจแล้ว ก็คงรู้ว่า วันหนึ่งๆ เพ้อธรรมหรือเข้าใจคำที่พูด?"
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...