ฆ่าเชื้อโรคเป็นบาปไหมคะ

 
lada
วันที่  22 ส.ค. 2559
หมายเลข  28107
อ่าน  3,673

เนื่องจากเชื้อโรคเป็นสิ่งมีชีวิต เช่นถ้าเราเห็นผนังห้องน้ำมีราขึ้นแล้วล้างห้องน้ำ หรือหมอ พยาบาลให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อโรคในร่างกายผู้ป่วยจะผิดศีลข้อ1ไหมคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 ส.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องศึกษาไตร่ตรองในเหตุในผล ตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่มีชีวิต ทั้งหมด ตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น ต้องเป็นเกิดจากกรรม เท่านั้น ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีจิต เจตสิก รูป จึงจะเรียกว่า สิ่งมีชีวิต เมื่อกล่าวโดยรวมแล้ว ได้แก่ สัตว์ที่เกิดในภพภูมิต่างๆ อย่างเช่น ผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ในสุคติภูมิ และ สัตว์ดิรัจฉาน ในอบายภูมิ เป็นต้น ล้วนเป็นสิ่งที่มีชีวิต เพราะเกิดขึ้นด้วยผลของกรรม การฆ่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ เป็นปาณาติบาต แน่นอน เพราะองค์ของปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์) มี ๕ ประการ คือ -สิ่งมีชีวิต -รู้ว่า เป็นสิ่งมีชีวิต -มีจิตคิดจะฆ่า -มีความพยายามฆ่า -สัตว์ตายด้วยความพยายาม ดังกล่าวนั้น ถ้าครบทั้ง ๕ นี้เป็นปาณาติบาต เป็นการล่วงศีลข้อที่ ๑ เป็นอกุศลกรรมบถ ที่ครบองค์ สามารถนำเกิดในอบายภูมิ มี นรก เป็นต้น ได้ แต่ถ้าเป็นจำพวกแบคทีเรีย หรือ ไว้รัสต่างๆ ตามคำถามนั้น เกิดจากอุตุ ไม่ใช่เกิดจากกรรม ไม่ใช่สิ่งที่มีชีวิตแต่ประการใด การฆ่า การทำลายแบคทีเรีย หรือ ไว้รัส ต่างๆ จึงไม่ชื่อว่าเป็นการฆ่าสัตว์ เพราะสัตว์ ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ต้องเป็นสัตว์มีชีวิตที่เกิดจากกรรม มีจิต มีเจตสิก และรูป เท่านั้น แม้แต่สัตว์เล็ก ่ๆ เช่น มด ปลวก ยุง เป็นต้น ก็เป็นสัตว์มีชีวิต เพราะเกิดจากกรรมซึ่งเป็นสัตว์ในอบายภูมิ ถ้าฆ่าสัตว์เหล่านี้เมื่อใด ก็เป็นอกุศลกรรมบถ เมื่อนั้น ให้โทษแก่ผู้กระทำอกุศลกรรม โดยส่วนเดียวครับ

สำหรับข้อความในพระไตรปิฎกนั้น ไม่มีข้อความโดยตรงที่ระบุว่า เชื้อโรค แบคทีเรียเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต ที่เกิดจากอุตุ แต่เราก็พอเข้าใจได้ว่า เชื้อโรค นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกรรม เนื่องด้วย ไม่มี รูปชีวิตินทรีย์ และชีวิตินทรีย์เจตสิกครับ จึงไม่มีชีวิต ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกแสดง คำว่า ปาณะ ว่าหมายถึงสิ่งที่มีชีวิตอันเกิดจากกรรม ที่มีรูปชีวิตินทรีย์ และชีวิตินทรีย์เจตสิกครับ เชิญอ่านครับ

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 443

การยังสัตว์มีชีวิต ซึ่งมีอันจะต้องตกไปเป็นสภาพ โดยหน้าที่ของตนนั่นเองให้ตกไป ชื่อว่า อติปาตะ ในบทว่า ปาณาติปาโต นี้ อธิบายว่าไม่ใช่ให้ค่อยๆ ตกไป แต่ให้พลันตกไป. อีกอย่างหนึ่ง การใช้ศาสตราเป็นต้น ครอบงำให้ล่วงตกไป ชื่อว่า อติปาตะ. อธิบายว่า การฆ่าสัตว์มีชีวิต อนึ่งขันธสันดานที่เรียกกันว่าสัตว์ ชื่อว่า ปาณะ ในคำว่า ปาณาติปาโต นี้ ขันธสันดานนั้นโดยปรมัตถ์ ได้แก่รูปชีวิตินทรีย์ และอรูปชีวิตินทรีย์. แท้จริง เมื่อรูปชีวิตินทรีย์ที่บุคคลให้พินาศแล้ว อรูปชีวิตินทรีย์นอกนี้ก็พินาศไปเพราะอรูปชีวิตินทรีย์ เนื่องกับรูปชีวิตินทรีย์นั้น. เจตนาคิดจะฆ่าของผู้มีความสำคัญในสัตว์มีชีวิตนั้น ว่าเป็นสัตว์มีชีวิต ที่ยังความพยายาม อันเข้าไปตัดขาดชีวิตินทรีย์ให้ตั้งขึ้นเป็นไปแล้ว ทางกายทวาร และวจีทวาร ทวารใดทวารหนึ่งชื่อว่าปาณาติบาต.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 22 ส.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าฆ่าสัตว์ เป็นบาป แน่นอน แต่นี่เป็นเชื้อโรค ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ฉะนั้น การฆ่าเชื้อโรค ไม่ชื่อว่าเป็นการฆ่าสัตว์ในความหมายของสัตว์ที่พระพุทธองค์ทรงหมายเอาว่า สัตว์มีชีวิตที่เกิดจากกรรม มีจิต มีเจตสิก และรูป การฆ่าเชื้อโรค จึงไม่ผิดศีลข้อ ๑ ครับ

... อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
lada
วันที่ 22 ส.ค. 2559

ขอบคุณมากค่ะสำหรับคำอธิบาย แต่ถ้าหมอจ่ายยาถ่ายพยาธิก็คงจะบาปใช่ไหมคะ เพราะหนอนพยาธิมีรูป จิตและเจตสิก

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 22 ส.ค. 2559

ธรรมเป็นความละเอียดอย่างยิ่ง

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
มานิสาโข่งเขียว
วันที่ 22 ส.ค. 2559

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ทิศเบื้องขวา
วันที่ 23 ส.ค. 2559

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 24 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kullawat
วันที่ 25 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Tommy9
วันที่ 27 ส.ค. 2559

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 29 ส.ค. 2559

เชื้อโรคทั่วๆ ไปไม่มีจิต เจตสิก ฆ่าก็ไม่บาป แต่พยาธิมีชีวิต มีจิต เจตสิก รูป ฆ่าก็เป็นบาปค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ