อกุศลกรรม
ขอเรียนถามว่า
1. พยาบาท หรือ อภิชฌาที่เป็นแค่ความคิด แต่ยังไม่ได้ล่วงไปทางกาย วาจา เป็นอกุศลกรรมอย่างไรคะ เคยฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์เรื่องอทินนาทาน ว่าถ้าคิดไปทั้งวันว่าไฉนหนอ ทรัพย์นั้นจะเป็นของเรา แต่ไม่ได้ทำอะไรเลย ก็ไม่ผิดศีล
2. กรณีที่มีคนทำไม่ดีกับเรา แล้วเรามีความคิดแช่งให้เขารับผลของกรรม อันนี้เป็นพยาบาทมั้ยคะ
ขอบคุณค่ะ
ขอเชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ดังนี้ ครับ
มโนกรรมไม่ใช่เพียงแค่คิดในใจ
เรื่องของมโนกรรม ไม่ใช่เพียงอยู่เพียงใจ คิดไปเถอะค่ะทั้งวันทั้งคืน แต่ไม่ได้กระทำกรรมตามที่คิดก็ไม่สำเร็จ เช่นอยากจะได้ของคนอื่น แล้วก็นึกไปอยากจะได้ของของเขา จะเป็นการได้ของบุคคลอื่นมาได้อย่างไร นั่งคิดไปๆ ไม่มีวันที่ของคนอื่นจะมาเป็นของท่านได้สำหรับผู้ที่คิดอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการล่วงออกไปทางกาย หรือ ทางวาจา แต่ว่าสำหรับการกระทำทางกายที่ไม่เป็นมโนกรรม มี เป็นแต่เพียงกายกรรม เช่น เวลาที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอาจจะเป็นของที่ไม่ทราบว่าเจ้าของอยู่ที่ไหน และก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่เล็กน้อย และไม่ได้คิดมาก่อนด้วยว่า ต้องการของสิ่งนี้ แต่เมื่อผ่านไปเห็นเข้า เช่น ดอกไม้ในสวน หรืออะไรก็ตามแต่ ของในป่าหรืออะไรอย่างนั้น แล้วก็คิดว่าต้องการของสิ่งนั้น แล้วก็เด็ดไปถือไปจะเป็นผลไม้ หรือดอกไม้ก็ตาม ถ้ามีผลไม้ที่หล่นอยู่ใต้ต้น เมื่อมีความอยากได้ ก็เก็บเอาไป ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม แต่ไม่เป็นมโนกรรม
เพราะฉะนั้น กายกรรมไม่เป็นมโนกรรม วจีกรรมไม่เป็นมโนกรรม ที่แสดงเรื่องของกรรม ๓ ก็เพื่อที่จะแยกให้เห็นว่า กายกรรมไม่ใช่มโนกรรม วจีกรรมไม่ใช่มโนกรรม แต่สำหรับมโนกรรมที่เป็นมโนกรรมโดยคิดอยู่ในใจเฉยๆ ไม่ได้ล่วงไปทางกายทางวาจานั้นไม่สามารถจะสำเร็จลงไปได้ แต่ว่าต่างกับกายกรรมและวจีกรรม โดยที่ว่ามโนกรรมมีความตั้งใจเกิดขึ้นทางใจก่อน จึงจัดเป็นมโนกรรม
ถ้าโกรธคนหนึ่งแล้วก็คิดที่จะฆ่าคนนั้น แล้วก็จ้างคนอื่นไปฆ่าคนนั้น ขณะนั้นการฆ่าที่สำเร็จลงไปเป็นมโนกรรม แม้ว่าเป็นปาณาติบาตซึ่งเป็นข้อของกายกรรมก็จริง แต่กรรมนั้นสำเร็จลง เพราะมโนกรรม ไม่ใช่เพียงกายกรรม แต่ถ้าโกรธระงับไม่อยู่เลย เกิดประทุษร้ายคนนั้น แล้วคนนั้นตาย ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม ซึ่งไม่มีความผูกพยาบาทคิดมาก่อนเลยว่าต้องการที่จะฆ่าคนนั้น แต่เกิดบันดาลโทสะ หรือป้องกันตัว หรืออะไรก็ตามแต่ซึ่งทำให้บุคคลนั้นตายไป ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม ซึ่งไม่ใช่มโนกรรม
เพราะฉะนั้น องค์ของมโนกรรมก็ดี หรือองค์ของกายกรรม วจีกรรมก็ดี เป็นการแสดงให้เห็นว่า ผลที่เกิดขึ้นจากกาย จากวาจานั้นๆ เป็นกายกรรม หรือว่า เป็นมโนกรรม
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
2.พระโสดาบัน ยังไม่ได้ละโทสะ แต่ ต้องเข้าใจว่า แม้ยังไม่ได้ละ แต่กิเลสของท่านก็เบาบาง ต่างจากของปุถุชนอย่างมากมาย เพราะฉะนั้น ความโกรธของท่าน ไม่มีแม้จิตคิดจะฆ่า พยาบาทใคร หากแต่ความโกรธยังมีเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา ครับ ซึ่งมีกำลังน้อยกว่า ปุถุชน ครับ ซึ่งท่านอาจารย์สุจินต์อธิบายในประเด็นนี้ดังนี้ ครับ
ธิ. คุณธิดารัตน์ครับ ถ้าเป็นพยาปาทที่มีกำลังน้อยจะมีลักษณะอย่างไร อย่างพระโสดาบันท่านก็ไม่มีจิตที่คิดจะฆ่าหรือทำร้ายถึงขนาดที่จะล่วงอกุศลกรรมบถ แต่ว่าพยาปาทที่เป็นมโนกรรมจะมีอยู่อย่างไรบ้าง
ธิ. ที่เราโกรธ เรียกว่าโทสะ คือแสดงออกไปเลย แต่หลังจากนั้นมีการคิดถึงเรื่องนั้นและก็ยังไม่พอใจบุคคลนั้นอยู่ก็เรียกว่าเริ่มที่จะเป็นพยาปาท แต่ถ้าเริ่มที่จะมีกำลังมากๆ คิดที่จะปองร้ายเขา และถ้ามีการล่วงออกมามากกว่านั้นอีก มีการกระทำ เช่นคิดจะไปว่าเขา เมื่อใดที่มีการเบียดเบียนเขาด้วยวาจาจริงๆ ตรงนั้นก็เรียกว่าสำเร็จแล้วเป็นพยาปาททางมโนกรรม และก็ล่วงทางวจี แต่ถ้ามีการคิดปองร้ายเขา แต่ไม่ได้ล่วงทางวาจาต่างๆ ก็เป็นเพียงแค่ความคิดอยู่ ท่านอาจารย์คะ ไม่ได้ล่วงทางกายวาจาจะเป็นการสำเร็จเป็นกรรมไหม ถ้าเพียงแค่คิด
สุ. ก็มีองค์ของอกุศลกรรมบถทั้งหมดว่าเป็นกรรมประเภทไหน
ธิ. พยาปาท ถ้าพูดถึงตามองค์ก็จะมีแค่องค์ ๒ เท่านั้นเอง
สุ. องค์ ๒ เกิดแล้วใช่ไหม และทำอะไรหรือเปล่า
ธิ. ก็ยังไม่ได้ทำ
สุ. ก็แสดงให้เห็นว่าองค์ ๒ ก็จะทำให้เราสามารถที่จะรู้ว่ากรรมนั้นเป็นกายกรรมหรือว่าเป็นมโนกรรม
ผู้ถาม พยาปาทกับผูกโกรธและปริยุทถานุสัย จะเรียนถามท่านอาจารย์ กิเลสทั้งสามขั้นตอน
สุ. ชื่อนี่ ให้ทราบเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับเราหรือว่าต้องการจะเรียกชื่อ อย่างเวลาที่เกิดขุ่นใจ เอ๊ะนี่ชื่ออะไรนะ ชื่อปฏิฆะ หรือว่าชื่อโทสะ หรือว่าเป็นพยาปาท และยังมีชื่ออื่นอีก วิหิงสาหรือเปล่า ก็เป็นการที่พยายามจะคิดถึงชื่อ จริงๆ แล้วแม้แต่ลักษณะของโทสะมี เรารู้หรือเปล่า เรารู้เพียงชื่อหรือว่าเรารู้ลักษณะ โดยที่ว่าไม่คำนึงถึงชื่อเลย ถ้าลักษณะที่ขุ่นใจไม่สบายใจเกิดขึ้น เรารู้แล้วว่าถ้าจะคิดถึงเวทนาๆ ขณะนั้นตรงข้ามกับโสมนัสหรืออุเบกขา แต่ว่าเป็นความไม่สบายใจเลย เพราะเหตุว่าในขณะนั้นมีความขุ่นใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม ถ้าเราโกรธมากกว่านั้นอีก เราจะนึกถึงชื่อไหมว่าเปลี่ยนชื่อหรือยัง จากโทสะมาเป็นพยาปาทหรือยัง หรือรู้ว่าลักษณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นลักษณะอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นใดๆ ก็ตามที่ลักษณะที่ประกอบด้วยความรู้สึกที่ไม่สบายใจทั้งหมด พอกลัว เอ๊ะ นี่อะไร จะชื่อปฏิฆะหรือว่าจะชื่อโทสะ หรือว่าจะชื่อพยาปาท ไม่สำคัญเลย เพราะเหตุว่าเรามัวกังวลหรือว่าคิดถึงเรื่องชื่อ แต่การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมลืมไม่ได้เลยในสัมัยก่อนโน้น ๒๕๐๐ กว่าปี ผู้ฟังเข้าใจ เพราะเหตุว่ามีลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏ ไม่ว่าจะใช้ชื่อใด จะใช้ว่าปฏิฆะ พยาปาท วิหิงสา ก็คือลักษณะของโทสะ ถ้าเป็นอย่างนี้ ขณะที่โทสะกำลังเกิด มีลักษณะที่จะให้รู้ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่เรา ลักษณะนั้นต่างกับลักษณะอื่น เพราะฉะนั้นก็เป็นเพียงสภาพธรรมลักษณะหนึ่งเท่านั้น ที่กว่าเราจะคุ้นเคยว่าไม่ใช่เราเพราะเป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นจะไม่มีชื่อ เพราะว่าเราคุ้นกับชื่อกับคิดเรื่องชื่อ แต่ว่าเราไม่ได้คุ้นกับลักษณะ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เราก็สามารถจะรู้ความต่างว่าการศึกษาธรรมเพื่อเข้าถึงลักษณะธรรมที่เป็นอนัตตา ที่ไม่ใช่เรา เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีก็คงมีผู้ที่ได้ไปเฝ้าและได้ฟังพระธรรม แต่ความเข้าใจลักษณะของธรรมจะมีมากน้อยแค่ไหน จะติดตามมาจนกระทั่งถึงแม้ได้ยินได้ฟังอีก มีความเข้าใจในลักษณะของสภาวธรรมนั้นว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน หรือว่าพะวงเรื่องชื่อเหมือนอย่างที่เคยได้ฟังชื่อต่างๆ มาตั้งเป็นพันๆ ปีก็ได้ เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าถ้าเรามีความรู้เวลาที่เราอ่านพระธรรม ได้ยินชื่อต่างๆ รู้ว่านี่เป็นโทสะ หรือว่าได้ชื่อต่างๆ และก็รู้ว่านี่ไม่ใช่โทสะแต่เป็นวิตก เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง หรือว่าอีกประการหนึ่ง นั่นไม่ใช่วิตก นี่เป็นวิจาร หรือว่านั่นเป็นโลภะ หรือนั่นเป็นมัจฉริยะ นั่นคือเราเรียกชื่อภาษาบาลี แต่ลักษณะนั้นไม่มีว่าจะต้องเป็นภาษาไหนเลย ถ้าเกิดริษยาต้องใช้คำในภาษาบาลีหรือเปล่า เอ๊ะ นี่ชื่ออิสสา ไม่ต้องนึกถึงเลย เพราะลักษณะนั้นก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นลักษณะที่อิสสาภาษาบาลี ถ้าจะใช้คำในภาษาไทย บางคนอาจจะใช้คำอิจฉา แต่ความจริงแล้วถ้าเป็นภาษาบาลี อิจฉาเป็นลักษณะของโลภะ นี่ก็คือการที่จะต้องเข้าใจในคำที่ได้ยิน แต่ว่าลึกกว่านั้นก็คือว่าเข้าใจในลักษณะซึ่งเราผ่านไปเรื่อยๆ เพราะว่าเรามัวคิดถึงชื่อ เพราะฉะนั้นถ้าในขณะนี้เราจะเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
-อภิชฌา ความหมายถึง อยากได้ เป็นความติดข้องต้องการ พยาบาท เป็นความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ แต่ละคนก็มากไปด้วยอกุศลด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเราหรือเขา ตามธรรมดาของผู้ที่ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลส เพียงคิดในใจอยากได้ของของคนอื่น หรือเพียงคิดไม่ดี กับคนอื่น ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นก็ไม่ดีแล้ว เป็นทุจริต (ประพฤติไม่ดี ชั่ว) ขณะนั้นเจตนาที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต ก็เป็นอกุศลเจตนา แต่ยังไม่เป็นอกุศลกรรมบถ ที่เป็นมโนกรรมบถ ที่ล่วงออกมาเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้ลักขโมย หรือ ยังไม่ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ก็เป็นเพียงอกุศลจิต ที่เกิดขึ้น แต่ไม่ควรประมาทกำลังของอกุศล เพราะถ้าประมาทมัวเมา ก็อาจจะล่วงเป็นอกุศลกรรมบถได้ ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลย
-ขณะที่คนอื่นทำไม่ดีกับเรา ขณะนั้น เป็นอกุศลของเขา เป็นความไม่หวังดีอย่างแน่นอนที่ทำไม่ดีกับเรา แต่ถ้าเรามีความคิดหวังร้ายต่อเขาอยากให้เขาได้รับสิ่งที่ไม่ดี ขณะนั้นเราก็ไม่ดีแล้ว เป็นอกุศลจิตของเราเอง ที่เกิดขึ้นเป็นไป และยิ่งถ้าขวนขวายกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อให้เขาได้รับสิ่งที่ไม่ดี จะด้วยคำพูดหยาบคาย หรือ การว่าร้าย กำลังก็ต้องมากกว่าแค่คิดธรรมดาๆ อย่างนี้เป็นมโนกรรมบถ ที่เป็นพยาบาท เป็นธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าเพียงคิด แต่ไม่ได้ทำอะไร ก็เป็นเพียงอกุศลจิต ซึ่งก็ไม่ดีอย่างแน่นอนที่คิดไม่ดีกับผู้อื่น ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...