อวิชชาสูตร - โพชฌงค์ ๗ เป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ - ๑๐ ก.พ. ๒๕๕๐

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 ก.พ. 2550
หมายเลข  2796
อ่าน  2,573

ทุกวันเสาร์

ขอเชิญร่วมรายการ

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๐ กพ ๒๕๕๐

เวลา ๐๙:๐๐-๑๒:๐๐น.

อวิชชาสูตร

ว่าด้วยโพชฌงค์ ๗ เป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 197

นำการสนทนาโดย

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

และคณะวิทยากร

ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไป


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ก.พ. 2550

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 197

ยมกวรรคที่ ๒

๑. อวิชชาสูตร

ว่าด้วยโพชฌงค์ ๗ เป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ

[๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่ปรากฏ ในกาลก่อน แต่นี้ อวิชชาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าว คำนี้อย่างนี้ว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น อวิชชามีข้อนี้เป็นปัจจัยจึงปรากฏ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวอวิชชาว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของอวิชชา ควรจะกล่าวว่านิวรณ์ ๕ แม้นิวรณ์ ๕ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของนิวรณ์ ๕ ควรกล่าวว่า ทุจริต ๓ แม้ทุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่า ไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของทุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การไม่สำรวมอินทรีย์ แม้การไม่สำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารแห่งการไม่สำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่าความไม่มีสติสัมปชัญญะ แม้ความไม่มีสติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย แม้การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหาร ของการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ควรกล่าวว่าความไม่มีศรัทธา แม้ความไม่มีศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไร เป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา ควรกล่าวว่า ก็ไม่ฟังสัทธรรม แม้การไม่ฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการไม่ฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การไม่คบสัปบุรุษ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังความ ไม่มีศรัทธาให้บริบูรณ์ ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ใน ใจโดยไม่แยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่ บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การไม่สำรวมอินทรีย์ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังนิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์ นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์ อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบน ภูเขา เมื่อฝนตกหนักๆ อยู่ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธาร และห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธาร และห้วยที่เต็ม ย่อมยังหนองให้เต็ม หนองที่เต็มย่อมยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็มย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็มย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็มย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนั้น มีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยม อย่างนี้ แม้ฉันใด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ ... นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยัง อวิชชาให้บริบูรณ์ อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้น เหมือนกันแล

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าววิชชาและวิมุตติว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ ควรกล่าวว่า โพชฌงค์ ๗ แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็ควรกล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของโพชฌงค์ ๗ ควรกล่าวว่า สติปัฏฐาน ๔ แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไร เป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔ ควรกล่าวว่า สุจริต ๓ แม้สุจริต ๓ เรา ก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การสำรวมอินทรีย์ แม้การสำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่า สติสัมปชัญญะ แม้สติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่า มีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย แม้การทำไว้ในใจโดยแยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ควรกล่าวว่าศรัทธา แม้ศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่าการฟังสัทธรรม แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การคบสัปบุรุษ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดย แยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้ มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขา เมื่อฝนตกหนักๆ อยู่ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธาร และห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธาร และห้วยที่เต็ม ย่อมยังหนองให้เต็ม หนองที่เต็มย่อมยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็มย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็ม ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็ม ย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนั้นมีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้ แม้ฉันใด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล

จบ อวิชชาสูตรที่ ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ก.พ. 2550

ยมกวรรคที่ ๒

อรรถกถาอวิชชาสูตรที่ ๑

วรรคที่ ๒

อวิชชาสูตรที่ ๑ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า สาหาร ได้แก่ มีปัจจัย

บทว่า วิชฺชาวิมุตฺตึ ได้แก่ ผลญาณ และสัมปยุตธรรมที่เหลือ

บทว่า โพชฺฌงฺคา ได้แก่ องค์แห่งปัญญา เครื่องตรัสรู้คือมรรค

จบ อรรถกถาอวิชชาสูตรที่ ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 7 ก.พ. 2550
อนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 8 ก.พ. 2550

ความเข้าใจว่า การกระทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ การพิจารณาสภาพธรรมะตามความเป็นจริงจนเป็นสติปัฎฐาน ... ขณะที่มีสติปัฎฐานจึงถือว่ามีสติสัมปชัญญะ ใช่หรือไม่คะ กรุณาอธิบายด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 8 ก.พ. 2550

ทุกอย่างต้องอาศัยเหตุปัจจัยให้เกิด เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมหรือบริบูรณ์ สภาพธัมมะนั้นก็เกิด เช่น จักขุวิญญาณ (การเห็น) ต้องอาศัยจักขุปสาทรูป (ตา) รูป แสง การประชุมพร้อมกัน จนเกิดจักขุวิญญาณ ฉันใด แม้สติปัฎฐานจะเกิดก็ต้องอาศัยเหตุ สุจริต 3 บริบูรณ์ ก็ยังให้สติปัฎฐานเกิดบริบูรณ์นั่นเอง แต่ที่สำคัญสภาพธัมมะเขาเกิดพร้อมกัน เช่น เจตสิกที่เกิดกับจิตไม่ได้เกิดด่วงเดียว แต่เกิดหลายดวง ดังนั้น แม้สติปัฎฐานเกิด ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมาก ซึ่งต้องมี มนสิการเจตสิกที่เป็นฝ่ายกุศลจึงเป็นโยนิโสมนสิการเจตสิก (การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย) นั่นเอง และก็มีสติเจตสิกเกิดด้วยเสมอ (เพราะสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับธรรมฝ่ายดีทุกครั้ง) และมีปัญญาเจตสิก (สัมปชัญญะ) ต้องเป็นกุศลขั้นสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาจึงเรียกว่า สัมปชัญญะ สรุปก็คือ มีสติเจตสิกและสัมปชัญญะ (ปัญญาเจตสิก) เกิดร่วมด้วย รวมทั้งโยนิโสมนสิการด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Anutta
วันที่ 8 ก.พ. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ จะรอฟังการสนทนานะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ