ชื่อว่ารสอื่นเช่นความคุ้นเคย ย่อมไม่มี หมายความว่าอย่างไร
จากการฟังแนวทางเจริญวิปัสสนาแผ่นที่ 34 ครั้งที่ 2040 เรื่องเกสวชาดก ข้อความที่ว่า ชื่อว่ารสอื่นเช่นความคุ้นเคย ย่อมไม่มี โดยสภาพธรรมหมายถึงการติดข้องตามการสะสมด้วยความไม่รู้หรืออย่างไรคะ
รสอื่นเช่นความคุ้นเคยย่อมไม่มี เพราะความคุ้นเคยด้วยความติดข้องย่อมมีกำลัง คุ้นเคยด้วยกิเลสคือโลภะเพราะเกิดจากความไม่รู้ รสในที่นี้จึงเป็นกิเลสที่เป็นโลภะที่ติดขัองที่มีกำลัง
การศึกษาพระธรรม เมื่อปัญญาเจริญมากขึ้น ก็จะรู้ว่าสิ่งใดมีประโยชน์ สิ่งใดไม่มีประโยชน์กับชีวิต ก็จะค่อยๆ เสพคุ้นในสิ่งที่มีประโยชน์มากขึ้นคือการฟังพระธรรมและศึกษาพระธรรม พร้อมๆ กับการเป็นไปในอกุศลที่มีในชีวิตประจำวัน แต่ปัญญาก็สามารถเข้าใจความจริง แม้ขณะที่ใช้ชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็น กุศล หรือ อกุศลครับ
การเสพคุ้นในสิ่งที่ทำให้กุศลเจริญนั้นเป็นสิ่งที่ดีและก็จะทำให้เห็นโทษของอกุศลตามกำลังปัญญา ส่วนโทษของอกุศลนั้นมีอยู่แล้วจะมากหรือจะน้อย แต่สะสมอกุศลมามากก็เป็นไปตามอกุศล แต่สำคัญที่แม้จะเป็นอกุศลมากมายในชีวิตประจำวัน เราก็แบ่งเวลา ไม่ทอดทิ้งพระธรรม เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะเป็นขณะที่ประเสริฐในการอบรมปัญญาครับ ซึ่ง การสะสมของกุศลและอกุศลคนละส่วนกันครับ เมื่อปัญญาถึงพร้อมก็สามารถดับกิเลสได้หมดที่สะสมมาครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับความติดข้องยินดีพอใจได้ ก็ยังมีเหตุปัจจัยให้ความติดข้องเกิดขึ้นเป็นไป เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย และในขณะที่ความติดข้องต้องการเกิดขึ้น ไม่ปราศจากความไม่รู้เลย แม้อาจารย์ของพระโพธิสัตว์ที่คุ้นเคยกับพระโพธิสัตว์ พอไม่ได้อยู่ด้วยกัน ก็คิดถึง เกิดความไม่สบายใจ แม้ว่าจะมีอาหารที่รสอร่อยอยู่ตรงหน้า ก็ไม่นำมาซึ่งความสุขโสมนัส แต่พอได้มาอยู่กับพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นบุคคลผู้คุ้นเคยกัน แม้จะเป็นอาหารธรรมดาๆ ไม่ประณีต ก็มีความอร่อย เพราะได้อยู่ร่วมและบริโภคกับบุคคลผู้คุ้นเคยกัน และที่สำคัญ การได้อยู่ร่วมกับบุคคลผู้เป็นบัณฑิต ก็เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ความดีเจริญขึ้นได้ เพราะพระโพธิสัตว์ได้กล่าวคำอันเป็นสุภาษิตแก่อาจารย์ ซึ่งในขณะที่อยู่ในพระราชวัง ปราศจากพระโพธิสัตว์ ก็ทำให้อาจารย์ไม่ได้ฟังคำเป็นสุภาษิต ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...