เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (8)

 
kanchana.c
วันที่  11 ส.ค. 2559
หมายเลข  28069
อ่าน  935

สำหรับการสนทนาธรรมส่วนใหญ่กับพระภิกษุที่โน่น คือ ท่านธัมมธโร และท่านเจตนันทะและท่านสามเณรสุนทโร ส่วนใหญ่ที่ไปคราวนี้เป็นเรื่องสมถะกับวิปัสสนา ซึ่งท่านก็รู้สึกปลาบปลื้มใจที่ท่านได้แง่คิดใหม่ๆ ซึ่งทำให้เข้าใจละเอียดขึ้นในสมถะและในวิปัสสนา

เพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว ถ้าคนพูดว่าวิปัสสนา แล้วปรากฏว่าข้อปฏิบัติไม่ตรงตามมหาสติปัฏฐาน เขาจะกล่าวว่า ไม่ใช่วิปัสสนาแต่เป็นสมถะ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่แม้สมถะ ชาวศรีลังกาเองที่นิยมมาก คือ อานาปานสติ ทั่วโลกไม่ได้คำนึงถึงว่าเป็นอารมณ์ที่ละเอียดมากสำหรับมหาบุรุษ ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน อานาปานสติละเอียดที่สุด เพราะฉะนั้น เวลาที่ต้องการเพียงจะให้จิตจดจ้องที่ลมหายใจ สงบหรือ ความต้องการมีอยู่ขณะใด ขณะนั้นไม่สงบ จะสงบได้อย่างไร เพราะกำลังต้องการ แล้วเวลาที่จดจ้องมากขึ้นๆ เข้าใจว่าตัวเองเป็นสมาธิ เพราะฉะนั้น พอคนอื่นมาหาหรือมาขัดข้องไม่ให้ทำสมาธิต่อไป ก็เกิดความไม่พอใจ นั่นหรือคือสงบ นั่นหรือคือการเจริญความสงบ ขณะที่ไม่พอใจปรากฏ ก็รู้แล้วว่าไม่สงบ แล้วเวลาที่มีปรากฏการณ์ประหลาดดูเหมือนลอยขึ้นไป ตกลงมา มีตัวออกไปข้างนอกนั้น นั่งจ้องรูปที่กำลังนั่งอยู่ เกิดแต่ความสงสัยว่า นี่อะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ขณะที่สงสัยนั้นหรือคือความสงบ ไม่มีลักษณะของความสงบตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด แต่ก็เข้าใจว่าตัวเองเจริญสมถภาวนา

ถ้าไม่อบรมเจริญความสงบในชีวิตประจำวันแล้ว จะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้สงบได้เลย ความสงบที่แท้จริงขณะที่ประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ สงบได้ไหม ไม่ได้ นั่นไม่ใช่ความสงบ ไม่รู้ลักษณะของความสงบ แต่คนที่อบรมเจริญความสงบจริงๆ จะเป็นเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรืออารมณ์ของสมถะอื่นใดก็ตาม เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจก็สงบ เพราะรู้ลักษณะของความสงบว่า ไม่ใช่ขณะที่เป็นโลภะ หรือขณะที่เป็นโทสะ นั่นก็อย่างหนึ่ง เวลาประสบกับสิ่งที่พอใจ สงบไหม เมื่อไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่ชัดเจนของความสงบ แล้วก็ไปทำเพียงสมาธิ ขณะนั้นไม่ได้มีความสงบในจิตใจเลย

ถ้าเป็นความสงบจริงๆ ประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจก็สงบได้ เวลาประสบกับสิ่งที่พอใจก็สงบได้ ถ้าจะเจริญสมถภาวนาแล้วก็ต้องมหากุศลญาณสัมปยุตต์เท่านั้น ทานก็สามารถจะกระทำได้ด้วยมหากุศลญาณวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ศีลก็สามารถที่จะรักษาได้ด้วยมหากุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้าจะเจริญความสงบให้ยิ่งขึ้นแล้วไม่รู้ลักษณะของความสงบ ไม่ประกอบด้วยปัญญาในขั้นต้นแล้วละก็ ไม่สามารถที่จะเจริญความสงบได้

เพราะฉะนั้น เวลาประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจจึงเป็นโทสะ ไม่สงบ เวลาประสบกับสิ่งที่พอใจจึงเป็นโลภะ ไม่สงบ แต่ผู้ที่อบรมเจริญความสงบจริงๆ เข้าใจลักษณะของขันติ ความอดทน เวลาประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ ความอดทนอยู่ที่ไหน ถ้าความอดทนอยู่ที่นั่น กุศลจิตเกิด ที่นั่นสงบ ไม่เป็นโทสะ เวลาประสบกับสิ่งที่พอใจ ขันติ ความอดทนอยู่ที่ไหน อดทนที่จะไม่เกิดโลภะ ที่จะไม่พอใจในสิ่งที่น่าพอใจ นั่นคือความสงบ

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่สังเกต เวลาที่ให้ทานเป็นกุศลจิต สงบจากโลภะ จากโทสะ จึงให้ได้ ไม่มีความติดข้องในวัตถุนั้นจึงสละได้ ไม่มีความโกรธในบุคคลผู้รับจึงให้บุคคลนั้นได้ ถ้าเข้าใจลักษณะสภาพของจิตที่สงบในขณะที่ให้ทาน จาคานุสสติ เป็นสมถภาวนา ระลึกถึงความสงบจากกิเลส

เพราะฉะนั้น อารมณ์ของสมถภาวนา ไม่ใช่ทานานุสติ แต่เป็นจาคานุสติ ถ้าเพียงการระลึกถึงทาน บางครั้งไม่สงบเพราะเกิดเสียดาย ใช่ไหม มีไหม ให้ทานไปแล้ว นึกขึ้นมาแทนที่จะสงบ จิตผ่องใสที่ได้สามารถสละสิ่งนั้นให้บุคคลอื่นได้ หรือสละเพื่อประโยชน์สุขได้ เพราะเหตุว่าเพียงการให้วัตถุก็ยังยาก ไม่ใช่จะให้ได้ง่ายๆ เลย ในวันนี้ก็ลองคิดดูก็แล้วกันว่า มีอะไรยากที่จะให้บ้าง ก็ต้องมี ใช่ไหม ให้สิ่งที่ให้ได้ แต่สิ่งที่ให้ไม่ได้ก็ยังยากที่จะให้ เพราะฉะนั้น แม้การให้วัตถุก็ยังยาก การที่จะสละกิเลสออกไปที่จะให้จิตผ่องใสก็ต้องยากขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าประกอบด้วยปัญญาที่ระลึกถึงสภาพความสงบของจิต และคุณของจาคะ คือ ความสามารถที่จะผ่องใส สละโลภะ โทสะ โมหะได้ จิตขณะนั้นสงบได้ เพราะเหตุว่าระลึกถึงสภาพของจิตที่เป็นกุศล

ด้วยเหตุนี้การระลึกถึงทานที่เป็นอนุสติที่จะทำให้จิตสงบ จึงไม่ใช่ทานานุสติ แต่เป็นจาคานุสติ

เพราะฉะนั้น เรื่องของความสงบเป็นเรื่องละเอียดมาก ซึ่งเมื่อคนฟัง ฟังแล้วทราบได้ว่าแสนยาก แม้แต่จะสงบ ไม่ต้องให้เกิดปัญญาที่จะละกิเลสเป็นสมุจเฉท เพียงกุศลขั้นที่จะให้สงบก็ต้องต้องเข้าใจจริงๆ ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็ไม่ใช่การเจริญความสงบเลย ผลก็คือว่า ปรากฏลักษณะความประหลาดอัศจรรย์ซึ่งตื่นเต้นและไม่เข้าใจว่า เกิดลอยขึ้นไปได้อย่างไร ตัวมานั่งจ้องตัวเองได้อย่างไร ขณะที่เต็มไปด้วยความสงสัยนั้นหาใช่ความสงบไม่

เพราะฉะนั้น เรื่องของสมถภาวนา อย่าได้พูดว่า ถ้าใครปฏิบัติวิปัสสนาผิดแล้วละก็เป็นสมถะ เพราะสมถะก็ไม่ใช่

ถ. ผมอยากเรียนถามอาจารย์ว่า การถามปัญหาของของชาวศรีลังกา ส่วนใหญ่ถามเรื่องปริยัติ หรือเรื่องการปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่
สุ. ทั้ง ๒ อย่าง ปริยัติก็มี ปฏิบัติก็มี ตั้งแต่ขั้นศีลธรรมเรื่อยไปจนกระทั่งถึงขั้นปฏิบัติ

ถ. ผมอยากจะทราบว่า ชาวศรีลังกาเข้าใจเรื่องปริยัติถูกต้องดีหรือเปล่า แล้วเรื่องการปฏิบัติเขาเข้าใจถูกต้องดีหรือเปล่า
สุ. สำหรับความรู้ทางตำรับตำรา ชาวลังกาเก่งมากทีเดียว หนังสือที่ชาวลังกาค้นคว้าและจัดพิมพ์เขียนขึ้น เป็นหนังสือที่แสดงถึงการศึกษา การค้นคว้าทางตำรับตำรา ทางวิชาการจริงๆ แต่ว่าในการไปครั้งนี้ ก็จะสังเกตได้จากการที่เมื่อได้ตอบปัญหาธรรม ปรากฏว่าชาวลังกาเข้าใจว่าสูงมาก เหมือนกับขณะนี้ที่ได้ฟังเรื่องของทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้แต่ทางวิทยุ บางคนก็บอกว่าสูงมาก ลืมคิดว่าเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน

เพราะฉะนั้น การศึกษาพระอภิธรรมที่จะให้ได้ผลจริงๆ ต้องเป็นการเข้าใจพระอภิธรรม ไม่ใช่เป็นแต่เพียงจำได้ว่า จิตมีกี่ดวง และแบ่งเป็นประเภทเท่าไร ประกอบด้วยเจตสิกอะไรบ้าง ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วละก็ อภิธรรมก็อยู่เพียงในหนังสือ เป็นตำรับตำราเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาที่ประเทศศรีลังกา ก็จะน้อมไปถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เพราะนั่นเป็นอภิธรรมจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาได้ แต่ว่าในขั้นต้นนั้นก็จะต้องเข้าใจลักษณะของสติ ขั้นสติปัฏฐานเสียก่อน ถ้าไม่มีความเข้าใจลักษณะของสติขั้นสติปัฏฐาน ความเข้าใจอภิธรรมก็ไม่ละเอียด แล้วก็ไม่เข้าใจด้วยว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมที่เป็นอภิธรรม หมายความถึงขณะนี้ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นอภิธรรมเพราะไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ชาวศรีลังกาเองพอได้ศึกษาพระอภิธรรมในแนวใหม่อย่างนี้ ก็กล่าวว่าสูงมาก

ถ. เมื่อชาวศรีลังกาได้กล่าวว่าเป็นธรรมที่สูงมาก ก็แสดงว่าการไปครั้งนี้ของอาจารย์เป็นความพอใจของชาวศรีลังกา แต่โดยนัยเดียวกันถ้าเขากล่าวว่า สูงมากก็เป็นเพียงความพอใจ แต่ทีนี้ความเข้าใจของเขาจะมากน้อยแค่ไหน
สุ. ที่กล่าวว่าสูงมากก็ต้องตามระดับขั้นด้วย เพราะเหตุว่าท่านที่ไม่พอใจขึ้นถึงธรรมขั้นสูงก็กล่าวว่าสูงไป ส่วนท่านที่มีความพอใจที่ได้รับฟังธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน และเป็นสิ่งที่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น ท่านเหล่านั้นก็พอใจ เพราะฉะนั้น ก็แสดงว่าตามอัธยาศัยที่ต่างกัน

สำหรับท่านที่พอใจธรรมขั้นศีลธรรมเบื้องต้นก็รู้สึกว่าสูงไป แต่สำหรับท่านที่ต้องการเข้าใจสภาพธรรมให้ชัดเจนลึกซึ้งขึ้นก็พอใจ

ถ. และที่อาจารย์ว่า ชาวศรีลังกาศึกษาธรรมมาก ผมก็อยากจะถามว่า เขาหนักไปในปิฎกไหน พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก
สุ. เท่าที่อ่านก็รู้สึกว่า เป็นพระอภิธรรมปิฎกกับพระสุตตันตปิฎก เพราะเหตุว่า พระวินัยปิฎกก็อาจจะมีแจ่มแจ้งอยู่แล้วในพระวินัยปิฎกแล้วโดยตลอด และเป็นที่เข้าใจกันอยู่ว่า เป็นการศึกษาโดยตรงของพระภิกษุสงฆ์มากกว่าข้อประพฤติปฏิบัติของฆราวาส เพราะฉะนั้น หนังสือส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของพระสูตรและพระอภิธรรม นอกจากนั้นก็ยังเป็นประวัติต่างๆ ที่เขาศึกษาค้นคว้ามามากทีเดียว นับว่าสนใจจริงๆ แต่ว่าไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น คิดว่าธรรมที่ได้ศึกษานั้นก็เป็นทางวิชาการที่เป็นด้านความรู้ทางตำรับตำราเท่านั้น

ถ. พระพุทธศาสนาในโลกปัจจุบันนี้ ก็มี ๒ ยาน คือ หินยานและมหายาน ชาวศรีลังกาเป็นยานประเภทไหน
สุ. หินยานหรือเถรวาท และเขาเองก็ไม่รู้จักเมืองไทย พอเขาถามว่า พระพุทธศาสนาที่เมืองไทยเป็นเถรวาทหรือมหายาน เขาไม่รู้จักของเราว่า เป็นเถรวาท เพราะเขาเข้าใจว่า ของเขาเป็นเถรวาท เป็นหินยาน เพราะฉะนั้น ในไทยเขาไม่ทราบว่า เป็นเถรวาทหรือมหายาน ก็ได้ชี้แจงให้ทราบว่า ของเราก็เหมือนของเขา คือว่า เป็นเถรวาท เป็นหินยาน ไม่ใช่มหายาน

สำหรับปัญหาธรรมที่มีผู้ถามที่ศรีลังกา เริ่มตั้งแต่เรื่องของสภาพธรรมที่เป็นอภิธรรมที่ปรากฏตามปกติไปจนกระทั่งถึงขั้นที่จะเป็นสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากหน่อย เพราะเหตุว่าเพียงเวลาเดือนกว่าเท่านั้นเอง ในการที่จะให้เข้าใจถึงการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ต้องเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นเบื้องต้นก่อน และสำหรับสติปัฏฐาน จะเห็นได้ว่า แม้จะได้ฟังกันมานานหลายปี บางท่านก็ถึง ๗ ปี ๑๐ ปี ต่างก็กล่าวว่าในตอนแรกๆ ดูเหมือนเข้าใจแล้ว แต่พอยิ่งฟังก็ได้เข้าใจเพิ่มขึ้นว่า ที่ฟังมาก่อนยังไม่ใช่ความเข้าใจที่ชัดเจนจริงๆ แต่ว่าความเข้าใจก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อย กว่าจะเป็นสติปัฏฐานจริงๆ หรือกว่าจะระลึกตรงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ นี่ก็เป็นสิ่งที่ยาก คือ ต้องเป็นการสะสมปัญญาทีละเล็ก ทีละน้อย จนกว่าจะเป็นปัญญาที่สามารถเป็นปัจจัยให้สัมมาสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ตามความเป็นจริงด้วย คือ ต้องในขณะนี้ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

.........

ขอเชิญติดตามตอนต่อไปได้ที่ลิงค์ด้านล่าง.....

เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (9)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 13 ส.ค. 2559

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

ทุกๆ คำแทนเสียงพระศาสดาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
s_sophon
วันที่ 13 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 13 ส.ค. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
thilda
วันที่ 20 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ