ปัญหาเกี่ยวกับ ตัวตน (อัตตา) กับ อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) มีที่มาจากคำบาลี

 
Suth.
วันที่  31 ก.ค. 2559
หมายเลข  28032
อ่าน  1,345

มีกัลยาณมิตรท่านหนึ่งโพสท์ข้อความเกี่ยวกับตัวตน ว่าตัวตนนั้นมีอยู่โดยได้อ้างบาลีมาด้วย

อยากทราบว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร (โดยส่วนตัว ไม่ได้เชื่อว่าจะมีตัวตนหรอกครับ >>"ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา")

ต่อไปนี้คือข้อความจากกัลยาณมิตรท่านนั้น>"ตัวตนมีอยู่ พระพุทธเจ้าไม่เคยปฏิเสธความเป็นตัวตนมีพระบาลียืนยันไว้ชัดเจนดังนี้คือ
อตฺตา นาม จิตฺตํ, สกโล วา อตฺตภาโว
แปลว่า
จิตนี้แหละได้ชื่อว่าเป็นอัตตา,แต่ว่าได้ยึดเอาสกลกายนี้,เป็นอัตภาพไปด้วย"

ขอความกระจ่างจากท่านวิทยากรด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Suth.
วันที่ 1 ส.ค. 2559

รอคำตอบและคำอธิบายจากท่านผู้รู้อยู่ครับ

กรุณาด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 3 ส.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่ความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้นว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงทั้งหลายทั้งปวง นั้น เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละหนึ่ง

ในการศึกษาพระธรรม จะพบคำว่า อตฺตา บ้าง (ซึ่งไม่ได้มุ่งหมายว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน) ซึ่งจะต้องดูในความมุ่งหมายในที่นั้นว่า มุ่งหมายถึงอะไร เพราะบางแห่งมุ่งหมายถึง ตนเอง ซึ่งไม่ใช่คนอื่น อย่างเช่น ผู้รักษาตนเอง ชื่อว่า รักษาผู้อื่น คือ กล่าวถึงในขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้น ระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นกุศลธรรมที่รประกอบด้วยปัญญา ในขณะนั้น ไม่ได้เบียดเบียนตนเอง เพราะเป็นกุศล และยังรักษาผู้อื่นได้ด้วย เพราะไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่น แท้ที่จริงแล้ว โดยความเป็นจริง ก็คือ สภาพธรรม นั่นเองที่เกิดขึ้น ทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเลย, บางแห่งมุ่งหมายถึงกุศลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ กุศลธรรมในระดับสูงที่เป็นโลกุตตระ ที่เป็นที่พึ่งให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ ได้
สำหรับในคำบาลีที่คุณ Suth. ได้ยกมาใน ปรากฏในมังคลัตถทีปนี ซึ่งเป็นคำอธิบายถึงมงคลประการหนึ่ง คือ การตั้งตนไว้ชอบ (มีคำว่า ตน ) กล่าวโดยคำแปล คือ จิต ชื่อว่า ตน อีกอย่างหนึ่ง อัตภาพทั้งสิ้น ชื่อว่า ตน ซึ่งความมุ่งหมายนั้น หมายถึง จิต, หมายถึง ชีวิต ซึ่งจะต้องเป็นไปอย่างไม่ขาดสาย ตามข้อความที่ได้แสดงว่า ว่า อตฺต ศัพท์ ในที่นี้ ลงในอรรถว่า เป็นไป เพราะสภาพธรรมที่เป็นจิต เป็นชีวิตของแต่ละบุคคล ก็คือ เป็นสภาพธรรมที่จะต้องเป็นไปอย่างไม่ขาดสาย จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที ถ้าจะเป็นขณะจิตที่ประเสริฐ ที่มีค่า ก็ต้องเป็นขณะจิต ที่เป็นกุศล ขณะที่กุศลจิตเกิดนั่นเอง เป็นการตั้งจิตไว้ชอบ หรือ ตั้งตนไว้ชอบ

เพราะฉะนั้น เมื่อได้ศึกษาพระธรรมไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจว่า มีแต่ธรรมเท่านั้น ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แม้แต่การสะสมสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดี ก็เป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น อรรถของจิตประการหนึ่ง คือ จิตเป็นสภาพธรรมที่สะสม ดังนั้น จิต จึงสะสมทั้งฝ่ายที่ดีและไม่ดี กล่าวคือสะสมทั้งกุศล และ อกุศล ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล เมื่ออกุศลจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปก็สะสมสิ่งที่ไม่ดี (อกุศล) ต่อไปอีกในจิตขณะต่อไป แม้ในทางฝ่ายกุศลก็เช่นเดียวกัน เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปก็สะสมสิ่งที่ดี (กุศล) ในจิตขณะต่อไป โดยไม่ปะปนกัน

เป็นความจริงที่ว่า ธรรมดาปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมสะสมอกุศลเป็นส่วนมาก แต่เมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง มีความเข้าใจไปตามลำดับ ขณะที่ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก เกิดขึ้น ขณะนั้นกุศลจิตเกิด ก็สะสมความเห็นถูก สะสมกุศลธรรม สะสมอุปนิสัยฝ่ายดีมากขึ้น นั่นก็หมายความว่าค่อยๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้นด้วยความเข้าใจพระธรรม จากที่ไม่รู้ ก็เริ่มค่อยๆ รู้ขึ้น เริ่มสะสมสิ่งที่ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง สามารถเปลี่ยนจากบุคคลที่เป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ค่อยๆ มีการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น จนกระทั่งดำเนินไปถึงความเป็นพระอริยบุคคล ดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ ขึ้นอยู่กับการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดีเป็นสำคัญ

ความเข้าใจถูกเห็นถูกอันเกิดจากการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดง ย่อมสามารถเปลี่ยนจากที่เคยเป็นผู้มีความเข้าใจผิด มีความไม่รู้ ตลอดจนถึงกิเลสประการต่างๆ ที่เคยสะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ให้เป็นผู้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง มีกุศลธรรมประการต่างๆ เกิดขึ้นเป็นไป ได้ ดังนั้น การได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง น้อมรับฟังด้วยความเคารพ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ทีละเล็กทีละน้อย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถเปลี่ยนจากความเป็นผู้มากไปด้วยอกุศลให้เป็นกุศลยิ่งขึ้นได้ ซึ่งเป็นการตั้งตนไว้ชอบ โดยที่ไม่ใช่ตัวตนที่ไปตั้ง แต่เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม คือ จิต และ เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) น้อมไปในทางฝ่ายกุศลมากยิ่งขึ้น ตามระดับของความเข้าใจถูกเห็นถูก ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Suth.
วันที่ 4 ส.ค. 2559

ขอบคุณท่านอาจารย์คำปั่น อย่างสูงและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
thilda
วันที่ 5 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 9 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kukeart
วันที่ 9 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สิริพรรณ
วันที่ 11 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด จริงๆ

เพราะพระธรรมคือความจริงจากพระปัญญาธิคุณของผู้ทรงตรัสรู้

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ